posttoday

โบรกฯ มองปีนี้กลุ่มแบงก์กำไร 8-13% จากดอกเบี้ยขาขึ้น พร้อมแนะหุ้นเด่น 5 ตัว

23 มกราคม 2566

บล. เอเซีย พลัส และ บล. ทรีนีตี้ วิเคราะห์กลุ่มธนาคารพาณิชย์กำไรเติบโต 8-13% โดยมีดอกเบี้ยขาขึ้นเป็นแรงหนุนสำคัญให้แบงก์ใหญ่ชิงความได้เปรียบ แนะตัวเด่น BBL KTB Tisco SCB และ KBANK

จากที่กลุ่มธนาคารพาณิชย์ได้แจ้งตัวเลขผลประกอบการต่อตลาดหลักทรัพย์ไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมีทั้งที่เป็นไปตามคาดหมายและสวนทางบ้าง แต่นักวิเคราะห์จากบริษัหลักทรัพย์ก็ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อหุ้นกลุ่มแบงก์อยู่ด้วยมองว่ายังมีปัจจัยเสริม เช่น ทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ที่ทำให้รายได้ของธนาคารยังเติบโตดี จนสามารถทำกำไรได้ในปีนี้

 

โดยภาสกร หวังวิวัฒน์เจริญ ผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส ได้ให้มุมมองต่อผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ในปี 2565 ว่า จากตัวเลขกำไรของ 8 ธนาคาร (กรุงเทพ กรุงศรีอยุธยา กรุงไทย กสิกรไทย เอสซีบีเอ็กซ์ ทหารไทยธนชาต และธนาคารเกียรตินาคินภัทร) ต่างเป็นอย่างที่ทางบล. เอเซีย พลัส คาดการณ์ไว้คืออยู่ที่รวม 1.96 แสนล้านบาท หรือเติบโต 9.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกับของปี 2564 จะมีก็เพียงธนาคารกสิกรไทยหรือ KBANK ที่ต่ำกว่าคาดไว้คือกำไรลดลง 6%

 

โดยกรณีของ KBANK เป็นผลจากค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง ที่สูงกว่าสมมุติฐานที่เคยประเมินไว้ ในลักษณะการบริหารจัดการสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) แบบเชิงรุกด้วยการตัดหนี้สูญออกจากบัญชี เพื่อลดความเสี่ยงในอนาคต นอกจากนี้ยังเป็นการตั้งสำรองเพื่อเตรียมพร้อมกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้นในปีนี้ โดยเฉพาะเมื่อมีทิศทางว่าภาคการส่งออกจะชะลอตัวจากภาพความอ่อนแอของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า 

 

สำหรับ outlook ในปี 2566 บล. เอเซีย พลัส มองว่ากำไรของกลุ่มธนาคารน่าจะเติบโตของถึง 8% หรือมีกำไรประมาณ 2.1 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2565 แต่อาจจะปรับเปลี่ยนได้ในอนาคต จึงยังต้องรอพิจารณาตัวเลขเป้าหมายทางธุรกิจของแต่ละธนาคารที่จะทยอยประกาศออกมาอีกที 

 

โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่จะยังคงได้เปรียบอยู่สำหรับช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นแบบเต็มปีในปีนี้ เมื่อเทียบกับธนาคารขนาดกลางและเล็ก ที่ไปเน้นธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เป็นหลักมากกว่า เพราะยังต้องติดกับสัญญาเก่าที่เป็นอัตราดอกเบี้ยเดิม จึงยังไม่ได้รับประโยชน์เท่าธนาคารขนาดใหญ่ที่สามารถปรับดอกเบี้ยของสินเชื่อประเภทอื่น ๆ ได้ตามทิศทางตลาด

 

นอกจากนี้ยังต้องให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพสินทรัพย์ด้วย เพราะเศรษฐกิจไทยยังเป็นการฟื้นตัวที่ไม่ทั่วถึงหรือเป็นการฟื้นแบบกระจุกตัวบางภาคธุรกิจอยู่ จึงเป็นประเด็นที่ยังท้าทายอยู่ สำหรับลูกหนี้บางกลุ่มที่ทำธุรกิจแบบพึ่งพาการส่งออก แต่ก็อาจจะมีกลุ่มลูกหนี้ที่อิงกับการท่องเที่ยวมาชดเชยตรงจุดนี้ 

 

จึงทำให้เรามองว่ากลุ่มธนาคารพาณิชย์ยังมีกำไรเติบโตได้ในอัตรา 8%  และน้ำหนักของดอกเบี้ยขาขึ้นน่าจะช่วยหนุนกำไรได้มากกว่า ขณะที่ตั้งสำรองก็ไม่น่าจะเพิ่มจากปี 2565 


ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบันกลุ่มธนาคารพาณิชย์มีรายได้จากดอกเบี้ยที่อัตรา 73% ขณะที่อีก 27% เป็นรายได้จากค่าธรรมเนียม (รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย) จึงเป็นไปได้ที่กลุ่มธนาคารจะฟื้นตัวต่อตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับที่เมื่อเทียบกับฐานกำไรของปี 2565 ที่ค่อนข้างต่ำ ก็ย่อมมีผลให้เมื่อเทียบกับตัวเลขในปีนี้จึงมีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นได้แน่นอน 

 

ขณะเดียวกับยังมีธนาคารที่มีปัจจัยเฉพาะตัว เช่น กลุ่มที่อิงกับธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์  ที่แม้จะเสียเปรียบเรื่องทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น เพราะคิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ แต่มีรายได้ค่าธรรมเนียมมาชดเชยแทน ได้แก่ ธนาคารทหารไทยธนชาต ธนาคารทิสโก้ เป็นต้น ที่จะมีรายได้เพิ่มจากการขายพวก Bancassurance ซึ่งเป็นผลจากมียอดขายรถยนต์ Ford เพิ่มขึ้น

 

อย่างไรก็ตามยังคงมีปัจจัยเสี่ยงในเรื่องคุณภาพหนี้สิน หรือตัวเลข NPLs ที่ยังอาจมีผลอต่อการที่ธนาคารต้องตั้งสำรองเพิ่ม ซึ่งจะมาหักล้างปัจจัยด้านบวกที่ระบุก่อนหน้านี้ทั้งหมด  แต่ด้วยที่หลายธนาคารเพิ่มสำรองไปเมื่อช่วงปลายปี 2565 ทำให้มองว่าไม่น่าจะต้องมีสำรองเพิ่มมากในปีนี้ 

 

แต่สุดท้ายก็ต้องตามดูเรื่องคุณภาพหนี้อยู่ เพราะขึ้นกับเศรษฐกิจโลกว่าจะมีแนวโน้มต่อไปอย่างไรกันแน่ เพราะจะมีผลต่อพวกภาคการส่งออก เช่นเดียวกับที่ก็มีขาบวก เช่น กรณีที่ กนง. ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมากกว่าที่คิด ก็เป็น upside สำหรับกลุ่มธนาคารได้ด้วย 

 

สำหรับหุ้นที่แนะนำจะเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น เป็นธนาคารขนาดใหญ่ และคุณภาพสินทรัพย์ดี ที่วัดจากตัว NPL Coverage Ratio (อัตราส่วนเงินสำรองที่มีอยู่ต่อ NPL) ในระดับสูงถึง 260% ได้แก่ BBL (ราคาเป้าหมาย 159 บาท)

 

ส่วนอีกตัวคือ KTB (ราคาเป้าหมาย 20.3 บาท) ที่นอกจากได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น และมี NPL Coverage Ratio ที่ 170% แล้วยังมีเรื่อต่อยอดจากฐานข้อมูลของแอปเป๋าตัง ตลอดจนมองว่าน่าจะจ่ายปันผลปีนี้ได้ 5% ต่อปี ท้ายสุดคือ Tisco (ราคาเป้าหมาย 108 บาท) ด้วยมองว่าน่าจะจ่ายปันผลได้ 7-8% 

 

ขณะที่ ธนภัทร ฉัตรเสถียร ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ จำกัดมองว่าตัวเลขผลประกอบการของกลุ่มธนคารที่ออกมา ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ระดับหนึ่ง เป็นผลจากที่บางธนาคารตั้งสำรองพิเศษในช่วงไตรมาสที่ 4

 

ด้วยมองว่าส่วนหนึ่งก็เพื่อรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจของปีนี้ และอีกส่วนคือมีกลุ่มลูกหนี้ที่กลายเป็น NPLs เพิ่มขึ้น หลังจากหมดมาตรการหรือแคมเปญช่วยเหลือจากผลกระทบของโควิดก่อนหน้านี้ ทั้งกลุ่มรายย่อยและ SME เช่นเดียวกับที่มีบางธนาคารมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงิน จากที่เข้าไปลงทุนต่าง ๆ  

 

เราคาดการตัวเลขกำไรในไตรมาส 4 ของปีก่อนไว้ที่ 41,216 ล้านบาท สำหรับ 6 แบงก์ที่เรา cover แต่ตัวเลขจริงอยู่ที่ 31,663 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าประมาณ 23% 

 

สำหรับแนวโน้มปี 2566 นั้น ธนภัทร มองว่า ปัจจัยหนุนต่อหุ้นกลุ่มธนาคารที่จะทำให้มีกำไรเพิ่ม คือการฟื้นตัวของรายได้ค่อนข้างชัดเจน ด้วยเศรษฐกิจไทยจะโตได้ดี จากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวกลับมา ก็จะช่วยให้การปล่อยสินเชื่อและรายได้ดอกเบี้ยกลับมาเติบโตอีกครั้ง เช่นเดียวกับรายได้ค่าธรรมเนียมที่เดิมอยู่ในฐานค่อนข้างต่ำเมื่อปีที่แล้ว ก็น่าจะทำให้มีอัตราการเติบโตดีในปีนี้ ขณะที่ตัวเลขสำรองหนี้จะมีแรงกดดันน้อยลง 

 

ดังนั้นจึงคาดการณ์ตัวเลขกำไรทั้งปีของกล่มธนาคารที่ cover (BBL KBANK KTB SCBx Tisco) ในปีนี้ว่าน่าจะอยู่ ที่ 178,052 ล้านบาท หรือเติบโตเพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา 

 

อย่างไรก็ตามยังมีบางธนาคารที่มีปัจจัยบวกเฉพาะ เช่น SCBx ที่ปรับโครงสร้างไปเมื่อปีที่แล้ว จนทำให้ต้องจ่ายดอกเบี้ยประมาณ 3,400 ล้านบาท แต่ปีนี้ก็จะไม่มีภาระพวกนี้แล้ว จึงเป็นตัวช่วยดึงกำไรของทั้งกลุ่มขึ้นมาด้วย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในหุ้นที่น่าจะมีกำไรเติบโตดี 
 

ส่วนด้านปัจจัยลบนั้น แม้มองว่าเศรษฐกิจโลกถดถอย ซึ่งอาจมีผลต่อเนื่องมาถึงเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวต่ำกว่าคาดและชะงักได้เหมือนกัน จึงย่อมมีผลต่อทั้งรายได้และคุณภาพหนี้ด้วย แต่ขณะนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะส่งกระทบมากแค่ไหนหรือเป็นวงกว้างแค่ไหน 

 

แต่เมื่อมองปัจจัยบวกอื่น ๆ มาประกอบด้วย ทำให้หุ้นกลุ่มแบงก์ที่โดดเด่นจริง ๆ  ในความเห็นของ บล.ทรีนีตี้ สำหรับปี 2566 ได้แก่   อันดับหนึ่ง คือ BBL (ราคาเป้าหมาย 172 บาท) สอง  KTB (ราคาเป้าหมาย 22 บาท) สาม SCB (ราคาเป้าหมาย 144 บาท) และอันดับสุดท้ายคือ  KBANK (ราคาเป้าหมาย 177 บาท) 

 

หุ้น KBANK โดดเด่นน้อยสุด เพราะมีปัจจัยที่ตลาดยังกังวลอยู่ โดยเฉพาะการควบคุมคุณภาพหนี้กลุ่ม high yield