posttoday

DBSV ชี้เงินสะพัดเลือกตั้ง-ท่องเที่ยวฟื้น ดันหุ้นไทยขึ้นช่วงสั้น

24 เมษายน 2566

DBSV ชี้เงินสะพัดเลือกตั้ง 1-1.2 แสนล้าน ท่องเที่ยวฟื้น หนุนตลาดหุ้นไทยระยะสั้น มองเศรษฐกิจเอเชียฟื้นตัว จากจีนเปิดประเทศ แนะเพิ่มน้ำหนักตลาดหุ้นเอเชีย และตราสารหนี้

นางสาวอาภาภรณ์ แสวงพรรค ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด (DBSV) เปิดเผยในงานสัมมนา "เจาะตลาดหุ้นไทย & เทศ กับเซียนหุ้น & นักวิเคราะห์ชั้นนำ" ว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยยังมีความผันผวน โดยระยะสั้นมีปัจจัยหนุนจากเงินสะพัดจากการหาเสียงเลือกตั้ง ราว 1-1.2 แสนล้านบาท

ประกอบกับภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และยังได้ปัจจัยบวกจากแนวคิดตลาดหลักทรัพย์ที่จะเสนอกระทรวงการคลัง ปัดฝุ่นนำกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund หรือ LTF ) กลับมาใช้ เพื่อให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี กระตุ้นให้เกิดการลงทุน 

อย่างไรก็ตาม ระยะกลาง และระยะยาว ตลาดหุ้นไทยยังเปราะบาง มีหลายปัจจัยลบรุมเร้าที่คอยกดดัน ปัจจัยภายนอก เช่น ปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินในสหรัฐ และยุโรป ที่ทำให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนเข้าถึงสินเชื่อได้ยากขึ้น และปัญหาเงินเฟ้อ ถ้าลดลงช้าก็อาจทำให้ดอกเบี้ยทรงตัวในระดับสูงนานกว่าคาด เศรษฐกิจสหรัฐ และยุโรปชะลอตัว และอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยในระยะต่อไป

ทั้งนี้ เฟดปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐปี 2023 จากเดิม 0.5% เป็น 0.4% และ ปี 2024 เดิม 1.6% เหลือ 1.2% ซึ่งความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลกจะกระทบต่อภาคการส่งออก และภาคท่องเที่ยวของไทยตามไปด้วย นอกจากนั้นยังมีความเสี่ยงจากปัญหาประเทศฐานะการคลังที่อ่อนแอ มีหนี้สินอยู่ในระดับสูง ต้องเผชิญภาระดอกเบี้ยจ่ายมากในช่วงดอกเบี้ยแพง รวมทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ยืดเยื้อ และโรคระบาด 

ขณะเดียวกัน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยแบบ K-Curve และเศรษฐกิจโลกชะลอตัว อาจส่งผลต่อความเสี่ยง NPL และตั้งสำรอง ECL สูงในระบบสถาบันการเงิน รวมถึงต้องติดตามการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งว่าจะใช้เวลามากกว่าคาดหรือไม่ ถ้าใช้เวลานานก็จะทำให้เกิดสูญญากาศทางการเมือง การลงทุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนจะล่าช้าออกไป นอกจากนี้ การขึ้น-ลงของหุ้น DELTA ก็มีผลต่อทิศทางการเคลื่อนไหวของดัชนี เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยผันผวน

นางสาวอาภาภรณ์ ระบุว่า ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คือ ผลเลือกตั้ง และการจัดตั้งรัฐบาล ราคาน้ำมัน เงินเฟ้อ และทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐ ยุโรป จีน อาเซียน และไทย  สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในช่วงนี้  ควรเน้นเก็งกำไรระยะสั้นไปก่อน ส่วนการซื้อลงทุนระยะกลาง-ยาว แนะนำให้รอสะสมหุ้นพื้นฐานดีจังหวะราคาหุ้นอ่อนตัว

โดยมี 7  ธีมเล่นสั้น และ ลงทุนยาว ที่น่าสนใจ ประกอบด้วย 1.ธีมหุ้นได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยใกล้จะถึงจุดสูงสุด (Peak)  2.ธีมราคาก๊าซ & ราคาถ่านหินร่วงแรง โดย หุ้นที่คาดว่าจะได้ประโยชน์ คือ กลุ่มโรงไฟฟ้า, วัสดุก่อสร้าง บรรจุภัณฑ์ 3.ธีมท่องเที่ยวฟื้นตัว 4.ธีมเงินสะพัดจากการหาเสียงเลือกตั้ง 5.ธีมหุ้นที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศแปรปรวน (Climate Change) 6.ธีมสังคมสูงวัย (Aging Society และ 7.ธีมความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) 

นายธนวัฒน์ ปัจฉิมกุล ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนต่างประเทศ กล่าวว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มที่จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยคาดว่าจะปรับขึ้นเพียง 0.25% แทนที่จะปรับขึ้น 0.50% เนื่องจากปัญหาในกลุ่มธนาคาร ขณะที่เงินเฟ้อเริ่มแผ่วลง แต่ยังคงสูงอยู่ในหลายประเทศโดยเฉพาะชาติตะวันตก ทำให้แนวนโยบายการเงินยังคงเป็นแบบเข้มงวด

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจ มองว่าระบบการเงินสหรัฐและโลกน่าจะมีความแข็งแรงเพียงพอในการรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น ยังต้องให้ความสำคัญกับการคุมเงินเฟ้อ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเอเชียยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยประเมินว่าเศรษฐกิจจีนปีนี้โตดีกว่าที่เคยคาดไว้ จากนโยบายเปิดประเทศและมาตรการหนุนเศรษฐกิจ ส่งผลให้เศรษฐกิจในเอเชียได้แรงหนุนจากการขยายตัวเศรษฐกิจจีนไปด้วย

ดังนั้นแนะนำ “Overweight” หุ้นเอเชีย โดยปัจจัยบวกคือการเปิดประเทศของจีน การใช้นโยบายหนุนบริษัทกลุ่ม platform และหนุนการบริโภคในประเทศ แต่โดยรวมแล้ว ยังให้ “Neutral” กับหุ้นโลกและหุ้นสหรัฐ เพราะดอกเบี้ยสูงอีกนานเป็นตัวถ่วง ส่วนตราสารหนี้ ยังคง Overweight เนื่องจากอัตราผลตอบแทนหรือ Yield ตราสารหนี้เอกชนเกิน 5% นับเป็นแหล่งสร้างรายได้ที่สม่ำเสมอ ช่วยลดความผันผวนพอร์ต

“แนวโน้มเศรษฐกิจยังไม่ชัดเจน แต่ราคาตราสารหนี้และหุ้นอยู่ในระดับต่ำแล้ว ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่จะโยกเงินเข้ามาลงทุน โดยแนะนำให้ลดน้ำหนักหุ้นสหรัฐลงเหลือ 50% จาก 56%, เพิ่มยุโรปเป็น 14% (จาก 8%), ลดญี่ปุ่นเหลือ 10% (จาก 12%), เพิ่ม Asia ex-Japan เป็น 26% จาก 24%” นายธนวัฒน์ กล่าว

ส่วนธีมเด่น ยกหุ้นในกลุ่ม Cybersecurity ซึ่งถือเป็น ธีมลงทุนระยะยาว ที่มีแนวโน้มเติบโตสูง ในยุคที่เศรษฐกิจเข้าสู่การเป็นดิจิทัล ทำให้บริษัทต่างๆ เพิ่มการใช้จ่ายด้าน Cybersecurity เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการโจมตีทางไซเบอร์ โดยการสำรวจล่าสุดพบว่า ประมาณ 70% ของบริษัท มีแผนเพิ่มค่าใช้จ่ายด้าน Cybersecurity เทียบกับ 55% ในปีก่อนหน้า

โดยแนะนำบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ เนื่องจากบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ได้เปรียบจากฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง นำเทคโนโลยีด้าน Cybersecurity มาต่อยอด ขายให้กับฐานลูกค้าทั่วโลกโดยตลาดเอเชีย แปซิฟิค เป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพเติบโตสูง เพราะมีการใช้ข้อมูลและระบบออนไลน์สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก

ส่วนปัจจัยความเสี่ยงที่ต้องระวังคือความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน, การเปลี่ยนแปลงนโยบายรัฐบาล, การเมืองระหว่างประเทศ, เทคโนโลยี, สภาวะเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม

ด้านนายสมบัติ เอกวรรณพัฒนา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด  กล่าวว่า การเลือกตั้งของไทยในปี 2566 จะกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ ประมาณ 1.0-1.2 แสนล้านบาท ในไตรมาส 2/2566 หรือคิดเป็น 0.5%-0.7% เมื่อเทียบกับ GDP จากการประเมินของ ม.หอการค้าไทย (UTCC)  

โดยหุ้นที่ได้รับปัจจัยบวกจากการเลือกตั้ง คือ AOT, CPN, AMATA, SIRI, SC, ADVANC, CPALL, BDMS, STEC และ SAWAD    

ขณะที่ นายพงศ์ภัทร สิริพิพัฒน์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส กล่าวว่า SET50 การปรับตัวขึ้นยังไม่พ้น 970-980 พักฐานลงมา มีแนวรับหลักที่ 940-930 ต้องไม่หลุดต่ำกว่าจึงจะพักฐานสั้น หากหลุดต่ำกว่าจะเปลี่ยนทิศทางเป็นลงระวังการทดสอบ 900 หรือต่ำกว่าได้ ดูที่บริเวณแนวรับเป็นหลัก หากไม่ลงหลุดต่ำกว่าจะเป็นการสร้างฐานทดสอบแนวต้านอีกครั้ง ผ่านได้จะมีแนวต้าน 1000/1020 ตอนนี้แกว่งตัวรอการเบรก

ขณะที่ทองคำ เป็นการแกว่งตัวขึ้นทดสอบจุดสุดเดิมที่ 2050-2070 ระยะสั้นหากจะเป็นการแกว่งตัวขึ้นต้องไม่หลุดต่ำกว่า 1975/1950 จะเป็นการพักฐานไม่นานเพื่อรอทดสอบอีกครั้ง ส่วนการลงหลุดต่ำกว่าระวังเป็นการแกว่งตัวลง

ส่วนค่าเงินบาท ทิศทางระยะสั้นเป็นการอ่อนค่าเพื่อทดสอบแนวต้าน 35/35.5 หากยังไม่หลุดต่ำกว่า 34 ยังไม่เปลี่ยนทิศทาง

นายสมนึก จันทร์รัสมี ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์มุมมองทางเทคนิค บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส กล่าวว่า ภาพระยะกลาง สถานะของ SET Index ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ใน “ทิศทางขาลง” (จนกว่าจะยืนเหนือระดับ 1750 จุด) ดังนั้นการปรับขึ้นใดๆ ของ SET Index ที่อยู่ใต้ตัวเลขนี้ จึงมีสถานะเป็นแค่การ “รีบาวด์ทางเทคนิค” เท่านั้น

ระยะสั้นดูเหมือนว่า SET Index จะสูญเสียภาพของการรีบาวด์ฯ ไป (จากการที่เคลื่อนตัวที่“ต่ำกว่า 1600  จุด”) ซึ่งหากยังไม่สามารถกลับมา“ยืนเหนือ”ระดับดังกล่าว ก็จำเป็นอย่างยิ่งว่าตลาดฯจะลงมาสร้างฐานในตำแหน่ง 1500 จุดลงมา (หรือ“1450-1400” หรือ “ต่ำกว่า” ได้อีกด้วย)

สำหรับกลยุทธ์การเก็งกำไร กรณี “SET INDEX” สูงกว่า 1600 จุด ให้เน้น “ซื้อค่าบวก” เพื่อลุ้น/รอขาย ที่แนวต้าน 1650+/- (หรือไม่เกิน 1700 จุด) ส่วนกรณี “SET INDEX”ต่ำกว่า 1600  จุด ให้เน้น “ซื้ออ่อนตัว” โดยเฉพาะกับ “ตำแหน่งที่ 1500 จุด” ลงมา ซึ่งหมายถึง 1500, 1450-1400 หรืออาจต่ำกว่า 1400 จุดได้อีก