posttoday

“ดิจิทัล วอลเล็ต” จ่อจำกัดสิทธิ์คนรวย รับ 10,000 บาท ฉุดตลาดหุ้น-GDP

26 ตุลาคม 2566

มุมมองโบรกฯ ต่อนโยบายแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท จ่อตัดสิทธิ์คนรวย เป็นลบต่อตลาดหุ้น และ GDP แต่ช่วยลดความกังวลการก่อหนี้เพิ่มเติมของรัฐบาล

ตามที่ผลประชุมคณะอนุกรรมการนโยบาย Digital Wallet ล่าสุดวานนี้ (25 ต.ค.) มีขัอสรุป คือ 1.จะเน้นใช้แหล่งที่มาเงินทุนจากเงินงบประมาณ โดยพิจารณาให้สิทธิ์เฉพาะกลุ่ม โดยเบื้องต้นจะเสนอ 3 แนวทาง ซึ่งงบประมาณจะลดลงเหลือ 160,000-490,000 ล้านบาท (เดิม 560,000 ล้านบาท) 

โดย 1) จ่ายเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย 15-16 ล้านคน ใช้งบ 160,000 ล้านบาท 2) ตัดกลุ่มที่มีความพร้อมทางสังคม รายได้เดือนละ 25,000 บาท หรือมีเงินฝากในบัญชี 100,000 บาท เหลือผู้รับสิทธิ์ 43 ล้านคน ใช้งบ 430,000 ล้านบาท และ 3) ตัดกลุ่มที่มีความพร้อมทางสังคม รายได้เดือนละ 50,000 บาท หรือมีเงินฝากในบัญชี 50,000 บาท เหลือผู้รับสิทธิ์ 49 ล้านคน ใช้งบ 490,000 ล้านบาท 

2.ขยายพื้นที่การใช้เป็นระดับอำเภอ จากเดิมใช้งานบริเวณ 4 กม. จากบ้าน 3.ให้ธนาคารกรุงไทยเป็นผู้จัดทำระบบ Platform ใหม่ 4.เลื่อนกรอบเวลาใช้นโยบายเป็น เม.ย.-พ.ค.2566 และ 5.เน้นให้สามารถใช้กับสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นหลัก 

บล.กรุงศรี พัฒนสิน ประเมินว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นบวก เนื่องจากช่วยผ่อนคลายความกังวลตลาด โดยเฉพาะความกังวลการก่อหนี้เพิ่มเติมของรัฐบาลที่ลดลง มีโอกาสช่วยลดแรงกดดัน Bond Yield ไทยเป็นบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยง

รวมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพ อิงการศึกษาของ Krungsri Research ที่เชื่อว่าการแจกเงินให้กับกลุ่มค่าใช้จ่ายต่อเดือนมากกว่ารายได้ คือ กลุ่มที่เป็นหนี้และรายได้ครัวเรือนต่ำกว่า 50,000 บาท, กลุ่มที่ไม่เป็นหนี้และรายได้ครัวเรือนต่ำกว่า 10,000 บาท ทั้ง 2 กลุ่ม เป็นกลุ่มที่มีปัญหากำลังซื้อมากที่สุด การแจก 2 กลุ่มดังกล่าว จะช่วยเม็ดเงินหมุนเวียนใหม่ได้มากกว่ากลุ่มที่ไม่มีปัญหาทางการเงิน

โดยสรุป ประเมินความชัดเจนนโยบายดังกล่าวที่เพิ่มขึ้นและมีการปรับปรุงเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ยังเป็นภาพบวกต่อหุ้นที่ได้ประโยชน์ อาทิ ค้าปลีก CPALL, CPAXT, DOHOME, GLOBAL ธนาคาร KBANK เช่าซื้อ JMT, MTC ดิจิทัล BBIK, BE8, ADVANC ที่ก่อนหน้านี้ยังแทบไม่สะท้อนภาพบวกนโยบายดังกล่าว

ขณะที่ บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า ปัจจัยดังกล่าวอาจเป็น Sentiment เชิงลบทั้งจากความคาดหวังการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 2567 มีโอกาสลดลง จากปัจจุบัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาด GDP ปี 2567 เติบโต 4.4% และเป็น Sentiment เชิงลบต่อตลาดหุ้นที่อาจคาดหวังการเติบโตลดลงได้ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่ม Domestic อาทิ กลุ่ม ธนาคารพาณิชย์, ค้าปลีก, ท่องเที่ยว, ขนส่ง, อาหาร เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในอีกมุมอาจช่วยลดความกังวลเรื่องการกู้เงินเพิ่ม ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ 61.8% รวมถึงหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่ระดับกว่า 90% และความกังวลการปรับลดอันดับเครดิตเรตติ้งของสถาบันการเงิน หนุนให้ค่าเงินบาทในระยะถัดไปมีโอกาสชะลอการอ่อนค่าได้

ทั้งนี้ นักลงทุนติดตามความคืบหน้าประเด็นดิจิทัลวอลเล็ตอย่างใกล้ชิด เพราะกระแสดังกล่าวมีผลต่อการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้น และปัจจุบันยังไม่ได้ผลสรุปที่ชัดเจน

ทางด้าน บล.บล.ลิเบอเรเตอร์ ระบุว่า การพิจารณากลุ่มคนที่ได้เงินดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งมองว่าจะใช้เม็ดเงินน้อยลงแน่นอน จะไปกระทบ GDP ปี 2567 ที่ต้องลดลงจากเดิมที่เคยคาดการณ์ โดยภาพรวมระยะสั้นเป็นลบ เพราะมีเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจน้อยลง แต่ภาพรวมระยะกลาง-ระยะยาว มองว่าดี ในเรื่องการกู้เงินและวินัยทางการคลัง