posttoday

SCB ร่วง 4.15% เหตุ "เจพีมอร์แกน" ลดน้ำหนักลงทุน-หั่นเป้าเหลือ 98 บาท

22 กันยายน 2566

ราคาหุ้น SCB ร่วง 4.15% หลัง “เจพีมอร์แกน” ลดอันดับความน่าลงทุนลงสู่ Underweight จาก Neutral หั่นราคาเป้าหมายเหลือ 98 บาท จาก 110 บาท เหตุ credit cost ปีนี้ปรับตัวสูงขึ้นกว่าคาด และปัญหาด้านการดำเนินงานของ CardX รวมทั้งการชะลอตัวของ AutoX

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความเคลื่อนไหวราคาหุ้น บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB วันนี้ (22 ก.ย.) ปิดช่วงเช้า เวลา 12.30 น. ปรับลดลง 4.15% หรือลดลง 4.50 บาท มาอยู่ที่ 104.00 บาท มูลค่าซื้อขาย 6,607.05 ล้านบาท ราคาปรับตัวขึ้นไปทำระดับสูงสุดที่ 107.00 บาท และปรับตัวลงไปทำระดับต่ำสุดที่ 100.00 บาท

SCB ร่วง 4.15% เหตุ \"เจพีมอร์แกน\" ลดน้ำหนักลงทุน-หั่นเป้าเหลือ 98 บาท

หลังจากเจพีมอร์แกนประกาศลดอันดับความน่าลงทุนของ SCB ลงสู่ "ลดน้ำหนักการลงทุน" (Underweight) จากเดิมที่ให้ "คงน้ำหนักการลงทุน" (Neutral) โดยระบุถึงปัจจัยลบจากการคาดการณ์ที่ว่า credit cost (ต้นทุนความเสี่ยงของสินเชื่อที่ไม่ได้รับการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย) ในปีนี้ จะสูงกว่าที่ธนาคารคาดการณ์ไว้ ในขณะที่ credit cost ในช่วงครึ่งปีแรกอยู่ที่ระดับ 1.84%

นอกจากนี้ ปัญหาด้านการดำเนินงานที่เกิดขึ้นกับธุรกิจบัตรเครดิต CardX รวมทั้งการชะลอตัวในธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ของ AutoX ยังสะท้อนให้เห็นว่า ราคาหุ้นของ SCB กำลังเผชิญกับความท้าทายที่สูงมากในระยะใกล้นี้

ทั้งนี้ เจพีมอร์แกนได้ปรับลดคาดการณ์กำไรต่อหุ้น (EPS) ของ SCB ในปีงบการเงิน 2566 และ 2567 ลง 9% และ 4% ตามลำดับ เนื่องจาก credit cost ปรับตัวสูงขึ้น ขณะเดียวกัน เจพีมอร์แกน ได้ปรับลดเป้าหมายราคาหุ้น SCB ลงสู่ระดับ 98 บาท จากเป้าหมายเดิมที่ระดับ 110 บาท

เจพีมอร์แกน ยังระบุด้วยว่า ระบบปฏิบัติการทางออนไลน์ของ CardX ได้เกิดปัญหาขัดข้องครั้งใหญ่ในช่วงต้นปีนี้ อันเนื่องมาจากความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นในขณะทำการอัปโหลดข้อมูลต่างๆ ของลูกค้าเข้าสู่ระบบคลาวด์ ซึ่งรวมถึงข้อมูลที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ และหมายเลขบัญชี ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวได้นำไปสู่ปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการจัดเก็บข้อมูลและการบริการด้านสินเชื่อ 

โดยปัญหาดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเต็มรูปแบบ และคาดว่าจะยังคงส่งผลให้ธุรกิจของ SCB เติบโตช้าลง และอาจทำให้ CardX ต้องตั้งสำรองเงินทุนเพิ่มขึ้นอีกในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ เหตุการณ์เหล่านี้ได้นำไปสู่การตั้งคำถามเกี่ยวกับความสามารถของ SCB ในการจัดการกับธุรกิจใหม่ๆ และการเปลี่ยนผ่านธุรกิจในปัจจุบันไปสู่การเป็นแพลตฟอร์มและการใช้เครื่องมือด้านดิจิทัลที่ทันสมัย

ขณะเดียวกัน เจพีมอร์แกน ประเมินว่า ความเสี่ยงที่จะมีต่อคุณภาพสินทรัพย์ของ SCB มีอยู่ 2 ด้านด้วยกัน คือ 1. ความเสี่ยงที่จะมีการตัดหนี้สูญ (write-off) ของธุรกิจ CardX ในไตรมาส 3/2566 และ 2. ความเสี่ยงจากธุรกิจสินเชื่อผู้บริโภคที่อ่อนแอลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ SCB มีการลงทุนจำนวนมากในธุรกิจดังกล่าว

ด้าน บล.กรุงศรี พัฒนสิน ระบุว่า จากการสอบถามข้อมูลจากทาง SCB เบื้องต้นด้านพื้นฐานยังไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ความกังวลเรื่องคุณภาพสินทรัพย์ทาง SCB มีกล่าวถึงตั้งแต่ Analyst Meeting ไตรมาส 2/2566 ว่า เป้าค่าใช้จ่ายสำรอง (credit cost) ปี 2566 ที่ 120-140 bps. มีแนวโน้มสูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ เพราะ 1) ครึ่งแรกปี 2566 อยู่ที่ 184 bps. จากมี one-time เรื่องการผิดชำระหนี้ของบริษัทรายใหญ่รายหนึ่ง และปัญหาการตามเก็บหนี้ของ Card X 

2) มีความกังวลในกลุ่ม Retail ที่อาจทยอยตกชั้นมากขึ้นในอนาคต และ 3) การตั้งสำรองส่วนเพิ่มสำหรับกลุ่มโครงการปรับโครงส้รางหนี้ (CDR)

ทั้งนี้ คงกำไรสุทธิ 2566-2567 คาดที่ 41,300 ล้านบาท และ 43,200 ล้านบาท เติบโต 10% จากปีก่อน และ เติบโต 5% จากปีก่อน โดยราคาหุ้นของ SCB ที่ปรับลง มองโอกาสเป็นการเข้าลงทุน ดังนั้น คงคำแนะนำ TRADING BUY และคงราคาเป้าหมายปี 2567 ที่ 125 บาท