posttoday

ตลาดฯ ปรับเกณฑ์กันซ้ำรอย MORE เร่งดึง New Economy และ Family Business ระดมทุน

09 มกราคม 2566

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรับเกณฑ์กันซ้ำรอย MORE วางแผนกลยุทธ์ 3 ปี ดึง New Economy และธุรกิจครอบครัวให้เข้าถึงตลาดทุนผ่าน LiVE Platform คาดมี startup ออกไอพีโอ 5 รายในปี 66 พร้อมเริ่มใช้ระบบเทรดใหม่ไม่เกินไตรมาสแรกปีนี้ ต่อยอดพัฒนา Settrade สู่ Capital Market Super App

จากกรณีการซื้อขายหุ้น  บมจ.  มอร์ รีเทิร์น หรือ MORE เมื่อวันที่ 10 พ.ย.2565 ซึ่งมีรายการซื้อขายปริศนาในช่วงราคาเปิด (ATO) จำนวนกว่า 1,500 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 4,500 ล้านบาท ที่ราคาหุ้นละ 2.9 บาท ที่ต่อมาทราบว่า ผู้ส่งคำสั่งซื้อหุ้นดังกล่าวมีเพียงคนเดียว คือ นายอภิมุข บำรุงวงศ์ ซึ่งเป็นการซื้อผ่านโบรกเกอร์รวมกว่า 10 แห่ง

 

แต่สุดท้าย นายอภิมุข ไม่สามารถชำระค่าซื้อหุ้นดังกล่าวได้ ทำให้โบรกเกอร์ต้องเป็นผู้ชำระค่าซื้อหุ้นดังกล่าวแทน ซึ่งปัจจุบันคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างดำเนินการสอบสวนจากทางสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) นั้น ได้สร้างแรงกระเพื่อมต่อความเชื่อมั่นของกระบวนการทำงานของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

กระทั่งเป็นส่วนหนึ่งที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงกระบวนการทำงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุน จากการเปิดเผยของนายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ที่ระบุว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงเห็นสมควรที่จะปรับปรุงกระบวนการทำงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความเชื่อมั่นแก่ตลาดทุน แต่ยังต้องฟังความเห็นของผู้เกี่ยวข้องก่อน จึงจะหาข้อสรุปได้ว่าต้องปรับปรุงอย่างไรบ้าง 

 

การปรับปรุงกระบวนการของตลาดฯ ไม่ได้เกี่ยวกับ MORE โดยตรง แต่หวังว่าหลังจากทำแล้วจะดีขึ้น แม้อาจป้องกันไม่ได้ 100%

 
โดยมีการวางจากแนวทางหลัก ๆ ตั้งแต่พิจารณาปรับปรุงเกณฑ์การรับหลักทรัพย์ในแต่ละตลาด ทั้ง SET mai และ LiVEx (ตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ LiVEx จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางการซื้อ ขายหุ้นของวิสาหกิจขนาดกลาง หรือ SME และวิสาหกิจเริ่มต้น หรือStartup) 

 

รวมถึงพิจารณาปรับปรุงกฏเกณฑ์การซื้อขาย การชำระราคา และส่งมอบหลักทรัพย์ อีกทั้งพิจารณาปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบข้อมูล ซึ่งรวมไปถึงแก้ไขกฎเกณฑ์การใช้ช้อมูลที่สำคัญ เช่น ข้อมูลการถือครองหุ้น และรวมศูนย์ข้อมูลการติดต่อกับ บล. ในด้านต่าง ๆ เช่นเดียวกับพิจารณาปรับปรุงขั้นตอนการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลและหน่วยงานอื่น ๆ 

 

อย่างไรก็ตามทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังวางกรอบการทำงานเป็นแผนระยะสั้นและระยะยาว ในส่วนแผนระยะสั้นจะทบทวนการพิจารณา Risk Profile ของลูกค้า และปรับปรุงแนวทางการปฏิบัติงานภายใน เพื่อลดและป้องกันความเสี่ยง ส่วนระยะยาวนั้น จะมีทั้งการพิจารณาปรับปรุงกฎเกณฑ์และมาตรฐาน ตลอดจนพัฒนาศูนย์ข้อมูล (Investor Information Bureau)

 

นอกจากนี้ นายภากรยังย้ำถึงการปรับกระบวนการทำงานอีกว่า ตอนนี้สายกำกับของตลาดหลักทรัพย์ฯ จะทำงานแบบ pro active มากขึ้น  มีการทำงานแบบมองล่วงหน้ามากขึ้น ตลอดจนเปลี่ยน mind set ในกรณีเห็นข้อมูลน่าสงสัย ก็จะต้องเริ่มคุยกับผู้เกี่ยวข้องเร็วขึ้น และเริ่มแก้ไขเร็วขึ้นด้วย

 

สิ่งที่เราทำขณะนี้ไม่ได้แตกต่างจากมาตรฐานสากล แต่ที่จะปรับเกณฑ์ใหม่ คือมองไปอนาคต และเป็น pro active มากขึ้น
 

ตลาดฯ ปรับเกณฑ์กันซ้ำรอย MORE เร่งดึง New Economy และ Family Business ระดมทุน

 

กางแผนกลยุทธ์ 3 ปี 

 

นายภากรกล่าวว่า ด้วยการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วทั้งเทคโนโลยี พฤติกรรมผู้บริโภค ความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุน และความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลกจากภาวะเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมทั้งความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์

ทางตลาดหลักทรัพย์ จึงวางแผนกลยุทธ์สำหรับ 3 ปีข้างหน้านี้ (2566-2568) ที่จะมุ่งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทย ควบคู่ไปกับการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล เพื่อให้ตลาดทุนเป็นประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน ผ่านกลยุทธ์ 4 ด้าน 

 

สำหรับด้านที่ 1 นั้น นายภากรเปิดเผยว่า จะมุ่งทำตลาดทุนให้เป็นเรื่องง่าย (Make fundraising & investment simple) โดยเพิ่มโอกาสการระดมทุน ซึ่งมุ่งส่งเสริมให้ธุรกิจทุกขนาดทั้งเล็ก กลาง ใหญ่ เข้ามาใช้ประโยชน์จากตลาดทุนง่ายขึ้นและมากขึ้น โดยเฉพาะสนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่ หรือ New Economy ตั้งแต่กระบวนการให้ข้อมูลและเตรียมความพร้อมให้กับธุรกิจที่มีศักยภาพ

 

รวมถึงมุ่งพัฒนา SME และ Startup ต่อยอดจาก LiVE Academy และ LiVE Platform (ที่ปัจจุบันมีผู้ประกอบการร่วม ถึง 1.8 แสนคน) เพื่อให้มีความพร้อมในการเข้าถึงแหล่งระดมทุนได้ง่ายขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมี  Startup มาระดมทุนเพิ่มอีก 5 รายใน 2566 จากเดิมที่มี 3 รายในปี 2565 นอกจากนี้ จะพัฒนาศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (Thai Digital Assets Exchange: TDX) เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการซื้อขายโทเคนดิจิทัลทั้ง investment token และ utility token ในไตรมาส 3/2566 

 

การพัฒนาสินค้า จะเน้นต่อยอดจากปีที่ผ่านมา พร้อมเพิ่มทางเลือก small size product สำหรับผู้ลงทุนรายเล็ก 
 

 

ฝั่งเพิ่มโอกาสการลงทุน ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเน้นความหลากหลายด้วยผลิตภัณฑ์ที่ใช้เงินลงทุนไม่มากสำหรับผู้ลงทุนรายเล็ก รวมทั้งศึกษาการออกผลิตภัณฑ์ลงทุนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (environment-linked) และการขยายเวลาซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อเพิ่มความสะดวกในการลงทุน 

 

โดยเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการเปิดบัญชีลงทุน เพื่อสร้างโอกาสการเข้าถึงตลาดทุนที่ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการพัฒนาแพลตฟอร์มของ Settrade เพื่อเป็น “Capital Market Super App” ในการเชื่อมต่อโอกาสการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

 

ส่วนด้านที่ 2 ในเรื่องยกระดับมาตรฐานเพื่ออุตสาหกรรม (Move industry & ecosystem with standard) นั้น นายภากรระบุว่าจะเน้นพัฒนาระบบซื้อขายใหม่ภายในไตรมาส 1/2566 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบนิเวศการลงทุน และรองรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ ๆ ด้วยเป็นระบบที่เป็นมาตรฐานสากล ซึ่งจะส่งเสริมให้ผู้ลงทุนระดับโลกเชื่อมต่อเข้ามาได้ง่ายมากขึ้น ตลอดจนช่วยให้นักลงทุนมีข้อมูลตัดสินใจมากขึ้นด้วย

 

พร้อมยกระดับความปลอดภัยทางไซเบอร์ร่วมกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม เปรียบเหมือนว่าถ้ามีบริษัทใดเกิดเหตุไฟไหม้ ก็จะมีระบบป้องกันไม่ให้ไฟลามไปสู่คนอื่น หรือเป็นระบบที่ช่วยป้องกันไม่ให้ภัยไซเบอร์ลามจากอีกจุดไปสู่จุดอื่น ๆ ได้  รวมทั้งปรับปรุงกฎเกณฑ์การซื้อขายที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัย และให้สอดคล้องกับสภาวะตลาดที่เปลี่ยนไปและระบบซื้อขายใหม่

 

ระบบใหม่มาแทนระบบปัจจุบันที่ใช้งานกว่า 10 ปีแล้ว จะช่วยให้พัฒนาตลาดทุนภาพรวมได้ในหลายด้าน ๆ ซึ่งตอนนี้อยู่ขั้นตอนทดสอบขั้นสุดท้ายอยู่ และต่อไปจะมีการสื่อสารกับนักลงทุนด้วย ว่ามีคุณสมบัติเด่นอะไรบ้าง 
 

 

สำหรับด้านที่ 3 นั้น นายภากรเปิดเผยว่าจะร่วมสร้างโอกาสเพื่อก้าวข้ามขีดจำกัด (Match partners for synergy) พัฒนาการเผยแพร่ข้อมูลผ่าน SMART Marketplace เพิ่มข้อมูลและฟังก์ชันที่ใช้ในการวิเคราะห์เพื่อตอบโจทย์การใช้งาน รวมทั้งต่อยอดงานวิจัยแบบ Thematic และ Issue-based เพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้จริงในการพัฒนาตลาดทุนด้านต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น  

 

ขณะเดียวกัน จะมีการรวบรวมข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ของบริษัทจดทะเบียนมาไว้บน ESG Data Platform โดยเริ่มเผยแพร่ข้อมูลได้ในไตรมาส 2/2566 นอกจากนี้ จะพัฒนาการจัดทำ ESG Ratings เพื่อสนับสนุนการออกสินค้า ESG-Linked

 

นายภากรยังเปิดเผยถึงกลยุทธ์ด้านที่ 4 ว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยึดหลักความยั่งยืนเป็นแกนขับเคลื่อนการทำงาน (Merge ESG with substance) ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้นำมิติด้าน ESG ขับเคลื่อนการดำเนินงานทั้งกระบวนการภายใน และภายนอกองค์กรโดยทำงานร่วมกับพันธมิตร นำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน


•   ด้าน E หรือ Environmental พัฒนาบุคลากรด้าน ESG ในตลาดทุนและสถาบันการศึกษา รวมทั้งส่งเสริมให้มี ESG Champion ด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมผ่าน ESG Academy และพัฒนา Climate Care Platform ให้ครอบคลุมฟังก์ชันการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและการเชื่อมต่อพันธมิตร

 

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero รวมทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการใช้ Cloud และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของ Data Center (Green Data Center)


•    ด้าน S หรือ Social ส่งเสริมความรู้ทางการเงินแก่วัยเกษียณและกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งจัดให้มีการวัดระดับความรู้ทางการเงินของคนไทยเพื่อพัฒนาเนื้อหาและช่องทางที่ตอบโจทย์ พร้อมทั้งเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการโดยจะมุ่งเน้นธุรกิจครอบครัว (Family Business) ผ่าน LiVE Platform และกระบวนการพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE)

 

รวมทั้งร่วมกับมหาวิทยาลัยและอาชีวศึกษาสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ตลอดจนเตรียมความพร้อมและพัฒนาทักษะให้แก่บุคลากรของตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการขับเคลื่อนตลาดทุนสู่อนาคต


•    ด้าน G หรือ Governance เร่งปรับปรุงกฎเกณฑ์การกำกับดูแลให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน พัฒนาเครื่องมือการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพให้สามารถรองรับผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ รวมทั้งประสานการทำงานร่วมกับภาครัฐและหน่วยงานกำกับดูแล

 

นอกจากนี้ จะขยายเครือข่ายความร่วมมือไปยังองค์กรต่าง ๆ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาตลาดทุนในระยะยาว ทั้งนี้ ด้านกระบวนการภายใน ดำเนินการเตรียมพร้อมยกระดับการบริหารความเสี่ยงองค์กร พร้อมนำเทคโนโลยีและข้อมูลเชิงวิเคราะห์มาพัฒนากระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่อง

 

อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งหวังว่าการดำเนินกลยุทธ์ 4 ด้านดังกล่าวจะมีส่วนในการสร้างโอกาสที่มากกว่าสำหรับผู้เกี่ยวข้องกลุ่มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการขยายโอกาสการระดมทุนและการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการและผู้ลงทุน การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมตลาดทุน และดูแลสังคม ควบคู่กับสิ่งแวดล้อมเพื่อการเติบโตที่สมดุล

 

ทั้งนี้ในปี 2565 ตลาดหลักทรัพย์ฯ เองก็มีพัฒนาการในหลายด้าน ไม่ว่าจะในส่วนมูลค่าเสนอขาย IPO ทั้ง SET และ mai ถึง 127,836 ล้านบาทสูงสุดในอาเซียน และเป็นอันดับ 4 ในเอเชีย/ มี 9 บจ. ในกลุ่ม New Economy รวมถึงมีปริมาณธุรกิจด้าน Equity เฉลี่ย 76,773 ล้านบาท/วันสภาพคล่องสูงสุดในอาเซียนตั้งแต่ปี 2555 และ Derivatives เฉลี่ย 565,627 สัญญา/วัน เป็นต้น