posttoday

บล.ทรีนีตี้ มองหุ้นไทย Q3/66 ต่ำสุด ชี้ 1,450 จุด เป็นจุดซื้อก่อนฟื้นตัว Q4/66

05 กรกฎาคม 2566

บล.ทรีนีตี้ ประเมินตลาดหุ้นไทยไตรมาส 3/66 ต่ำสุด ในกรอบ 1,450-1,550 จุด เหตุเศรษฐกิจโตน้อย-สภาพคล่องทั่วโลกลดลงกดดัน ชี้หุ้นไทย 1,450 จุด ถูกสุดอันดับ 5 รอบ 16 ปี เป็นจุดซื้อ ก่อนฟื้นตัวในไตรมาส 4/66 มองปลายปีนี้ ดัชนีฯ แตะ 1,600 จุด

ดร.วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาส 3/2566 คาดว่าจะปรับตัวลงเคลื่อนไหวในกรอบ 1,450-1,550 จุด เนื่องจากตลาดหุ้นทั่วโลกมีโอกาสปรับตัวลดลง เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลง และสภาพคล่องทั่วโลกจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ กดดันตลาดหุ้นโลกและไทยในช่วงไตรมาส 3/2566 อ่อนแอลง 

โดยสภาพคล่องในตลาดโลกกำลังลดลงจาก 7 สาเหตุ ประกอบด้วย

1.ธนาคารกลางหสรัฐ (เฟด) อาจจะต้องออกพันธบัตรเพื่อดูดซับเม็ดเงินกว่า 650,000 ล้านดอลลาร์ ภายในครึ่งปีหลังของปี 2566 ผ่าน Treasury General Account ซึ่งเป็นผลจากมาตรการแก้ไขปัญหาเพดานหนี้สาธารณะ (Debt Ceiling)

2.ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะต้องคืนเงิน LTRO กว่า 480,000 ล้านยูโร ในเดือน มิ.ย.-ก.ค.

3.Dot Plot ของเฟด มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นอีก 0.25% ในไตรมาส 3 หรือช่วงปลายเดือน ก.ค.นี้ หลังจากที่เฟดได้หยุดการขึ้นดอกเบี้ยในเดือน มิ.ย.

4.ความสนใจในการทำ QT ของเฟดอาจจะมีอีกครั้ง และอาจจะถึงเดือนละ 95,000 ล้านดอลลาร์ จากปัจจุบันที่ 78,000 ล้านดอกลลาร์ สิ่งต่างๆ เหล่านั้นจะนำไปสู่การแข็งค่าเงินดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าจะแข็งค่าขึ้นมากกว่า 2-3% แต่เป็นรอบท้ายๆ ของการแข็งค่าของดอลลาร์

5.สัญญาณทางตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ ทั้งตลาดการเงิน และเศรษฐกิจทั่วโลก กำลังบ่งบอกเศรษฐกิจกำลังถดถอยอย่างมีนัยสำคัญ เช่น Inverted Yield Curve ของ Bond Yield สหรัฐ ที่อยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2525 บ่งบอกว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยในไตรมาส 4/2566 หรือปี 2567 และตัวเลข PMI ที่ตกต่ำลง

6.ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (Nonfarm Payrolls) ของสหรัฐ อาจจะลดลงจากปัจจุบัน 2-3 แสนตำแหน่งต่อเดือน มาสู่ระดับต่ำกว่า 1 แสนตำแหน่งต่อเดือน ในไตรมาส 4/2566 และต่ำกว่า 5 หมื่นตำแหน่ง ในไตรมาส 1/2567 

7. สำหรับ SET Index ปริมาณเงินในระบบของไทย (M2 growth) เติบโตต่ำสุดตั้งแต่ปี ในรอบ 15 ปี นับจากปี 2551 โดย M2 growth จะเป็นตัวชี้นำของ SET Index ล่วงหน้า และการมีส่วนร่วมของนักลงทุนรายบุคคลจะลดลงอย่างมีนัย แต่นักลงทุนสถาบันจะเป็นฝ่ายซื้อสุทธิเนื่องจาก Earning Yield Gap ของตลาดหุ้น เมื่อเปรียบเทียบกับพันธบัตรไทยอยู่ในระดับน่าสนใจ บ่งบอกดัชนีเป้าหมายที่ 1,552 จุด 

“ดัชนีหุ้นไทยที่ระดับ 1,450 จุด ถูกเป็นอันดับที่ 5 ในรอบ 16 ปี ซึ่งใกล้เคียงกับการเกิด Covid รอบ 2 ในกลางปี 2564 และถือเป็นจุดที่น่าลงทุนในระยะกลาง Valuation ปัจจุบัน P/BV ที่ 1.44 เท่า” ดร.วิศิษฐ์ กล่าว

ขณะที่ทิศทางตลาดหุ้นในไตรมาส 4/2566 น่าจะฟื้นตัว หลังจากผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วช่วงไตรมาส 3 จากปัจจัยสนันสนับสนุน 1.การอ่อนแอของดอลลาร์สหรัฐ และเฟดมีโอกาสที่จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในไตรมาส 1/2567 2.มองตลาดทุนในตลาดเกิดใหม่จะ Outperform ในไตรมาส 4/2566 เนื่องจากในเอเชียได้ผลกระทบจาก Interest shock น้อยกว่าตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศพัฒนา ส่วนตลาดหุ้นญี่ปุ่นจะ Outperform ตลาดหุ้นจีนจะมีการฟื้นตัวในไตรมาส 3/2566 

และ 3.มอง Bond Yield 10 ปี ของสหรัฐได้ถึงจุดสูงสุดไปแล้วที่ระดับ 4.3% หรือกว่า 8 เดือนที่แล้ว แต่ Fed Fund Rate อาจจะถึงจุดสูงสุดในไตรมาส 3/2566 และหยุดการขึ้นดอกเบี้ย นอกจากนี้ มองคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง ในอัตรา 0.25% ช่วงต้นเดือน ส.ค.2566

ประกอบกับเมื่อการเมืองคลี่คลาย มีการจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ และมีนโยบายที่เอื้อต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ จะหนุนให้เงินทุนต่างชาติไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นไทย และ Outperform ตลาดหุ้นโลกได้ หลังจากในช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงกำลังสะท้อนความไม่แน่นอนของการจัดตั้งรัฐบาล และนโยบายที่มีผลต่อตลาดทุน ทำให้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิกว่า 100,000 ล้านบาท ในครึ่งปีแรก 

นอกจากนี้ การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวกลับมาและมีสัดส่วนมากกว่า 10% ของจีดีพี รวมถึงการส่งออกไทยฟื้นตัวไตรมาส 4 โดยปกติการส่งออกของไทยจะอยู่ในช่วงเฉลี่ยเดือนละ 21,000-23,000 ล้านดอลลาร์ โดยที่ฐานต่ำในไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ที่ระดับ 21,933 อาจทำให้เห็นการเติบโตของการส่งออกในไตรมาส 4/2566 ดังนั้นมองว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยในช่วงปลายปี 2566 มีโอกาสแตะระดับ 1,600 จุด 

ด้านกลยุทธ์มองว่าการลงทุนใน Mega Trend เช่น หุ้นที่ได้ประโยชน์จากเอลนีโญ ซึ่งจะทวีความรุนแรงขึ้นในครึ่งแรกของปี 2567 หุ้นที่ได้ประโยชน์จาก AI Growth ทั่วโลก และหุ้นไทยที่มีการเติบโตทั้ง YoY และ QoQ ในไตรมาส 2 เช่น BBL BEM CPALL CPAXT KTB MINT รวมทั้งมองกลุ่มพลังงานและกลุ่มธนาคาร เป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จาก Searching for Yields (เงินปันผลมากกว่าอัตราผลตอบแทนรัฐบาล 10 ปี)