posttoday

SJWD รุกขยายธุรกิจในอาเซียน ดันสัดส่วนรายได้ต่างประเทศพุ่งกว่า 40% ในปี 70

26 พฤษภาคม 2566

SJWD ปักธงปีนี้รายได้ 30,000 ล้านบาท และ 3ปี (67-69) โตเฉลี่ยปีละ 12% วางงบลงทุน 4-5 ปี 20,000 ล้านบาท ขยายกิจการ และปิดดีล M&A ลุยขยายธุรกิจในอาเซียน ดันสัดส่วนรายได้ต่างประเทศพุ่งกว่า 40% ภายในปี 70 ยอมรับค่าแรง 450 บาท กระทบบริษัท แม้จ่ายค่าแรงสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว

นายบรรณ เกษมทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SJWD เปิดเผยว่า หลังจากบริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์ จำกัด และบริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) ได้รวมกิจการเป็นบริษัท เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SJWD ตั้งแต่กลางเดือน ก.พ.2566 สนับสนุนการเติบโตของบริษัท 

โดยบริษัทวางเป้าหมายปี 2566 มีรายได้รวม 30,000 ล้านบาท แบ่งเป็นสัดส่วนรายได้จากในประเทศไทยประมาณ 90% และต่างประเทศอีก 10% จาก 9 ประเทศ ได้แก่ เมียนมา เวียดนาม ลาว กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และจีนตอนใต้  

ขณะเดียวกัน บริษัทวางงบลงทุนรวมในปี 2566 ไว้ที่ 3,500-5,000 ล้านบาท ใช้สำหรับขยายธุรกิจ และการควบรวมหรือซื้อกิจการ (M&A) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากว่า 10 ราย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโลจิสติกส์และซัพพลายเชน คาดว่าจะสามารถปิดดีล M&A เพิ่มเติมได้ภายในปีนี้

“เรามีเป้าหมายเป็นเบอร์ 1 ผู้ให้บริการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนแบบครบวงจรในอาเซียน มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) 100,000 ล้านบาท ภายในปี 2570 จากปัจจุบันอยู่ที่ 32,055.06 ล้านบาท และรายได้เติบโตเฉลี่ยปีละ 12% ใช้งบลงทุนในการขยายธุรกิจ และ M&A ปีละ 3,500-5,000 ล้านบาท และ 4-5 ปี ใช้งบลงทุน 20,000 ล้านบาท” นายบรรณ กล่าว 

ขณะเดียวกัน บริษัทมีความแข็งแกร่งทางการเงิน โดยมีสินทรัพย์อยู่ที่กว่า 37,000 ล้านบาท ณ สิ้นไตรมาส 1/2566 และ D/E ต่ำกว่า 1 เท่า จึงมีความสามารถในการขยายกิจการได้อีกมาก ดังนั้นงบลงทุนในระยะ 4-5 ปี จำนวน 20,000 ล้านบาท ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับโครงกสร้างการเงินแบบนี้

นายชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม SJWD กล่าวว่า ปีนี้มีการชะลอตัวของการค้าโลก จำนวนตู้คอนเทนเนอร์ลดลง ราคาน้ำมันสูงขึ้น และค่าระวางเรือลดลง ซึ่งบริษัทจัดการความเสี่ยงดังกล่าวโดยทำการกระจายความเสี่ยงในแต่ละพื้นที่ และอุตสาหกรรม โดยขยายไปยังอาเซียน และอีคอมเมิร์ช

สำหรับแผนยุทธศาสตร์ขยายธุรกิจในอาเซียน บริษัทจะขยายทั้งในส่วนของการเติบโตจากภายใน (Organic Growth) และการเติบโตจากภายนอก (Inorganic Growth) โดยบริษัทตั้งเป้าหมายภายในปี 2570 เพิ่มสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเป็น 41% และรายได้จากในประเทศ 59% จากปีนี้ รายได้ต่างประเทศอยู่ที่ 11% และรายได้ในประเทศอยู่ที่ 89% 

ล่าสุด เตรียมเข้าซื้อหุ้น 100% ใน บริษัท เอสซีจี อินเตอร์ เวียดนาม จำกัด หรือ SCG Inter Vietnam จาก บริษัท เอสซีจี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ตามแผนงานที่วางไว้ คาดว่าการเข้าซื้อหุ้นดังกล่าวจะแล้วเสร็จในวันที่ 1 มิ.ย.2567 และบริษัทคาดว่าในช่วงแรกจะรับรู้รายได้จาก SCG Inter Vietnam 800-1,000 ล้านบาท/ปี

โดยปัจจุบัน SCG Inter Vietnam เป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนในประเทศเวียดนาม มีลูกค้าหลักเป็นธุรกิจในเครือ SCG และให้บริการแก่ลูกค้าทั่วไป ล่าสุดเตรียมให้บริการด้านโลจิสติกส์และซัพพลายแก่สินค้าเคมีภัณฑ์ในโครงการ Long Son Petrochemicals (LSP) ซึ่งเป็นโครงการคอมเพล็กซ์ปิโตรเคมีขนาดใหญ่แห่งแรกในประเทศเวียดนาม ที่ลงทุนโดยเครือ SCG 

นอกจากนี้ ได้วางแผนร่วมมือกับ Transimex Corporation ซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์ท้องถิ่นที่เป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ชั้นนำในประเทศเวียดนามเพื่อร่วมกันขยายธุรกิจในเวียดนามอย่างต่อเนื่อง 

ส่วนการขยายขอบเขตการบริการไปยังธุรกิจใหม่ บริษัทได้ต่อความเชี่ยวชาญด้านการให้บริการขนส่งสินค้าข้ามแดนของทั้ง 2 ฝ่าย กับ Cambodia Railway พาร์ทเนอร์จากกัมพูชา เพื่อให้บริการขนส่งสินค้าข้ามแดนจากกัมพูชา-ไทย ในรูปแบบแบบ “ไฮบริด โมเดล” ครอบคลุมการขนส่งทางรางและทางรถ ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพการให้บริการและช่วยลดต้นทุนแก่ลูกค้า 

ขณะเดียวกัน บริษัทได้ขยายธุรกิจให้บริการขนส่งชิ้นส่วนยานยนต์ เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทย  ดยมีแผนจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในประเทศ เพื่อดำเนินธุรกิจให้บริการขนส่งชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีน ไปยังโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจรและจัดส่งแก่ดีลเลอร์รถทั่วประเทศ คาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้บางส่วนในปี 2567 และรับรู้รายได้เต็มปีตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป

อีกทั้งบริษัทอยู่ระหว่างวางแผนนำโมเดลธุรกิจ “คลังสินค้าห้องเย็น” และ “โลจิสติกส์ยานยนต์” ไปขยายการลงทุนในประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรสูงสุด 3 อันดับแรกในอาเซียน รูปแบบจะเป็นการเข้าถือหุ้นหรือร่วมลงทุนกับพาร์ทเนอร์ในแต่ละประเทศ 

โดยมองว่าทั้ง 3 ประเทศดังกล่าว มีศักยภาพสูง เนื่องจากมีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี ซึ่งจะส่งผลให้มีความต้องการบริโภคอาหารเพิ่มขึ้นและยังเป็นฐานการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ของภูมิภาคอีกด้วย

รวมไปถึงได้วางแผนขยายการให้บริการขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิไปยังกลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น ยาและเวชภัณฑ์, สินค้าเพื่อสุขภาพ เป็นต้น ซึ่งจะต่อยอดจากความเชี่ยวชาญในบริการคลังสินค้าห้องเย็นและรถขนส่งควบคุมอุณหภูมิสำหรับวัคซีน 

นายเอกพงษ์ ตั้งศรีสงวน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน SJWD กล่าวว่า บริษัทมีแผนออกหุ้นกู้วงเงินประมาณ 4,000 ล้านบาท โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างทริสเรทติ้งทบทวนอันดับเครดิตเรตติ้งใหม่ คาดว่าจะสามารถเสนอขายได้ในช่วงปลายเดือน ส.ค.หรือต้นเดือน ก.ย.2566 เพื่อนำมารองรับการขยายกิจการ, M&A และรีไฟแนนซ์  

นายบรรณ กล่าวถึงนโยบายการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาท ว่า ยอมรับว่านโยบายดังกล่าวจะกระทบกับบริษัท ซึ่งบริษัทได้มีการนำโรโบติกส์เข้ามาใช้ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หวังให้มีการปรับค่าแรงแบบค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่ในส่วนของบริษัทมีการจ่ายค่าแรงสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว โดยปัจจุบันมีพนักงานประมาณ 4,500 คน