posttoday

“วีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ” ลาออกบอร์ดเครือไทยเบฟ เอี่ยวคดีโกงหุ้น WEH

01 สิงหาคม 2566

“วีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ” ลาออกบอร์ดบริษัทหลายแห่งในเครือไทยเบฟ เอี่ยวคดีโกงหุ้น WEH หลังล่าสุด ศาลอังกฤษสั่ง ณพ-เกษม ณรงค์เดช และพวกรวม 14 คน ชดใช้อดีตซีอีโอ WEH กว่า 3 หมื่นล้านบาท ส่วน “SCB-อาทิตย์ นันทวิทยา-คาดีจา บิลาล ซิดดีกี” รอด

บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า นายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ ได้แจ้งขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 27 ก.ค.2566 เป็นต้นไป 

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทจะพิจารณาสรรหาบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสม เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการของบริษัท และบริษัทจะแจ้งให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและนักลงทุนทราบในโอกาสต่อไป

เช่นเดียวกัน บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า นายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพกรรมการบริษัท และกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีและความยั่งยืนของบริษัท ได้แจ้งความประสงค์ขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการทุกตำแหน่งของบริษัท เนื่องจากมีภารกิจอื่น โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 27 ก.ค.2566 เป็นต้นไป

โดยจะมีการพิจารณาสรรหาบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสม เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการของบริษัทที่ว่างลงดังกล่าว และบริษัทจะแจ้งให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและนักลงทุนทราบในโอกาสต่อไป

สำหรับการลาออกจากตำแหน่งของ นายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ จากบริษัทดังกล่าว มีการคาดการณ์ว่าจะมีความเกี่ยวข้องกับคดีที่ นายนพพร ศุภพิพัฒน์ ผู้ก่อตั้งและอดีต CEO บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) และบริษัทของตน 3 แห่ง เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหาย 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 5.7 หมื่นล้านบาท) จาก นายณพ ณรงค์เดช, ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ผู้บริหาร SCB และผู้บริหาร และกรรมการของ WEH รวม 17 ราย ในข้อหาสมคบกันชักจูงใจด้วยข้อมูลลวงให้ขายหุ้น WEH 

ล่าสุด บีบีซีไทยรายงานว่า เมื่อ 31 ก.ค.2566 ศาลอังกฤษตัดสิน ให้ นายณพ ณรงค์เดช และพวกรวม 14 คน จ่ายค่าเสียหายรวมราว 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 3 หมื่นล้านบาท แก่นายนพพร ศุภพิพัฒน์ ผู้ก่อตั้งและอดีต CEO ของบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) หลังถูกนายนพพรฟ้องในข้อหาสมคบกันชักจูงใจด้วยข้อมูลลวงให้ขายหุ้น WEH 

ขณะที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) จำเลยที่ 10 และ นายอาทิตย์ นันทวิทยา อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) จำเลยที่ 11 รวมทั้งนางคาดีจา บิลาล ซิดดีกี จำเลยที่ 5 รอด 

ผู้ถูกฟ้องสำคัญคนอื่น ๆ ในคดี ได้แก่ นายณพ ณรงค์เดช ลูกชายคนกลางของ นายเกษม ณรงค์เดช เป็นจำเลยที่ 1 ส่วนนายเกษม ผู้เป็นบิดา ตกเป็นจำเลยที่ 14 และจำเลยที่ 15 คือ คุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา แม่ภรรยาของนายนพ และภรรยาของ พล.ต.อ.พจน์ บุณยะจินดา อดีตอธิบดีกรมตำรวจผู้ล่วงลับ

ส่วนนายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ กรรมการของบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) บริษัทแม่ของ SCB และเจ้าของสำนักงานกฎหมายชั้นนำของประเทศ Weerawong, Chinnavat & Partners (WCP) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของนายณพ เป็นจำเลยที่ 13 และ นายประเดช กิตติอิสรานนท์ ประธานคณะกรรมการบริหาร และกรรมการของ WEH เป็นจำเลยที่ 16

นีล แคลเวอร์ (Neil Calver) ผู้พิพากษาแห่งศาลพาณิชย์ (Commercial Court) ของอังกฤษ มีคำตัดสินเมื่อ 31 ก.ค. 2566 ว่านายณพและพวก (ยกเว้น จำเลยที่ 5, 10, และ 11) ร่วมกันกระทำละเมิดโดยมิชอบและต้องรับผิดร่วมกันตามมาตรา 432 ของ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย และสั่งให้ชดใช้ความเสียหายรวมกันทั้งเงินค้างชำระและดอกเบี้ยรวมกันเป็นมูลค่าราว 900 ล้านเหรียญสหรัฐ จากที่นายนพพรฟ้องเรียกไป 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย มาตรา 432 ระบุว่า “ถ้าบุคคลหลายคนก่อให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นโดยร่วมกันทำละเมิด ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นจะต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น ความข้อนี้ให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่ไม่สามารถสืบรู้ตัวได้แน่ว่า ในจำพวกที่ทำละเมิดร่วมกันนั้น คนไหนเป็นผู้ก่อให้เกิดเสียหายนั้นด้วย

อนึ่ง บุคคลผู้ยุยงส่งเสริมหรือช่วยเหลือในการทำละเมิด ก็ให้ถือว่าเป็นผู้กระทำละเมิดร่วมกันด้วย

ในระหว่างบุคคลทั้งหลายซึ่งต้องรับผิดร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น ท่านว่าต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่โดยพฤติการณ์ ศาลจะวินิจฉัยเป็นประการอื่น”

บีบีซีไทยรายงานด้วยว่า ได้เดินทางไปที่ศาลแพ่งอังกฤษ ในกรุงลอนดอน เพื่อติดตามผลการตัดสิน และพยายามขอสัมภาษณ์นายนพพร ศุภพิพัฒน์ เพื่อขอความเห็นในเรื่องนี้ แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับ

ทั้งนี้ นายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ จำเลยลำดับที่ 13 พบว่า ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการของหลายบริษัท ทั้งบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ 

อาทิ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ตำแหน่งกรรมการ, บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ตำแหน่งกรรมการ, บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด(มหาชน) หรือ BDMS ตำแหน่งกรรมการอิสระ และกรรมการตรวจสอบ, บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC ตำแหน่งกรรมการ

บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ในตำแหน่งกรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบ, บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BIG C ตำแหน่งรองประธานกรรมการ และ บริษัท ยักษา จำกัด ตำแหน่งกรรมการ, บริษัท เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ ลิมิเต็ด ประเทศสิงคโปร์ ตำแหน่งกรรมการอิสระ, กลุ่มบริษัทเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด ตำแหน่กรรมการอิสระ กรรมการ

จากการตรวจสอบจากเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า ปัจจุบันมีเพียง BJC และ AWC เท่านั้นที่มีการแจ้งการลาออกของ นายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ มีผลตั้งแต่วันที่ 27 ก.ค.2566 ตามข้อมูลที่ระบุข้างต้น ส่วนบริษัทอื่นๆ ยังไม่ได้การแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่อย่างใด 

สำหรับประวัติ นายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ เป็นทนายความผู้ก่อตั้ง บริษัท วีระวงค์ ชินวัฒน์ และพาร์ทเนอร์ส จำกัด หรือ WCP และเคยดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ ของสำนักกฎหมายดังกล่าว 

โดย นายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นหนึ่งในนักกฎหมายที่มีประสบการณ์มากที่สุดในประเทศไทยในด้านการธนาคารและการเงิน ตลาดทุน การกำกับดูแลกิจการ การควบรวมและซื้อกิจการ การปรับโครงสร้างและการล้มละลาย และความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนสำหรับการพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในประเทศไทย และเป็นสมาชิกของเนติบัณฑิตยสภาแห่งรัฐนิกยอร์ก หรือ Member of New York State Bar Association