posttoday

เศรษฐา เรียกผู้ว่าฯคุยปมแบงก์ชาติสวนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ

28 กันยายน 2566

นายกฯ เศรษฐาเตรียมถกผู้ว่าฯแบงก์ชาติ หลังกนง.ขึ้นดอกเบี้ย-หั่นจีดีพีสวนทางมาตรการเศรษฐกิจของนโยบายรัฐบาล

หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุมในวันที่ 27 กันยายน 2566 โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ต่อปี จาก 2.25 เป็น 2.50% ต่อปี ด้วยมองว่าโครงการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาทที่ขับเคลื่อนโดยกระทรวงการคลังจะส่งให้เศรษฐกิจไทยร้อนแรงขึ้นในปีหน้า ซึ่งน่าจะขยายตัวถึง 4.4% ในปี 2567 จึงต้องป้องกันเงินเฟ้อไม่ให้หลุดกรอบไว้ก่อนด้วยการขึ้นดอกเบี่้ยล่าสุด 

แต่ปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจใหม่ด้วยมองว่าไปในทิศทางชะลอลงในปีนี้ จึงลดเป้าตัวเลขจีดีพีลง 0.8% เหลือ 2.8% จาก 3.6% จากภาคการส่งออกสินค้าและภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ส่วนหนึ่งจากเศรษฐกิจจีนและวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ฟื้นตัวช้า

ทั้งนี้ไม่ว่าจากถ้อยแถลงจะให้เหตุผลใด ๆ ก็ตาม แต่มีรายงานข่าวระบุว่า ด้วยท่าทีของแบงก์ชาติล่าสุด ดูเหมือนว่าเกิดจากความขัดแย้งเรื่องจากกรณ๊โครงการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ที่ทางแบงก์ชาติไม่เห็นด้วยที่จะให้ทำโครงการนี้ แต่รัฐบาลก็ยืนยันจะเดินหน้าต่อ และยังต้องการให้แบงก์ชาติมาสนับสนุนเรื่องนี้ด้วย 

ดังนั้น จากกรณีที่เกิดขึ้นดังกล่าว ก็ได้มีการส่งสัญญาณถึงความไม่พอใจที่แบงก์ชาติออกตัวแสดงท่าทีไม่สนับสนุนแนวทางที่รัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยหลังจากได้พูดคุยกับผู้บริหารธนาคารพาณิชย์เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา หลังจากนี้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเรียกผู้ว่าแบงก์ชาติมาหารือเรื่องดอกเบี้ย รวมทั้งนโยบายการเงินการคลังที่เหมาะสม

ผลลัพธ์จากนี้จะออกหน้าไหน ก็ต้องจับตามองกันต่อว่าแรงกระเพื่อมของทิศทางนโยบายการเงินและนโยบายการคลังที่สวนทางกันครั้งนี้ จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและเขย่าเศรษฐกิจไทยไปอย่างไร

เศรษฐา เรียกผู้ว่าฯคุยปมแบงก์ชาติสวนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ดร.อมรเทพ จาวะลา  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ให้มุมมองต่อแนวทางที่แบงก์ชาติยังคงขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอว่า แม้ว่าทาง กนง. จะปรับได้ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้แต่ก็เพิ่มตัวเลขเศรษฐกิจขยายตัวถึง 4.4% ในปีหน้า

เนื่องจากตามปกติแล้วนโยบายการเงินจะใช้เวลาถึง 2 ไตรมาสในการส่งผ่านถึงเศรษฐกิจที่แท้จริง นั่นคือจาการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้จะไปกระทบเศรษฐกิจที่แท้จริงในปี 2567 ดังนั้นเหตุผลที่ต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายล่าสุด เพราะแบงก์ชาติมีความกังวลต่อเศรษฐกิจในปีหน้า โดยเฉพาะต่อประเด็นนโยบายการคลัง โดยเฉพาะประเด็นแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ว่าจะทำให้เศรษฐกิจร้อนแรงขึ้น จนนำไปสู่สภาวะเงินเฟ้อ จึงมองว่าเหมาะสมที่จะขึ้นดอกเบี้ย เพื่อสกัดความร้อนแรงในอนาคต

แต่มองว่าการขึ้นดอกเบี้ยในปัจจุบันเป็นการป้องกันกระแสเงินไหลออก โดยจะเห็นว่าค่าเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าลงแค่เดือนกันยายนก็่อ่อนลงกว่าสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาคมากกว่า 3% ที่เป็นผลจากทั้งปัจจัยนอกประเทศคือการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ จนทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ค่อนข้างสูง และปัจจัยในประเทศคือเรื่องความไม่มั่นใจของนักลงทุนต่อนโยบายการคลัง เช่น การกู้ยืมเงินที่มากขึ้นและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี พุ่งเกินกว่า 3% ซึ่งสะท้อนต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นของภาครัฐ จึงมีความพยายามขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินไหลออก 

"เงินทุนสำรองระหว่างประเทศในปัจจุบันน้อยกว่าช่วงปลายปีที่แล้ว ซึ่งน่าจะเป็นความพยายามสกัดเงินทุนไหลออกของแบงก์ชาติมาระดับหนึ่งแล้ว แต่อาจจะไม่พอ ก็จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ย เพื่อปรามเงินไหลออก" 

นอกจากนี้ ดร.อมรเทพมองว่า ในระยะข้างหน้ายังต้อ้งจับผลกระทบที่นโยบายการเงินและนโยบายการคลังสวนทางกัน นั่นคือแบงก์ชาติพยายามขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อและลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ ขณะที่นโยบายการคลังตั้งเป้าหมายให้เศรษฐกิจโตได้ 5% และหวังให้เศรษฐกิจโตได้อย่างชัดเจน แต่นโยบายการเงินกำลังสวนทางไม่ให้เศรษฐกิจร้อนแรงจนเกินไป  

"จึงต้องรอติดตามกันต่อไปว่า ด้วยทิศทางนโยบายการเงินและการคลังที่สวนทางกันจะส่งผลให้ตลาดขาดความเชื่อมมั่นหรือไม่"

ทั้งนี้ตลาดน่าจะยังต้องติดตามตัวเลขทางเศรษฐกิจกันต่อ ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขเงินเฟ้อ ตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯ ที่มีโอกาสจะเห็นความชัดเจนในการประชุมรอบหน้าในเดือนพฤศจิกายนว่า สุดท้ายเฟดอาจจะไม่ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างที่ตลาดกังวลก่อนหน้านี้ก็ได้ เช่นเดียวกับอาจจะต้องมาดูตัวเลขนักท่องเที่ยว ที่ล่าสุดแบงก์ชาติเองก็ปรับลดจำนวนนักท่องเที่ยวลง จากเหตุผลที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวเลงก็ได้ รวมถึงต้องมาดูอีกว่าด้วยมาตรการต่าง ๆ เช่น ฟรีวีซ่า (Free Visa) จะมาช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวไทยในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ได้อย่างไร จึงยังมีความหวังอยู่ว่าค่าเงินบาทจะกลับมาแข็งค่าได้เล็กน้อยจากภาวะปัจจุบัน 

ดังนั้นสถานการณ์ตอนนี้คือ นโยบายการเงินเดินหน้าและรักษาเสถียรภาพดีแล้ว แต่ที่ต้องรอดูคือถ้านโยบายการคลังถ้าจัดการได้ดี สร้างความเชื่อมั่นได้ เศรษฐกิจก็เดินได้ แต่หากคนขาดความเชื่อมั่น จนกระทบไปถึงเรื่องเครดิตเรตติ้งหรืออันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ ยิ่งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลก็ยังพุ่งอยู่ ก็สะท้อนต้นทุนการเงินภาครัฐและเอกชนด้วย เพราะเวลาเอกชนออกหุ้นกู้หรือตราสารหนี้ก็อ้างอิงจากตัวเลขผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเช่นกัน ดังนั้นสิ่งที่ยังต้องกังวลคือความชัดเจนและความเชื่อมั่นต่อนโยบายการคลัง 

"แม้ว่าการที่ขึ้นดอกเบี้ยล่าสุดแต่ปรับลดเป้าจีดีพีเป็นเรื่องปกติ แต่ยังเป็นเรื่องน่ากังวล ที่เราไปฝันว่าปีหน้าเศรษฐกิจจะฟื้นแรง แต่ถ้าเกิดไม่ใช่อย่างที่คาดการณ์ ก็หวังว่าแบงก์ชาติจะมีความยืดหยุ่นพอที่จะปรับนโยบายการเงิน แต่อย่างน้อยเราก็มีขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจได้หากมีปัญหา เพราะหากไปเหยียบเบรกในระยะสั้น แล้วปีหน้าเศรษฐกิจแย่ลง ก็จะยิ่งทำให้การฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยยิ่งสะดุด จึงต้องติดตามการดำเนินนโยบายการคลังต่อไป"