posttoday

‘อนันดา’ ขายหุ้นกู้ 2 รุ่น มูลค่า 3.5 พันล้านบาทตามเป้า พร้อมเริ่มโครงการใหม่

09 ธันวาคม 2565

บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ขายหุ้นกู้ 2 รุ่น กับผู้ลงทุนทั่วไปและผู้ลงทุนสถาบันที่มูลค่า 3.5 พันล้านบาท ได้ตามเป้าหมาย มองว่าสะท้อนถึงความเชื่อมั่นต่อบริษัท พร้อมเดินหน้าโครงการใหม่ตามแผน โดยมั่นใจว่าแนวโน้มกำลังซื้อเริ่มดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ หรือ ANAN เปิดเผยว่า บริษัทฯ ประสบความสำเร็จจากการเสนอขายหุ้นกู้ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ จำนวน 2 รุ่น 

 

ประกอบด้วย รุ่นอายุ 1 ปี 1 เดือน 6 วัน อัตราดอกเบี้ย 4.50% ต่อปี และรุ่นอายุ 2 ปี 6 เดือน อัตราดอกเบี้ย 5.70% ต่อปี กำหนดจ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน ซึ่งเสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไปและผู้ลงทุนสถาบัน ในระหว่างวันที่ 6-8 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยสามารถปิดการขายด้วยมูลค่า 3,500 ล้านบาท ตามเป้าหมายที่วางไว้

 

สำหรับหุ้นกู้ฯ ชุดดังกล่าวได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจากบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2565 ที่ระดับ “BBB-” เช่นเดียวกับอันดับเครดิตองค์กร และมีแนวโน้ม “คงที่” (Stable) ซึ่งเป็น “ระดับลงทุน” (Investment Grade) 

 

ด้วยการเสนอขายผ่านสถาบันการเงิน 7 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด


โดยหลังจากนี้ บมจ. อนันดาฯ จะเดินหน้าดำเนินโครงการต่างๆ ตามแผนที่วางไว้ โดยจะเปิดตัวโครงการใหม่อีก 6 โครงการ มูลค่ากว่า 21,000 ล้านบาท ซึ่งจะสอดรับกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่องไปถึงปี 2566 ตามความเห็นของนายชานนท์

 

ทั้งนี้ ในรอบ 9 เดือนของปี 2565  (ม.ค.- ก.ย. 2565) นั้น บมจ. อนันดาฯ มียอดขายกว่า 10,200 ล้านบาท ขณะที่ยอดโอนมากกว่า 9,300 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 23% และยังมียอดขายรอรับรู้รายได้ (Backlog) ณ ไตรมาส 3 ปี 2565 กว่า 10,000 ล้านบาท


สำหรับกรณีที่เกี่ยวข้องกับโครงการแอชตัน อโศก ซึ่งมีการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ระหว่าง สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กับ หน่วยงานรัฐ และ สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ กับ หน่วยงานรัฐ โดยบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในฐานะ “ผู้ร้องสอด” นั้น

 

ความคืบหน้าล่าสุดของทั้ง 2 คดี  ณ ขณะนี้ คือ ในส่วนคดีของสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ยังอยู่ระหว่างรอการตัดสินจากศาลปกครองสูงสุด ส่วนคดีของสยามสมาคมฯ ศาลปกครองกลางเห็นว่าในทางพฤตินัยที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งโครงการเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 ข้อ 2 วรรค 2 

 

อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองกลางสั่งให้หน่วยงานภาครัฐผู้ถูกฟ้องคดี และบริษัท ปรึกษาหารือและแก้ไขให้มีทางเข้าออกเป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 33 ข้อ 2 วรรค 2 ภายใน 180 วันนับแต่คดีถึงที่สุด ซึ่งหากมีความคืบหน้าใดๆ ทางบริษัทฯ จะแจ้งให้ทราบต่อไป