posttoday

ตลท.ชี้ปัจจัยกดดันตลาดหุ้นไตรมาส 2 ลดลง

05 เมษายน 2566

ตลท.มองปัจจัยกดดันตลาดหุ้นไตรมาส 2 ลดลง เร่งศึกษาปรับปรุงหลักเกณฑ์ หลังเกิดกรณี DELTA ส่วน SET มี.ค.ลดลง 0.8% ต่างชาติขายสุทธิเป็นเดือนที่ 2 เฉพาะเดือน มี.ค. ต่างชาติขายสุทธิ 31,494 ล้านบาท

ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ในปี 2566 เป็นปีแห่งความผันผวน โดยมีทั้งความเสี่ยงและโอกาส ดังนั้นจะต้องติดตามสถานการณ์ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเงินเฟ้อ ราคาน้ำมัน และภูมิรัฐศาสตร์

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งขึ้น แม้ว่าในปีนี้ผลกระทบจากการส่งออกจะมีมากขึ้น แต่ภาคบริการของไทยมีการฟื้นตัว ทั้งในส่วนของการท่องเที่ยว อาหาร และโรงแรม กลับมาดีขึ้น ดังนั้นจะต้องมีการพิจารณาเป็นอุตสาหกรรมและรายบริษัท

ส่วนแนวโน้มตลาดหุ้นในไตรมาส 2/2566 นั้น ปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนมีการฟื้นตัวค่อนข้างมาก บางอุตสาหกรรมฟื้นตัวดี บางอุตสาหกรรมยังไม่ฟื้นตัวเท่ากับก่อนโควิด-19 และความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ยังไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เพราะเป็นความเสี่ยงที่เห็นมาตลอดในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา 

“โจทย์คือจะดีขึ้นเมื่อไร แต่มองว่าผ่านจุดที่ไม่คาดคิดไปแล้ว ปัจจัยหลายอย่างค่อยๆ ปรับตัวทั้งดอกเบี้ย สภาพคล่อง สงครามรัสเซีย-ยูเครยน โควิด-19 ก็ดีขึ้นแล้ว ทุกเรื่องความรุนแรงเริ่มน้อยลง กำลังกลับเข้าสู่ความเป็นปกติมากขึ้น” ดร.ภากร กล่าว 

ส่วนกรณีหุ้น บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA ขึ้นลงแรง ส่งผลต่อภาพรวมดัชนีตลาดหุ้นไทยนั้น กรณีนี้ไม่ใช่กรณีแรก ในอดีตมีกรณีเช่นนี้ ดังนั้นตลาดหลักทรัพย์ฯ กำลังหาทางแก้ปัญหา โดยอยู่ระหว่างศึกษาการปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้ดีขึ้น โดยจะต้องมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยจะทำให้กระทบกับคนที่ไม่เกี่ยวข้องน้อยที่สุด แต่สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากที่สุด

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลท. กล่าวว่า จากการขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วของธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ส่งผลถึงวิกฤติในธนาคารบางรายในสหรัฐและยุโรป ธุรกิจธนาคารกำลังเผชิญกับความท้าทายอย่างมากจากกรณีผู้ลงทุนและผู้ฝากเงินขาดความเชื่อมั่นในความแข็งแกร่งของธนาคาร อย่างไรก็ตาม หน่วยงานภาครัฐและธนาคารกลางได้เข้ามาให้ความช่วยเหลืออย่างรวดเร็วเพื่อไม่ให้ลุกลามในวงกว้าง 

นอกจากนี้ สถานการณ์ปัจจุบันยังแตกต่างจากช่วงวิกฤติ subprime ในปี 2008 โดยปัจจุบันธนาคารเรียนรู้จากบทเรียนในอดีตทำให้มีการบริหารความเสี่ยง และถูกกำกับดูแลโดยภาครัฐอย่างเข้มงวดมากขึ้น แม้ปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลต่อตลาดหุ้นทั่วโลกแต่ตลาดหุ้นไทยยังแข็งแกร่งจากปัจจัยภายในประเทศ และเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง

ในเดือน มี.ค.2566 มีเงินลงทุนเคลื่อนย้ายออกจากตลาดหุ้นหลายแห่งในภูมิภาค รวมถึงตลาดหุ้นไทยที่ผู้ลงทุนต่างชาติพลิกกลับมาขายสุทธิเป็นเดือนที่ 2 จากที่เคยซื้อสุทธิต่อเนื่อง ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าสอดคล้องกับทิศทางการส่งออกที่ชะลอตัว 

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชน ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเริ่มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงกลางปีนี้ อีกทั้งระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ โดยปัญหาสถาบันการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลัก ในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้ส่งผลต่อระบบการเงินไทยอย่างมีนัยสำคัญทำให้เห็น Fund Flow ไหลมายังตลาดพันธบัตรไทย

สำหรับภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือน มี.ค.2566 SET Index ปิดที่ 1,609.17 จุด ปรับลดลง 0.8% จากเดือนก่อนหน้า โดยปรับไปในทิศทางเดียวกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นใน ASEAN และปรับลดลง 3.6% เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อนหน้า 

โดยในเดือน มี.ค.2566 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2565 ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค

ขณะเดียวกัน ในเดือน มี.ค.2566 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 61,250 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า 35.9% ผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิเป็นเดือนที่ 2 หลังจากซื้อสุทธิ 4 เดือนติดต่อ โดยในเดือน มี.ค.2566 ผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 31,494 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ผู้ลงทุนต่างประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11

ทั้งนี้ ในเดือน มี.ค.2566 มีบริษัทเข้าจดทะเบียนใหม่ซื้อขายใน SET 1 หลักทรัพย์ ได้แก่ บริษัท พีอาร์ทีอาร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ PRTR และใน mai 2 หลักทรัพย์ ได้แก่ บริษัท อิทธิฤทธิ์ ไนซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ITTHI และ บริษัท เด็กซ์ซอน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ DEXON

ขณะที่ Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือน มี.ค.2566 อยู่ที่ระดับ 15.5 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 12.4 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 19.6 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 13.7 เท่า

ด้านอัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือน มี.ค.2566 อยู่ที่ระดับ 2.91% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.24%

ส่วนภาวะตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในเดือน มี.ค.2566 ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 709,392 สัญญา เพิ่มขึ้น 30.4% จากเดือนก่อน ที่สำคัญจากการเพิ่มขึ้นของ SET50 Index Futures และ SET50 Index Options และในช่วง 3 เดือนของปี 2566 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน  597,179 สัญญา ลดลง 5.6% จากปีก่อน