posttoday

“โรงแรมดาราเทวี” ร้อนระอุ ผู้ถือหุ้น IFEC ไม่มั่นใจ 13 ก.พ. มาชำระเงินตามนัด

08 กุมภาพันธ์ 2566

ผู้ถือหุ้น ”อินเตอร์ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น” หรือ IFEC เผยถึงความคืบหน้ากรณีการประมูลโรงแรมหรู "ดาราเทวี เชียงใหม่" ที่เคาะราคาอย่างดุเดือดไปถึง 69 ครั้ง จบที่ราคา 3,594.62 ล้านบาท คาด 13 ก.พ. นี้ ไม่มาตามนัดชำระเงินให้กับกรมบังคับคดี

นางสาวเยาวลักษณ์ ฤทธิ์สมจิตต์ ในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัท อินเตอร์ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการประมูลโรงแรมหรู "ดาราเทวี เชียงใหม่" ที่เคาะราคาอย่างดุเดือดไปถึง 69 ครั้ง จบที่ราคา 3,594.62 ล้านบาท โดยมี I Thermal ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น (IFEC) เป็นผู้ชนะการประมูลขณะที่ IFEC เป็นบริษัทแม่ของ บริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด ซึ่งเดิมเป็นเจ้าของกิจการโรงแรมดาราเทวี เชียงใหม่ 

 

ทั้งนี้มองว่า การเข้าประมูลโรงแรมดาราเทวี เชียงใหม่ ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2566 ที่บริษัท IThermal บริษัทย่อยของ IFEC เป็นพฤกรรมที่เกิดจากจากกระบวนการดำเนินงานที่ไม่ถูกต้องของ IThermal ทั้งๆที่เคยชนะการประมูลไปแล้วในครั้งแรกแต่ไม่ยอมชำระเงิน จนถูกริบเงินมัดจำ 110 ล้านบาท มาชิงประมูลครั้งที่ 2 แข่งกับบริษัท เมฆสวัสดิ์ (ประเทศไทย) จำกัด จนชนะประมูลในราคา 3,590 ล้านบาท มากกว่าครั้งแรก 1,582 ล้านบาท และผู้ถือหุ้นกลุ่มนี้ก็ไม่เห็นด้วยในการประมูลซื้อโรงแรมดาราเทวี เชียงใหม่ มาตั้งแต่แรก


พร้อมต้องการจี้ให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ กลต.เร่งดำเนินการตรวจสอบในกรณีที่สอบถามถึงเรื่องที่บริษัท IFEC ใช้บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เทอมอล พาวเวอร์จำกัด หรือ I Thermal ซึ่งเป็นบริษัทย่อยเข้าไปลงทุนสูงถึง 2,016 ล้านบาท ซื้อโรงแรมดาราเทวี  จากการขายทอดตลาดของกรมบังคับคดี เมื่อช่วงการประมูลก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม ที่ผ่านมา 

 

อย่างไรก็ตามในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้ บริษัท ITHERMAL มีนัดชำระเงินที่เหลือให้กับกรมบังคับคดี จำนวน 3,590 ล้านบาท ซึ่งคาดการณ์ว่าจะไม่มีเงินนำมาชำระอย่างแน่นอน ทั้งนี้หากมองในมุมของกฎหมาย เจ้าหนี้ หรือบุคคที่มีส่วนได้เสียจากการซื้อขายครั้งนี้ ถ้าเจ้าพนักงานคดีมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายได้ระยะเวลาในการวางเงินตามที่ร้องขอ ผู้มีส่วนได้เสียต้องมีการยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้เพิถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานคดี ในส่วนของผู้ถือหุ้นที่ได้มีการเข้าร่วมและได้ให้อำนาจในการฟ้องร้องแทนผู้หุ้นอื่นๆ มีจำนวน 50 ราย มูลค่าสัดส่วนหุ้นอยู่ที่กว่า 100 ล้านบาท 

 

ขณะเดียวกันหากในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ หากสามารถนำเงินมาชำระได้ตามกำหนด มองว่าเป็นผลดี ซึ่งเงินที่ได้มาต้องนำชำระหนี้ในหนี้ก้อนใหญ่ของบริษัท IFEC โดยจะทำให้หนี้มีจำนวนลดลง แต่อย่างไรก็ตามจากพฤติการณ์ต่างๆในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา สังเกตได้ว่าไม่มีท่าที่จะนำเงินมาชำระเงิน ซึ่งจะเห็นได้จากเงินก้อนแรกที่จะต้องจ่าย 2,012 ล้านบาท ยังไม่ได้จ่าย แล้วหนี้จำนวนอีก 3,590 ล้านบาท ก็คาดว่าจะยังจะไม่ชำระได้แน่นอน

 

“13 ก.พ.นี้ ถ้า IFEC มาชำระจริง เป็นผลดีแน่นอนต่อเจ้าหนี้ เนื่องจากขายโรงแรมได้ จะได้เงินมาชำระหนี้ จะทำให้ยอดหนี้ลดลง และถ้าจะมีการฟื้นฟูเมื่อยอดหนี้ลดลง ก็มีเหตุให้อ้างต่อศาลได้ว่า มีช่องทางในการฟื้นฟู ตัดทรัพย์ขายบางส่วนได้เงินมา 3,500 กว่าล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนที่มาก เอาไปจ่ายหนี้ต่างๆ นั่นคือผลดี แต่ถ้าไม่จ่ายจะเป็นเรื่องใหญ่ ผลเสียเกิดขึ้นมากกว่า เพราะจะทำให้เห็นว่า ระบบการดำเนินงานที่ ตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. เห็นเป็นช่องที่ทำให้เกิดความเสียหายและเป็นมาหลายครั้งแล้ว”นางสาวเยาวลักษณ์ กล่าว ทิ้งท้าย