posttoday

ตลาดหุ้นไทย 1Q66 ถูกแรงเหวี่ยงจาก DELTA และภาษีหุ้น SET Index ไม่ทะลุ 1,740 จุด

12 มกราคม 2566

บล. เอเซียพลัส เผยตลาดหุ้นใน Q1 ยังได้รับแรงบวกจากเศรษฐกิจไทยและ Fund Flow ไหลเข้า แต่มีปัจจัยฉุดจาก ดอกเบี้ยขาขึ้น ภาษีภายหุ้น และความผันผวนของ DELTA คาดเป้าดัชนีไม่ทะลุ 1,740 จุด

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่าในช่วง 1Q65 ตลาดหุ้นไทยจะอยู่ในช่วงการปรับขึ้นโดยมี 4 ปัจจัยสนับสนุน 

 

เริ่มจากตัวภาพรวมเศรษฐกิจไทยถือว่าเติบโตโดดเด่นกว่าเศรษฐกิจโลก โดยคาด GDP Growth 66F ของไทยขยายตัว 3.8% มากกว่าเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวเพียง 2.6% โดยมีแรงหนุนมาจากภาคการท่องเที่ยวที่มีโอกาสฟื้นตัวได้เร็วขึ้นหลังจากจีนผ่อนคลายมาตรการควบคุม COVID-19  อีกปัจจัยคือ กำไรบริษัทจดทะเบียนปี 2566 คาดอยู่ที่ 1.27 ล้านล้านบาท คิดเป็น EPS ที่ 99.2 บาท/หุ้น เติบโต 6% โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่ม non – energy คาดเติบโตได้ถึง 11.7%

 

รวมถึงปัจจัยด้านทิศทาง Fund Flow ที่มีแนวโน้มไหลเข้าจากค่าเงินบาทเสถียรภาพของเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่า ตามดุลบัญชีเดินสะพัดและทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มสูงขึ้น และท้ายสุดคือปัจจัยความคาดหวังเชิงบวกต่อนโยบายใหม่ๆ ยามเข้าใกล้ช่วงเลือกตั้ง ซึ่งจากสถิติในอดีตนับจาก 2544-2562 พบว่าก่อนการเลือกตั้ง 3 เดือน SET Index ให้ผลตอบแทนเป็นบวกเฉลี่ย 3.9%

 

อย่างไรก็ตามยังมี 4 ปัจจัยที่เป็นตัวจำกัดการขึ้นของ SET Index เริ่มจาก 1) ความเสี่ยงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปที่มีโอกาสสูงที่เข้าสู่ภาวะ Recession สะท้อนจาก Bloomberg Consensus คาดโอกาสในยุโรปมากถึง 80% และสหรัฐฯ 65%  ซึ่งสร้าง Sentiment เชิงลบต่อตลาดหุ้นภูมิภาครวมถึงบ้านเรา แม้ไทยโอกาสเกิด Recession อยู่ต่ำเพียง 13% ก็ตาม

 

2) การขึ้นดอกเบี้ยฯ ของ กนง. ซึ่งจะทำให้ส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนในตลาดหุ้นและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรแคบลง โดยฝ่ายวิจัยฯ คาด กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยฯ ในปีนี้ไม่เกิน 2 ครั้งจากปัจจุบันอยู่ที่ 1.25%

 

3) การเก็บภาษีขายหุ้นที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในช่วงต้น 2Q66 ซึ่งน่าจะกระทบต่อทิศทางตลาดช่วงปรับสมดุลโดยเฉพาะช่วงก่อนเก็บภาษีจริง และ 4) ความผันผวนของ DELTA ที่อาจกลับมาสร้างแรงกดดันต่อตลาดหลังจากปรับขึ้นตั้งแต่ พ.ย.65 ถึงปัจจุบัน 45% จนระดับ PER 66F ขึ้นมาสูงถึง 64 เท่า (เทียบกับกลุ่มที่ PER66F เฉลี่ยอยู่ที่ 16 เท่า) ถือเป็นระดับที่ยากจะอธิบายในมุมปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งทุกๆ การเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้น  DELTA 1% กระทบ SET Index 0.85 จุด

 

ในมุมของการเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหุ้นนั้น ฝ่ายวิจัยได้ประเมินสิ่งที่นักลงทุนต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลง หากรัฐบาลมีการเรียกเก็บภาษีขายหุ้นในปี 2566ในอัตรา 0.055% ณ 1 พ.ค. 65 และอัตรา 0.11% จะส่งผลต่อนักลงทุนและตลาดหุ้น

 

นั่นคือจะมีภาระค่าธรรมเนียมซื้อขายหุ้นสูงขึ้นถึง 64% ของค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม โดยช่วงระยะเวลาในการขึ้นภาษีปีหน้า ยังเป็นช่วงที่ตลาดเผชิญกับภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ส่วนช่วงระยะเวลาในการเก็บภาษีปีหน้าเป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ช่วง Recession หากมีการขึ้นภาษีเวลาดังกล่าว นักลงทุนต่างชาติจะเป็นผู้รับภาระค่าคอมมิสชั่นสูงกว่านักลงทุนในประเทศ รวมถึงสถิติในปี 2011 -2022 (12 ปี) ชี้ให้เห็นว่าผลตอบแทนเฉลี่ยตลาดหุ้นไทยมักไม่ดีในช่วงที่สภาพคล่องซื้อขายต่ำ

 

เช่นเดียวกับกรณีหุ้นของบมจ. เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) หรือ DELTA อาจสร้างความผันผวนให้ตลาดตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) หรือ TFEX มากขึ้น เมื่อ DELTA ได้เข้าไปอยู่ในกลุ่มหุ้น SET 50 นั่นคือหลังจากที่ เมื่อปี 2022 ราคาหุ้นของ DELTA ขึ้นมา 101.5% ซึ่งทำให้ SET เพิ่มขึ้น 42.8 จุด (เทียบกับ SET50 ได้ 42.3 จุด) แต่ในปัจจบุันที่ราคาหุ้น DELTA ลดลง 1% ก็ส่งผลให้ดัชนี SET ลงลง 0.85จุด และ SET50 ลดลง 0.84 จุด

 

ตลาดหุ้นไทย 1Q66 ถูกแรงเหวี่ยงจาก DELTA และภาษีหุ้น SET Index ไม่ทะลุ 1,740 จุด

 

ภายใต้ปัจจัยแวดล้อมข้างต้นทำให้  SET Index ในช่วง 1Q66 ปรับขึ้นได้โดยประเมินเป้าหมายดัชนี บนสมมติฐาน Market Earning Yield Gap ที่ 4.2% ,EPS ที่ 99.2 บาท/หุ้น และคาดดอกเบี้ยฯ ปีนี้อยู่ที่ระดับ 1.50% - 1.75% จะทำให้เป้าหมาย SET Index อยู่ที่ 1,677-1,740 จุด แต่การขึ้นเกินระดับดังกล่าวต้องระวังขายทำกำไร

 

ทั้งนี้ บล. เอเซีย พลัส แนะนำกลยุทธ์การลงทุนใน 3 ธีมเด่น เริ่มจาก Dividend Play หรือ หุ้นปันผล ที่พบว่าหุ้นปันผลมักขึ้นได้ดีในช่วงไตรมาส 1 โดยช่วง 7 ปีที่ผ่านมา (ไม่นับปี 2020 ที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19) ซึ่งให้ตผลตอบแทนเฉลี่ย 8.2% สูงกว่า SET ที่ 5.2% ซึ่งหุ้นที่แนะนำคือ AP และ ASK 

 

China Play ด้วยความคาดหวังว่านักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาในไทยได้เร็วและหนาแน่นกว่าคาด หลังจากนักท่องเที่ยวไม่ต้องกักตัวเวลาเดินทางออกนอกประเทศ จึงแนะนำหุ้น AOT และ ERW 

 

ส่วนธีมสุดท้าย คือ Domestic Consumption ซึ่งได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงการเปลี่ยนผ่านมาตรการเยียวเป็นการลงทุนภาครัฐ เน้นโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ จึงแนะนำ STEC GULF COM7 CRC HMPLO CBG เป็นต้น

 

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนหุ้นต่างประเทศนั้น ทางบล. เอเซีย พลัส ย้ำว่า “เงินเฟ้อเลยจุดสูงสุดไปแล้ว แต่จะอยู่ไปอีกสักพัก” ทีมกลยุทธ์ต่างประเทศ จึงประเมินว่ายังมีความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อที่ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วแต่จะทรงตัวในระดับสูงอีกระยะ อีกทั้งเรื่องเศรษฐกิจถดถอยในช่วงไตรมาสแรกนี้ แต่อย่างไรก็ตามปัจจัยดังกล่าวก็สะท้อนไปในราคาแล้วบางส่วน

 

อีกทั้งทีมกลยุทธ์ต่างประเทศ ยังคงมองว่าเศรษฐกิจจีนเห็นสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนขึ้นจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่  การยกเลิกมาตการ Zero Covid เร็วกว่าที่คาด ทำให้ IMF และนักวิเคราะห์ ต่างปรับประมาณการณ์จีน GDP จีนอยู่ที่ 4.9% และ 5.3% ในปี 2023 และ 2024

 

นอกจากนี้มาตการช่วยเหลือกลุ่มอสังหาฯ ที่เป็นเหมือนฟองสบู่ลูกใหญ่ในจีน รวมไปถึงความโปร่งใสที่ดีขึ้นจากการตรวจสอบบัญชี จากผู้ตรวจสอบนอกประเทศจีน ทำให้หุ้นที่อยู่ในธีมเปิดเมือง กลุ่มอสังหาฯ และหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีมีผลตอบแทนที่โดดเด่นและน่าลงทุนที่สุดในไตรมาสนี้

 

ในส่วนของสหรัฐนั้น ถึงแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้วแต่ก็ยังคงอยู่สูงกว่าเป้าหมายของ FED ที่ 2% อยู่มาก ซึ่งยังคงต้องจับตาดูตัวเลขเศรษฐกิจที่จะกระทบเงินเฟ้ออย่างตัวเลขการจ้างงานและค่าแรง โดยมองตราสารหนี้โดดเด่น ตามด้วยกลุ่ม Defensive อย่าง Utilities , Consumer Staples โดยเฉพาะ กลุ่ม Healthcare