posttoday

เปิดเบื้องหลัง 2 ชื่อสุดท้ายชิงดำ เลขา ก.ล.ต. ชงคลังฯ เหลือ 1 คน ส่ง ครม.ไฟเขียว

04 เมษายน 2566

เปิดเบื้องหลังชิงเก้าอี้เลขาธิการ ก.ล.ต. หลังบอร์ดเคาะ 2 รายชื่อ ส่งต่อ ก.คลัง วันเดียวกัน เพื่อให้รัฐมนตรีพิจารณาให้เหลือ 1 ราย ก่อนเสนอต่อ ครม.อนุมัติแต่งตั้งเป็นเลขา ก.ล.ต. ต่อไป ให้ทันวันที่ 1 พ.ค.นี้

ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการพิจารณาคัดเลือกเป็นบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 7-27 ก.พ.2566 ที่ผ่านมา ปรากฏว่าระหว่างการเปิดรับสมัคร มีรายชื่อทั้งคนนอกและคนในโดดร่วมวงชิงเก้าอี้เป็นจำนวนมาก 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 31 มี.ค.2566 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้มีการพิจารณาคุณสมบัติและประเมินให้คะแนนผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต.จำนวน 5 ราย เป็นคนใน 2 ราย

ประกอบด้วย 1. “รื่นวดี สุวรรณมงคล” เลขาธิการ ก.ล.ต. คนปัจจุบัน หมดวาระวันที่ 30 เม.ย.2566 และ 2. “วรัชญา ศรีมาจันทร์” รองเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. สมัยปัจจุบัน 

ส่วนอีก 3 ราย เป็นคนนอก ประกอบด้วย 1. “รศ.ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล” หัวหน้าภาควิชาการธนาคารและการเงิน / ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการกำกับดูแลกิจการ / อาจารย์ประจำภาควิชาการเงินและการธนาคาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเคยเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ถึง 2 สมัย คือ 8 เม.ย.2557-24 ก.ค.2561 และ 25 ก.ค.2561-19 ก.ค.2564

2. “มนตรี ศรไพศาล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วิสดอม แคปปิตอล พาร์ทเนอร์ส จำกัด และอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันชื่อ บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และ 3. “ปิยะศักดิ์ โชติพฤกษ์” กรรมการอิสระ, กรรมการตรวจสอบ บริษัท เอ็นฟอร์ซ ซีเคียว จำกัด (มหาชน) หรือ SECURE

ผลปรากฏว่า รายชื่อผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 2 ราย คือ "วรัชญา ศรีมาจันทร์" และ "รศ.ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล" ไม่ปรากฏชื่อเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต.คนปัจจุบันอย่าง “รื่นวดี สุวรรณมงคล”        

ทั้งนี้ ขั้นตอนการสรรหาว่าที่เลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. ดังกล่าว เป็นการแก้ระเบียบการสรรหาเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. ล่าสุด ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยที่ นายวรวิทย์ จำปีรัตน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ (1 ต.ค.2554-30 ก.ย.2556) เป็นประธานกรรมการ ก.ล.ต. ในระหว่างวันที่ 15 ก.ย.2558-1 มิ.ย.2563 

โดยระเบียบการสรรหาเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต.ดังกล่าว ได้ให้อำนาจเต็มแก่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการลงคะแนนเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต จำนวนไม่เกิน 2 ราย 

ขณะที่ขั้นตอนก่อนได้บุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต จำนวน 2 ราย ดังกล่าว ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูล พบว่า แม้ในประกาศ เรื่อง การรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการพิจารณาคัดเลือกเป็นบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นเลขาธิการ ก.ล.ต. ได้ระบุว่า

“คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนดวิธีการเปิดรับรายชื่อบุคคลเพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นเลขาธิการ 2 วิธีการ ได้แก่ (1) การเปิดรับสมัครเป็นการทั่วไปตามประกาศนี้ และ (2) การเสนอชื่อโดยกรรมการ ก.ล.ต. โดยแต่ละคนมีสิทธิเสนอชื่อไม่เกินคนละ 1 รายชื่อ” 

แต่ปรากฏว่า กรรมการ ก.ล.ต. ไม่มีการเสนอชื่อผู้ใดตามสิทธิที่สามารถเสนอชื่อไม่เกินคนละ 1 รายชื่อ ดังกล่าว โดยผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 2 ราย คือ "วรัชญา ศรีมาจันทร์" และ "รศ.ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล" ได้เข้ามาสมัครด้วยตนเองเป็นการทั่วไปตามประกาศนี้ 

จากนั้นทางผู้สมัครต้องส่งเอกสารแสดงวิสัยทัศน์ด้านการกำกับและพัฒนาตลาดทุนและด้านการบริหารจัดการองค์กร เป็นภาษาไทย โดยยื่นเป็นเอกสารขนาด A4 จำนวน 4 หน้ากระดาษ หลังจากนั้นได้เชิญผู้สมัครเข้ามาแสดงวิสัยทัศน์ต่อคณะกรรมการ ก.ล.ต.

ก่อนพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นเลขาธิการ ก.ล.ต เหลือ 2 ราย และเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณาให้เหลือ 1 ราย หลังจากนั้นเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาแต่งตั้งเป็นเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. และประกาศราชกิจจานุเบกษาต่อไป 

อย่างไรก็ตาม ตั้งข้อสังเกตว่า 2 รายชื่อ เพิ่งผ่านการพิจารณาคัดเลือกจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2566 และมีการส่งไปยังกระทรวงการคลังภายในวันเดียวกันหลังจากสัมภาษณ์รอบสุดท้ายโดยบอร์ด 

ต่อจากนี้ จึงต้องจับตาว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเสนอชื่อใครจาก 1 ใน 2 ราย ดังกล่าว ไปยัง ที่ประชุมครม. อย่ากระพริบตา