posttoday

8 วันอันตราย!! การเมืองฉุดมาร์เก็ตแคปวูบ 3.2 แสนล้าน

24 พฤษภาคม 2566

เพียง 8 วันเท่านั้น Market Cap. หุ้นไทยวูบ 3.2 แสนล้าน คิดเป็น -1.7% นโยบายการเมืองฉุดราคาหุ้นโรงไฟฟ้า-รถไฟฟ้า อ่วมสุด “น้าแดง บล.ลิเบอเรเตอร์”คาดจัดตั้งรัฐบาลฉายภาพชัดดึงต่างชาติคัมแบค เชียร์ 3 กลุ่มหุ้นน่าสะสม

นับตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค.2566 ก่อนเลือกตั้ง 2 วัน หรือแค่ 8 วันทำการของตลาดหลักทรัพย์ พบว่า มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization หรือ Market Cap.) ของตลาดหุ้นไทย ตั้งแต่วันที่ 12-23 พ.ค.2566 ลดลง 327,454.73 ล้านบาท หรือลดลงราว 1.7%

8 วันอันตราย!! การเมืองฉุดมาร์เก็ตแคปวูบ 3.2 แสนล้าน

“น้าแดง-จรูญพันธ์ วัฒนวงศ์” หัวหน้าฝ่ายวิจัย บล.ลิเบอเรเตอร์ กล่าวกับ "โพสต์ทูเดย์" ว่า หลังจากเลือกตั้งสำเร็จเสร็จสิ้น ทุกคนเริ่มเห็นผลลางๆว่าคนที่จะเป็นแกนนำจัดตั้ง นั่นก็คือพรรคก้าวไกล ทำให้เริ่มประเมินนโยบายที่หาเสียงมาพิจารณาว่าบริษัทไหนจะได้รับผลกระทบทั้งเชิงบวกและลบ ซึ่งโทนที่ออกมาในมุมของพรรคก้าวไกลเป็นลักษณะการแก้ปัญหาต่างๆ ขณะที่โทนของพรรคเพื่อไทย มีลักษณะแนวบู๊กระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้นพอโทนออกมาทางพรรคก้าวไกลจึงทำให้หุ้นที่มีความสัมพันธ์กับแนวนโยบายของก้าวไกลมีความเคลื่อนไหว ซึ่งจะเห็นว่าหุ้นที่เกี่ยวเนื่องกับสัมปทาน หรือ ต้นทุนการใช้ชีวิตของคนปรับตัวลดลงทั้งหมด 

8 วันอันตราย!! การเมืองฉุดมาร์เก็ตแคปวูบ 3.2 แสนล้าน

"Market Cap. ตลาดหุ้นไทย ลดลงราว 2% ในช่วงระหว่างวันของวันที่ 15 พ.ค.2566 ก่อนที่จะมีการประกาศเซ็น MOU พรรคร่วมก้าวไกล แต่พอเริ่มเห็นภาพแถลง MOU ชัดเจน บวกกองทุนเริ่มเชื่อมั่น ประกอบกับพิธา ลิ้มเจริญรัตน์พร้อมทีมเข้าพบกับกระทรวงอุตสาหกรรม คนเริ่มตั้งสติได้ จากที่ ลดลง 2% กลับมาลดลง 1.5% เสมือนเป็นราคาความเสี่ยงที่ยังมีอยู่ Market Cap.อาจจะยังไม่สามารถกลับไปยืนระดับเดียวกับวันที่ 12 พ.ค.2566 จนกว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะมีความชัดเจนยิ่งขึ้น"

ทั้งนี้ นักกลยุทธ์ บล.ลิเบอเรเตอร์ประเมินกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหลังเลือกตั้ง พบว่า กลุ่มที่ราคาหุ้นปรับตัวลดลงแรง คือ กลุ่มโรงไฟฟ้า อาทิ GULF ลดลง 8% GPSC ลดลง 5% และ BGRIM ลดลง 5% จากนโญบายของพรรคก้าวไกลพยายามลดเรื่องค่าไฟ

ขณะที่ กลุ่มที่เกี่ยวกับสัมปทาน อย่าง รถไฟฟ้าได้รับผลกระทบเช่นกัน อาทิ BEM ราคาลดลงราว 8% ถือเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรง สำหรับกลุ่มที่ไม่เกี่ยวกับสัมปทานแต่โดนตลาดโดยรวมฉุดราคาลดลง เช่น กลุ่มท่องเที่ยว โรงแรม ไฟแนนซ์ ราคาโดนกระทบทางอ้อมทำให้หุ้นราคาปรับตัวลดลงทั้งกระดาน

"ส่วนตัวมองว่านี่เป็นสัญญาณที่ดี เพราะถ้าสังเกตจะพบว่าหลังการเซ็น MOU ช่วงเย็นวันจันทร์ ที่ 15 พ.ค.2566 ในช่วงเช้าตลาดหุ้นลงมาหลุด 1,500 จุด แต่พอเวลา 11.00 น. ดัชนีค่อยๆฟื้นขึ้นมาจนยืนเหนือ 1,500 จุดได้สำเร็จ ผลจากกระแสข่าวดีลลับฮ่องกง หากดีลดังกล่าวเกิดขึ้นจริง โทนจะกลายเป็นว่าเพื่อไทยจะพลิกมาเป็นแกนนำ และเป็นแนวบู๊ กระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งตลาดหุ้นชอบแนวนี้จึงฟื้นขึ้นมาได้ แต่ในช่วงแถลงเซ็น MOU ทางเพื่อไทยได้ปฏิเสธข่าวดังกล่าว" 

ทำไม ? กองทุนซื้อไม่หยุด

นี่เป็นอีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะในวันที่ 16 พ.ค.2566 กองทุนซื้ออีก 4,300 ล้านบาท ซึ่งส่วนตัวตีความว่ากองทุนอาจเริ่มมองถึงความเป็นไปได้ในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ทาง สมาชิกวุฒิสภาเริ่มมีบางท่านจะยกมือให้ทางก้าวไกลถือเป็นเทรนด์ที่ดี คล้ายๆว่านักลงทุนสถาบันอาจจะมองว่าเรื่องดีลลับหากไม่เกิดขึ้นก็ไม่เป็นไร แต่ว่าการฟอร์มตัวและโทนการสนับสนุนเริ่มดี นักลงทุนสถาบันจึงซื้อติดต่อกันเป็นวันที่ 2 

อีกทั้ง วานนี้(23 พ.ค.2566) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พร้อมทีมเศรษฐกิจและพรรคมร่วมบางท่านพูดคุยกับสภาอุตสาหกรรมมีสัญญาณค่อนข้างดี เห็นได้จากหุ้นนิคมอุตสาหกรรม นำโดย WHA , AMATA ปรับตัวเพิ่มขึ้นยกแผง แสดงว่าเริ่มเห็นความเชื่อมั่นของเอกชนมากขึ้น  

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นเริ่มตั้งสติได้ในสิ่งที่กังวลเรื่องสัมปทานต่างๆ แต่ความจริงเรื่องสัมปทานก็มีข้อดีตรงที่ถูกปกป้องด้วยสัญญาสัมปทาน ดังนั้นการที่จะเปลี่ยนสัญญาสัมปทานถือเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก และว่าที่รัฐบาลต้องมองด้วยว่า นักลงทุนต่างชาติเฝ้ามองเราอยู่ การที่จะไปหั่นค่าไฟให้ลดลงแรง FDIต่างชาติอาจมองว่าประเทศไทยลงทุนได้หรือไม่ ดังนั้นว่าที่รัฐบาลต้องชั่งใจว่าจะทำได้ขนาดไหน

ซึ่งในมุมของ บล.ลิเบอเรเตอร์มองว่าการปรับเปลี่ยนสัมปทานไม่ได้ง่าย แต่ถ้าจะเกิดคาดว่าจะเกิดในฝั่งของสัมปทานใหม่ๆ โรงไฟฟ้าและรถไฟฟ้าสัญญาใหม่มากกว่า ซึ่งหากติดกระดุมเม็ดแรกถูกจะง่ายกว่าการแก้ของเดิม หรือหากแม้จะแก้ของเดิมอาจต้องเป็นลักษณะที่ไม่เสียหาย สมมุติกรณีรถไฟฟ้าการจะกดราคาให้ถูกมาก ผู้ประกอบการเสียหาย และผิดสัญญาสัมปทาน ซึ่งวิธีแก้คือสมมุติปรับราคาลงมา ผู้ประกอบการเสีย แต่ยืดอายุสัมปทานออกไป แบบนี้อาจจะพอเจรจากันได้ 

ตลาดดึงสติ สะสมหุ้น

ดังนั้นพอตลาดเริ่มตั้งสติได้ว่า นโยบายบางอย่างอาจจะทำไม่ได้เต็มที่เหมือนช่วงหาเสียงแต่พอมีวิธีการที่จะบาลานซ์ทุกๆฝ่าย แล้วยิ่งคุณสารัช  รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ช้อนซื้อหุ้นติดต่อกัน 3 วัน เหมือนเป็นการตอกย้ำความคิดที่ว่าสถานการณ์อาจไม่แย่อย่างที่คิด ฝ่ายวิเคราะห์มองว่าตลาดน่าจะหายแพนิคและแกว่งตัวไซต์เวย์และหากทุกอย่างออกมาในทางที่ดีตลาดจะปรับตัวดีขึ้น 

จุดสังเกตุอีกเรื่อง Market Breadth Indicator คือการนับหุ้นที่เป็นนิว ไฮ กับ นิว โลว์ ซึ่งตามสถิติตลาดหุ้นไทยเมื่อไหร่ที่มีหุ้นทำโลว์ใหม่เกิน 20-30% โอกาสจะเป็น Bottom ของตลาดและจะมีการกลับตัวขึ้นได้ ซึ่งเรื่องนี้ได้เกิดขึ้นในวันที่ 15 พ.ค.2566 ที่ผ่านมา มีจำนวนหุ้นทำนิวโลว์ 26.3% ดังนั้นนักวิเคราะห์ทางเทคนิคมองว่าน่าจะเป็น Bottom ของรอบได้เช่นกันซึ่งสอดคล้องกับมุมมองนักกลยุทธ์ ดังนั้นการลงทุนช่วงนี้มองว่าไม่น่ากลัว สามารถซื้อสะสมได้ แต่อย่าลืมว่า Set Index เล่นภาพขาลง เพราะดัชนีในปัจจุบัน อยู่ที่ 1,537 จุดถือว่าต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน ที่ระดับ 1,607 จุด

3 กลุ่มหุ้นน่าสน

ดังนั้นนักลงทุนต้องคุมน้ำหนักการเทรดให้ดี อย่าใส่หุ้นเต็ม 100% ยังไว้ใจไม่ได้ แม้สัญญาณบางอย่างจะบ่งบอกว่าดัชนีฃถึงจุด Bottom แล้ว แต่อย่าลืมว่าตอนนี้ยังเล่นอยู่ในช่วงขาลง อาจต้องเลือกหาหุ้นที่ไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับความกังวลของเศรษฐกิจหรือนโยบายมาก

ทั้งนี้ ฝ่ายวิเคราะห์มองว่ากลุ่มท่องเที่ยวเป็นหุ้นที่ดี หากสังเกตุนโยบายจะเห็นว่าไม่มีในทางลบ ดังนั้นหากหุ้นท่องเที่ยวปรับตัวลดลงซื้อได้ อาทิ AOT, SPA, MINT ในไตรมาส 2/66 เข้าช่วงไฮซีซันของโรงแรมในยุโรป บวกยอดขายอาหารดี เทรดพี/อี 29 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่ม 24% ถือว่า Valuation ค่อนข้างถูก ราคาเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ อยู่ที่ 42 บาท  

ส่วนหุ้นที่ได้ประโยชน์ทางอ้อมจากการขึ้นค่าแรง 450 บาทต่อวัน มองอีกมุมคือ กำลังซื้อของคนมาแน่ กำลังผ่อนสินค้าก็มี ซึ่งหุ้นไฟแนนซ์ถือว่าน่าสนใจ ฝ่ายวิเคราะห์เริ่มเห็นสัญญาณที่น่าพอใจ อย่าง หุ้น TIDLOR ช่วงไตรมาส 4/2565 ส่งสัญญาณต่อตลาดเลยว่าตัวเลข NPL หนักหน่วง แต่ปรากฎว่าพอประกาศงบฯตัวเลข NPL กลับลดลงถือว่ามีสัญญาณที่ดี หากได้เรื่องการขึ้นค่าแรงมาช่วยอีก นักลงทุนจะสบายใจเรื่อง NPL มากขึ้น และ หุ้นกลุ่มไฟแนนซ์จะกลับมาคึกคัก แม้ว่าในวันที่ 31 พ.ค.2566นี้ ทาง กนง.อาจจะพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยแต่มองว่าตลาดหุ้นน่าจะตอบรับประเด็นนี้ไปแล้วจึงไม่น่ากังวล ดังนั้นกลุ่มท่องเที่ยว และไฟแนนซ์มองว่าน่าสนใจ 

"กลุ่มที่เกี่ยวกับนโยบายและราคาหุ้นทรุดตัวลงมา อาจจะไม่น่ากลัวแต่ถามว่าจะลุยเต็มข้อหรือไม่ ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน ดังนั้นกลุ่มโรงไฟฟ้า หรือสัมปทาน อาจจะเน้นเทรดดิ้งตามข่าวได้"  

ทำไม ? ต่างชาติยังขายต่อ

ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ กรณีที่ต่างชาติขายออกมา เพราะภาพการเมืองไม่ชัดจึงขายออกมา แต่หากภาพชัด ทุกอย่างสามารถเดินได้ ให้ดูหุ้นกลุ่มธนาคาร เพราะในมุมนักลงทุนต่างชาติเวลาจะซื้อไม่ใช่การเลือกหุ้นรายตัวแต่ส่วนใหญ่มองเป็นประเทศไทยหากภาพดีก็เข้าซื้อ อย่างหุ้นแบงก์ไทย เทรด P/BV เพียง 0.6 เท่า และกลุ่มแบงก์ในมุมต่างชาติมองเป็นตัวแทนของเศรษฐกิจไทย ถ้ามองไทยดีก็ฝากเงินเข้า เพราะงั้นแบงก์เป็นตัวแทนของประเทศไทย หากเทียบแบงก์ในต่างประเทศ เทรด P/BV มากกว่า 1 เท่า ถือว่าแบงก์ไทยมีราคาถูก บวกเป็นตัวแทนประเทศไทย และ กนง.จ่อขึ้นดอกเบี้ยอีก ดังนั้นแบงก์ใหญ่ที่ฐานเงินฝากจำนวนมากและเป็นแบงก์ใหญ่ จะได้รับปัจจัยบวกจากการขึ้นดอกเบี้ย 

นอกจากนี้ สิ่งที่น่าสังเกตุจากกระดาน NVDR ซึ่งอาจใช้เสมือนตัวแทนนักลงทุนต่างชาติ ในวันที่ 22 พ.ค.2566 หุ้นแบงก์เป็นฝั่ง net buy และติด Top 3 ของกระดาน NVDR ขณะที่วันที่ 23 พ.ค.2566 หุ้นธนาคาร ซื้อสุทธิ 989 ล้านบาท นั่นอาจเป็นสัญญาณที่ดี