posttoday

"PTTEP" เด้งรับ "ซาอุ-รัสเซีย"ขยายเวลาหั่นกำลังผลิตหนุนน้ำมันพุ่ง

04 สิงหาคม 2566

ราคาน้ำมันดีดรับ"ซาอุดิอาระเบีย"ขยายเวลาลดกำลังผลิต 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน-รัสเซีย ลดส่งออกน้ำมัน 3 แสนบาร์เรล หนุนราคาหุ้น PTTEP บวกสดใส โบรกส่องผลงานครึ่งปีหลังยังยิ้มได้แม้ต้นทุนขยับ ยกให้ปันผลดี

ราคาหุ้น PTTEP เช้านี้(4 ส.ค.2566) ณ เวลา 10.16 น. อยู่ที่ 161.50 บาท เพิ่มขึ้น 2 บาท คิดเป็น +1.25% โดยราคาขึ้นไปสูงสุด 162 บาท และลดลงต่ำสุด 161 บาท

 

     ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า ราคาน้ำมันดิบในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมายังอยู่ในกรอบระดับสูง 80-85 เหรียญฯต่อบาร์เรล ได้รับปัจจัยหนุนหลักจาก Supply ที่ผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลกพยายามที่จะควบคุมปริมาณน้ำมันดิบในตลาดโลกให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับความต้องการใช้ เพื่อช่วยพยุงราคาน้ำมันให้อยู่ในระดับสูง ทั้งประเด็นการประกาศขยายเวลาการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบของ "ซาอุดิอาระเบีย" โดยสมัครใจ จำนวน 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้ซาอุดิอาระเบีย จะผลิตน้ำมันที่ 9 ล้านบาร์เรลต่อวัน จนถึงสิ้นเดือน ก.ย. ถือเป็นการปรับลดต่อเนื่องเดือนที่ 3 นับตั้งแต่เดือน ก.ค. 

     อีกทั้งคาดการณ์การประชุมนโยบายการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร (โอเปกพลัส) ในวันนี้(4 ส.ค. 2566)ว่าที่ประชุมจะยืนตามมติเดือน ต.ค.2565 ในการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มฯลง 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปจนถึงสิ้นปี 2566

     รวมถึงประเด็นสนับสนุนล่าสุดที่รองนายกรัฐมนตรีรัสเซีย แถลงวานนี้ว่า รัสเซียจะลดการส่งออกน้ำมัน จำนวน 3 แสนบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.ย. จากประเด็นต่างๆสะท้อนมุมมองการควบคุมระดับราคาโดยผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกให้อยู่ในระดับที่พึงพอใจราว 80-85 เหรียญฯต่อบาร์เรล แม้ในช่วงที่ผ่านมาจะมีหลายปัจจัยที่กดดันทางด้าน Demand ทำให้ฝ่ายวิจัยได้มีการปรับเพิ่มมุมมองระยะยาวสำหรับราคาน้ำมันดิบดูไบตั้งแต่ปี 2567 ขึ้นมาอยู่ที่ 80 เหรียญฯต่อบาร์เรล สะท้อนนโยบายของกลุ่มโอเปกและโอเปกพลัสที่มักจะมีมติปรับลดกำลังการผลิตในวาระต่างๆออกมาเสมอเพื่อประคองราคาน้ำมันในตลาดไม่ให้ปรับตัวลดลงไป

เชียร์ "PTTEP" 

     ขณะที่ สมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบปี 2566 ยังคงไว้ที่ 90 เหรียญฯต่อบาร์เรล เนื่องจากยังมีประเด็นสงครามรัสเซียยูเครนที่ยังมีความกังวลว่าจะส่งผลกระทบเป็นระลอกๆ โดยภาพรวมเชิงกลยุทธ์ยังคงแนะนำลงทุนในลักษณะ trading ตามราคาน้ำมันอยู่สำหรับ หุ้น PTTEP ให้ราคาเป้าหมาย 178 บาท

     ฝ่ายวิจัยได้ทำการปรับเพิ่มประมาณการกำไรจากการดำเนินงานปกติของ PTTEP ตั้งแต่ปี 2566 ขึ้นจากเดิม โดยกำไรจากการดำเนินงานปกติปี 2566 และ 2567 เพิ่มขึ้น 42% และ 41.7% จากเดิมมาอยู่ที่ 7.8 และ 6.4 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ เพื่อสะท้อนการปรับเพิ่มสมมติฐานปริมาณขายในปี 2566 ขึ้นตามที่บริษัทให้แนวทาง ล่าสุดอยู่ที่ 4.64 แสนบาร์เรลต่อวัน จากสมมติฐานเดิมที่ 4.56 แสนบาร์เรลต่อวัน (ลดลงจากปี 2565 ที่อยู่ที่ 4.68 แสนบาร์เรลต่อวัน) และปรับลดสมมติฐาน Effective tax rate ในปี 2566 ลงเหลือ 41% จาก 45% เพื่อสะท้อนโครงการบงกช G2 ที่เปลี่ยนจากสัมปทานเป็น PSC ทำให้อัตราภาษีลดลงเหลือ 20% จาก 50% เป็นหลัก 

     ขณะที่ยังคงสมมติฐานราคาน้ำมันดิบอ้างอิงดูไบในปี 2566 ไว้ที่ 90 เหรียญฯต่อบาร์เรล (PTTEP กำหนดสมมติฐานในกรอบที่ 70-90 เหรียญฯต่อบาร์เรล ลดลงจากปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 96.4 เหรียญฯต่อบาร์เรล) และคงราคาขายก๊าซธรรมชาติของ PTTEP ที่กำหนดสมมติฐานในปี 2566 ไว้ที่ 6 เหรียญฯต่อล้านบีทียู ลดลงจากปี 2565 ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 6.3 เหรียญฯต่อล้านบีทียู ซึ่งเป็นไปตามการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดิบ รวมถึงรับรู้โครงการ G1 และ G2 ซึ่งมีราคาขายก๊าซฯตามสัญญา PSC ค่อนข้างต่ำราว 4.7 เหรียญฯต่อล้านบีทียู เต็มที่ทั้งปี จึงดึงค่าเฉลี่ยราคาขายก๊าซฯให้ปรับตัวลดลง 

     ส่วนตั้งแต่ปี 2567 ได้มีการปรับเพิ่มสมมติฐานราคาน้ำมันดิบระยะยาวมาอยู่ที่ 80 เหรียญฯต่อบาร์เรล จาก 75 เหรียญฯต่อบาร์เรล เพื่อสะท้อนสถานการณ์ด้าน Supplyในช่วง 1H66 ที่ผ่านมาที่ทางกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบหลักของโลกเช่นกลุ่มโอเปกได้มีความพยายามต่างๆที่จะควบคุมระดับ supply น้ำมันดิบให้เหมาะสมกับภาวะ demand ที่เกิดขึ้น เพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันดิบให้อยู่ในกรอบ 75-85 เหรียญฯต่อบาร์เรล ประกอบกับทางฝ่ายวิจัยมีมุมองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันอยู่ในช่วงย่ำแย่แล้ว จากนี้ไปน่าจะค่อยๆเห็นการฟื้นตัวได้ ซึ่งจะเป็นผลบวกต่อความต้องการใช้น้ำมันดิบที่จะค่อยๆเห็นการฟื้นตัวตาม

     สำหรับแนวโน้มกำไรปกติในงวด 3Q66 ลุ้นประคองตัวใกล้เคียงกับงวด 2Q66 ได้หากราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยตลอดทั้งงวด 3Q66 อยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับปัจจุบันที่ราว 80-85 เหรียญฯต่อบาร์เรล (เพิ่มขึ้นจาก 77 เหรียญฯต่อบาร์เรล ในงวด 2Q66) รวมถึงในงวด 3Q66 มีปัจจัยบวกจากปริมาณขายที่ล่าสุดทางบริษัทให้มุมมองว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ราว 4.7 แสนบาร์เรลต่อวัน จาก 4.4 แสนบาร์เรลต่อวัน ในงวดก่อนหน้า เพราะทั้งราคาน้ำมันดิบและปริมาณขายดังกล่าวจะสามารถมาช่วยชดเชยแนวโน้มราคาขายก๊าซฯที่คาดจะลดลง ตาม lag time การปรับตัวลงของราคาน้ำมันช่วงก่อนหน้านี้ มาอยู่ราว 5.8 เหรียญฯต่อล้านบีทียู จาก 5.9 เหรียญฯต่อล้านบีทียูในงวดก่อนหน้า

     รวมถึงแนวโน้มต้นทุนต่อหน่วยที่คาดจะปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ราว 27-28 เหรียญฯต่อบาร์เรล จาก 26.4 เหรียญฯต่อบาร์เรลในงวด 2Q66 เนื่องจากโครงการ G1 ซึ่งมีต้นทุนสูงจากรายจ่ายขุดเจาะหลุมเพิ่มกำลังทยอยมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น(ปัจจุบันผลิตได้ที่ 400 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน จาก 2Q66 ที่ 200 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน)

 

ต้นทุนครึ่งหลังพุ่งกดกำไร 

     บล.กรุงศรี พัฒนสิน ระบุว่า ฝ่ายคาดกำไรจากธุรกิจหลักในงวด 2H23 ของ PTTEP จะลดลงเล็กน้อย HoH เนื่องจากต้นทุนต่อหน่วยเพิ่มขึ้นเป็น 27-28$/BOE จากการที่โครงการเอราวัณเร่งการผลิต (ต้นทุนปกติต่อหน่วยใน 2Q23 อยู่ที่ ≈27$/MBOE) ขณะเดียวกัน เราคาดว่า ASP จะลดลง HoH เนื่องจากราคาก๊าซลดลงเพราะมีการใช้สัญญา PSC เต็มรูปแบบ (บงกช, เอราวัณ) ซึ่งมีราคาก๊าซฐานในสูตรราคาที่ลดลงประมาณ 30-40% เมื่อเทียบกับสัญญาสัมปทานเดิม อย่างไรก็ตาม เราคาดว่า ASP ใน 3Q23 จะเพิ่มขึ้น QoQ เนื่องจากราคาน้ำมันดิบสูง

     โดย PTTEP ราคาเป้าหมายตาม BB consensus อยู่ที่ 169.92 บาท ซึ่งราคาหุ้นในปัจจุบันคิดเป็น PE ปี FY23F ที่ 9.6x และปี FY24F ที่ 10.3x ให้อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลปี FY23F ที่ 5% และปี FY24F ที่ 4.7% ผลผลิตน้ำมันของ OPEC ในเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ 27.79 MBPD ลดลง 0.8MBPD จากเดือนมิถุนายน 2023 นอกจากนี้ ซาอุดิอาระเบียยังน่าจะขยายระยะเวลาลดการผลิตโดยสมัครใจออกไปถึงเดือนกันยายน 2023 ซึ่งจะทำให้สถานการณ์ด้านอุปทานตึงตัว