posttoday

เจาะบทบาทใครทำหน้าที่อะไรบ้างในตลาดทุน

13 มิถุนายน 2566

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เผยแพร่บทความ “ใครทำหน้าที่อะไรบ้างในตลาดทุน” หลังเกิดปมปัญหาของ STARK สร้างความเสียหายในวงกว้าง

หลังเกิดกรณีปัญหาของ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ไม่ส่งงบการเงิน ประจำปี 2565 ตามกำหนด ทำให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ขึ้นเครื่องหมาย SP พักการซื้อขายเป็นเวลา 3 เดือน และทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) สั่งให้ทำการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (Special Audit) 

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาของหุ้นกู้ 2 ชุด ได้แก่ STARK239A และ STARK249A ที่ผู้ถือหุ้นกู้มีมติไม่ยกเว้นเหตุผิดนัดและใช้สิทธิเรียกให้บริษัทชำระหนี้เงินต้น พร้อมทั้งดอกเบี้ยภายใต้หุ้นกู้โดยพลัน มูลค่า 2,241 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ (Cross Default) ที่ครอบคลุมถึงหนี้หุ้นกู้อีก 3 ชุด มูลค่ารวม 6,957.4 ล้านบาท ตลอดจนเจ้าหนี้ภายใต้สัญญาทางการเงินอื่นๆ ที่อาจใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ทั้งหมดในลักษณะเดียวกัน

จนทำให้มีการมองกันว่าหน่วยงานกำกับดูแลต่างๆ มีการดำเนินการล่าช้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ 

ดังนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ออกบทความ “ใครทำหน้าที่อะไรบ้างในตลาดทุน” ระบุถึงบทบาทหน้าที่ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง 8 ส่วน ประกอบด้วย 

ก.ล.ต.

  • ตลาดรอง ก.ล.ต.กำกับดูแลให้เกิดความเป็นธรรมในการซื้อขาย ติดตามการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขาย เช่น การสร้างราคา การใช้ข้อมูลภายใน เมื่อพบว่ามีผู้กระทำความผิด จะตรวจสอบเชิงลึก และดำเนินการกับผู้กระทำผิดตามกฎหมายต่อไป
  • ผู้ลงทุน ก.ล.ต.คุ้มครอง ให้ความรู้ และดำเนินการกับเรื่องร้องเรียน
  • บริษัทจดทะเบียน ก.ล.ต.อนุญาตให้เสนอซื้อขายหลักทรัพย์ กำกับดูแลการเปิดเผยข้อมูล การทำคำเสนอซื้อกิจการ (takeover) การทำรายการที่เกี่ยวโยง การได้มาจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สิน มีการดำเนินการเมื่อมีการกระทำผิดในบริษัทจดทะเบียน (corporate fraud)
  • ผู้ประกอบวิชาชีพ ก.ล.ต.ให้ความเห็นชอบและดูแลการปฏิบัติหน้าที่ อาทิ ผู้สอบบัญชี ที่ปรึกษาทางการเงิน

https://www.smarttoinvest.com/Pages/About%20SEC/AboutSEC.aspx

https://www.sec.or.th/TH/Template3/Articles/2559/ac-post-25590414-roles.pdf

ตลาดหลักทรัพย์ฯ

  • ทำหน้าที่ตลาดรองในการซื้อขายหลักทรัพย์ฯ มีการกำหนดหลักเกณฑ์และมีกระบวนการในการพิจารณารับหลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีความชัดเจน โปร่งใส คำนึงถึงคุณภาพของหลักทรัพย์ที่รับจดทะเบียน มีการกำกับดูแลการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนและบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ เพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลอย่างเพียงพอ เท่าเทียม ทั่วถึง และภายในระยะเวลาที่เหมาะสม ตลอดจนการพิจารณาเพิกถอนหลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีคุณสมบัติไม่เหมาะสม
  • ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการซื้อขายหลักทรัพย์ เป็นด่านแรกในการติดตามภาวะการซื้อขาย ตรวจสอบราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ติดตามให้บริษัทเปิดเผยข้อมูล ชี้แจงข้อเท็จจริงให้ครบถ้วน และรวดเร็ว เพื่อให้ผู้ลงทุนและผู้เกี่ยวข้องได้รับข้อมูลอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ
  • หากเห็นว่าอาจมีการเข้าข่ายการกระทำความผิดก็จะรวบรวมข้อมูลส่งให้ ก.ล.ต. เพื่อตรวจสอบในเชิงลึก และดำเนินการกับผู้กระทำผิดตามกฎหมายต่อไป
  • บริษัทจดทะเบียน ตลท.มีการกำกับดูแลการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียน เพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลอย่างเพียงพอ เท่าเทียม ทั่วถึง และภายในระยะเวลาที่เหมาะสม และพิจารณาเพิกถอนหลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีคุณสมบัติไม่เหมาะสม ตลอดจนส่งเสริมบริษัทจดทะเบียนนำหลักการ ESG มาใช้ในการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืน
  • ผู้ลงทุน ตลท.ให้ความรู้ ออกข่าวเตือน ขึ้นเครื่องหมายเตือนผู้ลงทุน ใช้มาตรการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียน และกำกับการซื้อขายหลักทรัพย์ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดต่อผู้ลงทุน
  • กฎเกณฑ์ ตลท.มีการทบทวนและปรับปรุงกฎเกณฑ์ มาตรการกำกับดูแลให้ทันสมัย ทันกับสถานการณ์

https://www.set.or.th/th/rules-regulations/listed-companies https://media.set.or.th/set/Documents/2022/Mar/1_Introduction_to_Disclosure_SET.pdf https://www.sec.or.th/TH/Template3/Articles/2559/ac-post-25590414-roles.pdf

กรรมการบริษัท

  • กรรมการบริษัทมีบทบาทสําคัญในฐานะ “ผู้นำ” ในการขับเคลื่อนกิจการให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการกํากับดูแลการบริหารงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักของกิจการบนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และความเป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสีย เป็นอิสระจากฝ่ายจัดการ และประเมินตนเองสม่ำเสมอ
  • ความรับผิดชอบของคณะกรรมการตามหลักการกํากับดูแลกิจการที่ดี ครอบคลุมถึงการกำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจ วัตถุประสงค์ เป้าหมายหลัก รวมถึงกลยุทธ์ และนโยบายสำคัญต่างๆ ที่สร้างคุณค่าแก่กิจการอย่างยั่งยืนโดยมอบหมายให้ฝ่ายจัดการรับไปปฏิบัติ โดยมีคณะกรรมการคอยชี้แนะให้เห็นถึงมุมมองในระยะยาว พร้อมติดตามดูแลผลการดำเนินงานดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ในฐานะที่เป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้ถือหุ้นให้ทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ของกิจการ (Fiduciary duty)

 SOURCE: IOD

ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน

  • บริหารธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์ ปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียขององค์กรอย่างเป็นธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีความรับผิดชอบ และภาระรับผิดชอบ
  • เปิดเผยข้อมูลถูกต้อง ครบถ้วน ทันเวลา โปร่งใส เท่าเทียม น่าเชื่อถือ
  • ดูแลรับผิดชอบในการจัดทำงบการเงินและเปิดเผยแก่ผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนให้ตรงตามกำหนดเวลา รวมถึงต้องรับผิดชอบต่อรายการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในงบการเงิน

https://www.setsustainability.com/page/corporate-governance https://weblink.set.or.th/dat/vdoArticle/attachFile/AttachFile_1613722466167.pdf

ผู้สอบบัญชี

  • มีหน้าที่ตรวจสอบ หาหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความถูกต้องของข้อมูลในงบการเงินและจัดทำรายงานเพื่อแสดงความเห็นต่องบการเงินของกิจการให้เป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน โดยปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เที่ยงธรรม เป็นอิสระ มีความรู้ความสามารถ และประพฤติตนเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ มีความระมัดระวังรอบคอบ และรักษาความลับ
  • ผู้สอบบัญชีต้องรักษาไว้ซึ่งจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี โดยเฉพาะความเป็นอิสระจากกิจการที่ไปตรวจสอบ หากผู้สอบบัญชีขาดความเป็นอิสระ เช่น ถูกผู้บริหารกดดันให้แสดงความเห็นต่องบการเงินที่ผิดให้เป็นถูก ก็จะทำให้งบการเงินที่ผ่านการตรวจสอบนั้นไม่มีประโยชน์ต่อผู้ใช้งบการเงิน งบการเงินไม่มีคุณภาพ ผู้สอบบัญชีก็ขาดความน่าเชื่อถือ
  • หากผู้สอบบัญชีปฏิบัติงานตามมาตรฐานทางวิชาชีพแล้ว รายงานของผู้สอบบัญชี รวมทั้งข้อมูลในงบการเงินที่ผ่านการตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีแล้ว ก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งบการเงินกลุ่มต่างๆ เช่น เจ้าของกิจการ ผู้ลงทุน และสถาบันการเงิน เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ

 https://weblink.set.or.th/dat/vdoArticle/attachFile/AttachFile_1613722466167.pdf

ที่ปรึกษาทางการเงิน (Financial Advisor : FA)

  • มีบทบาทสำคัญในการคัดเลือกและกลั่นกรองคุณภาพของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
  • ดูแลให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลให้ครบถ้วน ถูกต้อง และเพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุน และให้ความเห็นต่อผู้ถือหุ้นเมื่อบริษัทจดทะเบียนมีการทำรายการสำคัญที่อาจกระทบต่อสิทธิและผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น เช่น รายการเกี่ยวกับการเข้าครอบงำกิจการ รายการที่เกี่ยวโยงกัน และรายการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์สำคัญ ซึ่งผลงานของ FA มีความสำคัญอย่างมาก กับผู้ลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้องในวงกว้าง

https://www.sec.or.th/TH/pages/lawandregulations/financialadvisor.aspx

สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA)

  • ทำหน้าที่ช่วยเหลือ ให้ความรู้ และเป็นแกนนำของผู้ถือหุ้นรายย่อ ในการปกป้องสิทธิประโยชน์จากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ของไทย เพื่อช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถปกป้องผลประโยชน์ของตนเองได้
  • ส่งเสริม ให้ความรู้ ช่วยเหลือ แนะนำ และเผยแพร่ความรู้เรื่องการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) จากความผิดตามกฎหมายหลักทรัพย์แก่ผู้ลงทุนและผู้เกี่ยวข้อง

http://www.thaiinvestors.com/%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%A1/ https://www.prachachat.net/finance/news-1316601

ผู้ลงทุน

  • มีหน้าที่ศึกษาข้อมูลก่อนเข้าลงทุน
  • คุณสมบัติ 8 ประการของผู้ลงทุน

1) รอบรู้ กระตือรือร้น สนใจเรื่องราวรอบตัว 2) ช่างสังเกต ใส่ใจในรายละเอียด จดจำข้อมูลสำคัญของหุ้นต่างๆ ได้ เพื่อใช้วิเคราะห์ แยกแยะ รวมทั้งประเมินผลกระทบภายใต้สถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว

3) ไม่มีอคติ มีความคิดที่เป็นอิสระและไม่ยอมให้ถูกครอบงำโดยกระแสของคนส่วนใหญ่ 4) รักษาวินัย มีความอดทนอดกลั้นรอคอยโอกาส ไม่ตัดสินใจตามกระแส 5) มีความลึก มีสมาธิแน่วแน่อยู่ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง และสามารถคิดได้อย่างอิสระ

6) มีความคิดสร้างสรรค์ เห็นภาพรวมของสิ่งต่างๆ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยสำคัญต่างๆ 7) รักในสิ่งที่ทำ รักการลงทุน 8) ยืดหยุ่น เปิดใจพร้อมยอมรับข้อมูลใหม่ๆ และโลกทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา กล้ายอมรับความจริง กล้าตัดสินใจ

https://member.set.or.th/set/education/html.do?name=decode_begin_invest_3&innerMenuId=17