posttoday

ผ่างบ ITV ซุ่มกำไร 7 ปีติด คอนเฟิร์ม!! ทำธุรกิจสื่อ

26 พฤษภาคม 2566

ผ่างบ 7ปี "ไอทีวี" กำไรต่อเนื่อง คอนเฟิร์มทำธุรกิจสื่อ ล่าสุด Q1/66 มีรายได้ 6.11 ล้านบาท กำไร 3 ล้าน พร้อมบุครายได้ให้บริการลงสื่อโฆษณาไตรมาส 2/66 นี่คือหุ้นที่ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์และครอบครัว" ถือ 42,000 หุ้น

ช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา ถือเป็นช่วงที่วัดฝีมือและความแข็งแกร่งด้านฐานะการเงินของธุรกิจในไทย ใครสายป่านยาวก็รอด ใครอ่อนแอก็แพ้ ล้มหายตายจากกันไป และ "ธุรกิจสื่อ"ก็เช่นกัน เมื่อเม็ดเงินโฆษณาปรับตัวลดลงอย่างน่าใจหาย สื่อเบอร์ใหญ่ระดับต้นๆของประเทศต่างพยายามรัดเข็มขัด ว่าที่จริงแล้วในยามวิกฤตินั้นการจะรักษาระดับการเติบโตว่ายากแล้ว การสร้างกำไรยากยิ่งกว่า 

แต่แล้วกลับมีสื่อที่หายไปนานมาก จนหลายคนต่างเข้าใจแทบจะตรงกันว่าไม่ทำธุรกิจมานานแล้ว แต่กลับสร้างรายได้และกำไรอย่างต่อเนื่อง เรียกว่าสร้างความฮือฮาต่อสังคมเป็นยิ่งนัก นั่นคือสิ่งที่เราต้องไปเรียนรู้ว่าทำได้อย่างไร ?

ย้อนกลับไปเมื่อ 27 ปีก่อน "บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน)" เดิมชื่อ บริษัทสยามอินโฟเทนเมนท์ จำกัด ก่อตั้งเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2538 ทุนจดทะเบียน 250 ล้านบาท และเพิ่มทุนเป็น 1,000 ล้านบาทในปีเดียวกัน โดยกลุ่มบริษัทสยามทีวีแอนด์คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด

นำโดยธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งได้รับอนุมัติจาก สปน. ให้เป็นผู้ดำเนินงานสถานีโทรทัศน์ภายใต้สัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ (UHF–Ultra High Frequency) (สัญญาเข้าร่วมงานฯ) เป็นระยะเวลา 30 ปีเริ่มออกอากาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2539 และในปี 2541 เปลี่ยนชื่อเป็น "บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน)"

จนกระทั่งในวันที่ 7 มีนาคม 2550 หยุดประกอบธุรกิจสถานีโทรทัศน์ไอทีวี เนื่องจากเลิกสัญญาเข้าร่วมงานกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ของ สปน. จากนั้น คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)มีมติให้เพิกถอนหุ้นสามัญของ ITV จากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน มีผลตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2557 เป็นต้นไป

ปัจจุบัน "ไอทีวี" ดำเนินธุรกิจรับจ้างโฆษณา ประชาสัมพันธ์ทุกชนิดทุกประเภท โดยมีบริษัทในเครือ "บริษัท อาร์ตแวร์ มีเดีย จำกัด" ให้เช่าอุปกรณ์ผลิตรายการวิทยุโทรทัศน์ ผลิตรายการโทรทัศน์ ซื้อ/ขายลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ และจัดกิจกรรมการตลาดอื่นๆ จากเดิมที่เคยดำเนินธุรกิจสถานีโทรทัศน์ 

คำถามคือ ไอทีวีหยุดดำเนินกิจการ กลับมีกำไรตั้งแต่ปี 2559 ถึงปัจจุบัน!!
ผ่างบ ITV ซุ่มกำไร 7 ปีติด คอนเฟิร์ม!! ทำธุรกิจสื่อ

และล่าสุด "บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย" รายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 แจ้งผลประกอบการในไตรมาส 1/2566 มีรายได้รวม 6,114,891 บาท กําไร 3,070,980 บาท เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2565 มีรายได้รวม 5,190,002 บาท และกำไร 2,430,733 บาท ซึ่งมาจากรายได้จากผลตอบแทนจากเงินลงทุนและดอกเบี้ยรับ 

Q2 บุครายได้สื่อโฆษณา 

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ไอทีวีนำเสนอการลงสื่อให้กับกิจการที่เกี่ยวข้องกัน และเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 2/2566 มีมติรับทราบรูปแบบการดําเนินธุรกิจของบริษัท โดยเป็นผู้ให้บริการลงสื่อโฆษณาและจากการที่บริษัทได้มีการให้บริการแก่บริษัทในกลุ่มข้างต้น ไอทีวีจึงจะเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาส 2/2566 

และขอตอกย้ำอีกครั้งว่า.. ในรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 มีการสอบถามว่า "ไอทีวี" ดำเนินงานเกี่ยวกับสื่อหรือไม่ ? ทางบริษัทตอบในที่ประชุมว่า ปัจจุบันบริษัทยังดำเนินกิจการอยู่ ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท และมีการส่งงบการเงินและยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ!!

ท้ายที่สุด "พิธาและครอบครัวลิ้มเจริญรัตน์" ถือหุ้นไอทีวีที่ยังสถานภาพสื่อ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) บัญญัติห้ามมิให้บุคคลที่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ มีคุณสมบัติต้องห้ามสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.⁣ หรือไม่ ? แม้พิธาจะออกมาชี้แจงว่าตนเองมีฐานะเป็นผู้จัดการมรดก และได้ปรึกษาและแจ้งต่อ ป.ป.ช.นานแล้วก็ตาม 

แต่ถึงกระนั้น เรื่องนี้คงต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ กกต. ว่าจะพิจารณาออกมาอย่างไร และได้แต่เฝ้าหวังว่าจะได้ข้อสรุปชัดเจนในเร็ววันนี้ ก่อนที่จะมีการประกาศชื่อนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศไทย