posttoday

เงินบาทสัปดาห์นี้35.45-36.15ส่วนเงินบาทวันนี้35.80-36บาท/ดอลลาร์

12 กุมภาพันธ์ 2567

Krungthai GLOBAL MARKETS แนะเงินบาทสัปดาห์นี้ 35.45-36.15 บาทต่อดอลลาร์ ลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI รวมถึง ยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ และอังกฤษ และติดตามความเห็นเจ้าหน้าที่เฟด ส่วนเงินบาทวันนี้ 35.80 - 36 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทสัปดาห์นี้อยู่ช่วง 35.45-36.15 บาทต่อดอลลาร์ โดยให้จับตา รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI รวมถึง ยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ และอังกฤษ และติดตาม ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด อย่างใกล้ชิด

สำหรับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง ท่ามกลางมุมมองของตลาดที่เชื่อว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ ส่วนเงินดอลลาร์ยังคงได้แรงหนุนจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่สดใส

ส่วนเงินบาทวันนี้คาดว่าอยู่ที่ 35.80 - 36 บาทต่อดอลลาร์ แต่ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  35.90 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลง จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า 

โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways ใกล้ระดับ 35.90 บาทต่อดอลลาร์ (แกว่งตัวในกรอบ 35.83-35.97 บาทต่อดอลลาร์) เงินบาทมีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี เงินบาทก็เผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลงของราคาทองคำ (โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว) หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น จากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน และมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงเชื่อว่า เฟดจะไม่รีบลดดอกเบี้ย

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท Krungthai GLOBAL MARKETS มองว่า โมเมนตัมฝั่งอ่อนค่ายังคงอยู่ โดยต้องจับตาแนวต้านเชิงจิตวิทยา 36.00 บาทต่อดอลลาร์ เพราะการอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวจะปิดฉากเทรนด์การแข็งค่าตั้งแต่เดือนตุลาคมปีก่อนหน้า ทั้งนี้ควรจับตาทิศทางราคาทองคำ รวมถึง ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ที่เป็นอีกปัจจัยส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเงินบาทได้พอสมควรในช่วงนี้

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น มองว่า เงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดทำให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ตลาดประเมินไว้ นอกจากนี้ หากตลาดประเมินว่า BOE อาจลดดอกเบี้ยได้เร็วกว่า เฟด ก็อาจกดดันเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) และหนุนการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ได้

ดังนั้นจึงคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก เริ่มจากสหรัฐฯ ที่ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI และยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนมกราคม โดยหากโมเมนตัมการชะลอตัวของ อัตราเงินเฟ้อ CPI ยังไม่สอดคล้องกับการชะลอตัวเข้าใกล้เป้า 2% ของเฟด ได้ภายในครึ่งแรกของปีนี้ ก็อาจทำให้ ผู้เล่นในตลาดยิ่งมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่กำลังประเมินอยู่

นอกจากนี้ หากยอดค้าปลีกยังคงขยายตัวได้ดี สะท้อนความแข็งแกร่งของการบริโภคภาคเอกชน ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างเชื่อในสมมติฐานเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอลงแบบ “Soft Landing” นอกจากนี้ หากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด ชัดเจน ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มเชื่อว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็มีแนวโน้มขยายตัวต่อแบบ “No Landing” โดยทั้งมุมมองของผู้เล่นในตลาด ไม่ว่าจะ Soft Landing หรือ No Landing ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยเชื่อว่า เฟดจะไม่รีบลดดอกเบี้ย และการลดดอกเบี้ยอาจน้อยกว่าที่ตลาดประเมิน (การลดดอกเบี้ยของเฟด อาจเป็นไปตาม Dot Plot ล่าสุด)

นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้ โดยต้องระวังการสื่อสารในลักษณะ Hawkish ในช่วงต้นสัปดาห์ จากบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด อาทิ Michelle Bowman และ Thomas Barkin

ฝั่งยุโรป – บรรดาผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI รวมถึง ยอดค้าปลีก (Retail Sales) โดยหากผู้เล่นในตลาดมั่นใจว่า BOE อาจลดดอกเบี้ยได้เร็วกว่าเฟด (ก่อนเดือนพฤษภาคม) ก็อาจกดดันให้เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ผันผวนอ่อนค่าลงได้ ทั้งนี้ ข้อมูลจากสถิติในอดีตตั้งแต่ปี 1997 สะท้อนว่า หากเริ่มมีคณะกรรมการนโยบายการเงิน ลงมติเห็นชอบให้ลดดอกเบี้ย BOE จะเริ่มลดดอกเบี้ยได้จริง ในอีกราว 2 การประชุม หลังจากนั้น ทำให้ ตอนนี้ มีโอกาสที่ BOE จะลดดอกเบี้ยได้จริง ในการประชุมเดือนพฤษภาคม  

ฝั่งเอเชีย – ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ในไตรมาสที่ 4 ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์ประเมินว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจขยายตัวราว +0.3% จากไตรมาสก่อนหน้า หรือ คิดเป็น +1.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี หนุนโดยการขยายตัวของการบริโภค การลงทุน และการส่งออกที่ดีขึ้น โดยการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ก็อาจเปิดโอกาสให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ทยอยใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นได้

ส่วนในฝั่งฟิลิปปินส์คาดว่า แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) ได้จบลงแล้ว หลังอัตราเงินเฟ้อได้ชะลอลงต่อเนื่อง เข้าสู่กรอบเป้าหมาย 2%-4% ทั้งนี้ BSP อาจเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 6.50% และอาจทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ 
   
ด้านฝั่งไทยคาดว่า แนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่องของการบริโภค ท่ามกลางความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจและการทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล จะช่วยให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 63 จุด ในเดือนมกราคม

เงินบาทสัปดาห์นี้35.45-36.15ส่วนเงินบาทวันนี้35.80-36บาท/ดอลลาร์