posttoday

เผยผลเจรจาไทย-ซาอุฯ SABIC ธุรกิจยักษ์ใหญ่ด้านการเกษตร เล็งขยายลงทุนไทย

11 มิถุนายน 2566

จากผลเจรจาไทย-ซาอุฯ ที่นำโดย ดอน ปรมัตถ์วินัย หวังต่อยอดความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการต่างประเทศ ล่าสุด SABIC ธุรกิจยักษ์ใหญ่ด้านภาคการเกษตร เตรียมขยายลงทุนไทยเพิ่ม

จากกรณีการเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบีย ของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมทั้งคณะผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เมื่อสัปดาห์ก่อน เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือทวิภาคี และส่งเสริมการเจรจาการค้าและการลงทุนระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ

การเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบีย ของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมทั้งคณะผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน

SABIC ขยายลงทุนไทยเพิ่ม

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะของภาคเอกชนที่เดินทางร่วมคณะไปด้วย ระบุว่า ในด้านของความร่วมมือด้านภาคการเกษตร โดยเฉพาะการนำเข้าปุ๋ยของไทยจากซาอุฯ มีข่าวดี คือ Saudi Basic Industries Corporation (SABIC) บริษัทผลิตเคมีภัณฑ์และเหล็ก รายใหญ่ซาอุฯ แสดงความสนใจที่จะร่วมมือและขยายการลงทุนกับไทย

โดยเฉพาะการร่วมมือและขยายการลงทุนกับไทยในธุรกิจอื่นเพิ่มเติม เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ (Automotive), เคมีภัณฑ์, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และ ธุรกิจด้านการดูแลสุขภาพ โดยที่ผ่านมาบริษัท SABIC มองว่าประเทศไทยเป็นพันธมิตรที่ดี และในช่วงการเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน เมื่อปีที่บริษัทยังคงส่งปุ๋ยให้ไทยอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทมีส่วนแบ่งตลาดของธุรกิจปุ๋ยในไทยมากถึง 45%

ขณะที่ความร่วมมือด้านพลังงาน บมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก หรือ OR อยู่ระหว่างการพิจารณาตั้งสถานีบริหารน้ำมันในซาอุฯ เนื่องจากสถานบริการน้ำมันในปัจจุบันยังขาดความสะดวกอีกหลายอย่าง โดยกลุ่มธุรกิจซาอุฯ จึงเชิญชวนให้ ปตท.มาเปิดสถานบริการน้ำมันพร้อมกับพื้นที่ค้าขายห้องน้ำที่เหมาะสมต่อการใช้งานและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ เช่นเดียวกับรูปแบบในไทย 

นอกจากนี้ ปตท. ยังอยู่ในระหว่างหารือการร่วมลงทุนในโครงการขนาดใหญ่อย่างไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) ในประเทศไทย ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางในการเป็นซัพพลายให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ ซึ่งปัจจุบันสำเร็จระยะที่ 1 ไปแล้ว และจะเริ่มระยะที่ 2 ในเร็ว ๆ นี้

ขณะที่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (SCG) คาดว่าจะเปิด สำนักงานที่ซาอุฯ ได้ภายในเดือนกันยายนนี้ และสนใจลงทุนในกลุ่มธุรกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อขยายไปสู่ห่วงโซ่การผลิตในด้านอื่นๆในซาอุฯ เช่น ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ และ PVC เป็นต้น

ส่วน บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร CPF มีความสนใจและเห็นโอกาสในการทำธุรกิจเกี่ยวการพัฒนาด้านการเกษตร และไก่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับ Neom food company บริษัทในธุรกิจอาหารเพื่อลงทุนร่วมกันในอนาคต

รวมทั้ง บริษัท เฮลท์ แอนด์ เวลเนส เมเนจเมนท์ คอนซัลแทนท์ จำกัด ธุรกิจด้านสุขภาพ ได้ร่วมกับ Quality of Life Tourism Company ของซาอุฯ ลงทุนในธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ 3 โครงการ ทั้งในซาอุฯ และไทย โดยมูลค่าการลงทุนรวมมากถึง 17,500 ล้านบาท

นอกจากนี้ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ผลักดันความร่วมมือทวิภาคีกับซาอุดีอาระเบียให้อย่างเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง ภายหลังการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน ครอบคลุมทั้งด้านการทูต แรงงาน เศรษฐกิจ พลังงาน และการท่องเที่ยว 

“นายกรัฐมนตรี ยังคงผลักดันความร่วมมือทวิภาคีไทยและซาอุฯ ต่อเนื่อง ผ่านมติเห็นชอบกรอบความร่วมมือต่าง ๆ จากคณะรัฐมนตรี และการเดินทางเยือนซาอุฯ ของหน่วยงานรัฐบาล เพื่อติดตามความร่วมมือและกระชับความสัมพันธ์ พร้อมกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยให้กำกับและติดตามขับเคลื่อนความร่วมมือ เพื่อให้เกิดผลประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม และยกระดับความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกัน ให้ครอบคลุมทุกด้าน”

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่การฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบีย ความสัมพันธ์ระว่างทั้งสองประเทศมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าการลงทุนระหว่างกันเพิ่มขึ้น 37.64% มาอยู่ที่ 3.23 แสนล้านบาท 

ขณะที่การท่องเที่ยว ในปี 2565 นักท่องเที่ยวชาวซาอุดีฯ มาไทย 96,389 คน สร้างรายได้ 8 พันล้านบาท ส่วนในปี 2566 ประเมินว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวซาอุฯ เพิ่มขึ้น 150,000 คน สร้างรายได้ 12,000 ล้านบาท รวมถึงมีการเพิ่มเที่ยวบินจาก 9 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 42 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ 

การเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบีย ของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมทั้งคณะผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน

นายอนุชา ยังระบุอีกว่าว่า ผลความสำเร็จดังกล่าว สืบเนื่องมาจากการที่รัฐบาลผลักดันความร่วมมือทวิภาคีในด้านต่าง ๆ ผ่านมติเห็นชอบกรอบความร่วมมือต่าง ๆ จากคณะรัฐมนตรีแล้ว ดังนี้ 

ด้านการทูตและการต่างประเทศ 

มติ ครม.เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 เห็นชอบการจัดทำแผนการขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีปี 2565 - 2567 รวมทั้งจัดตั้งสภาความร่วมมือไทย-ซาอุฯ ซึ่งจะประสานความร่วมมือทั้งด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม

นอกจากนี้ มติ ครม. เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ยังได้เห็นชอบการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูต และหนังสือเดินทางราชการ รวมไม่เกิน 90 วัน เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกัน

ด้านแรงงาน 

มติ ครม. เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 เห็นชอบข้อตกลงด้านแรงงาน เพื่อจัดหาแรงงานไปทำงานในซาอุดีฯ อย่างถูกกฎหมาย และปกป้องสิทธิของนายจ้างและแรงงาน รวมถึงการบังคับใช้กฎระเบียบสัญญาจ้างระหว่างกัน

ด้านการค้าและการลงทุน 

มติ ครม. เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ได้เห็นชอบการส่งเสริมการลงทุนโดยตรงระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแลกเปลี่ยนข้อมูลสถิติเกี่ยวกับการลงทุนโดยตรงและโอกาสทางธุรกิจ กฎหมายและกฎระเบียบเกี่ยวกับโอกาสในการลงทุนโดยตรง และการเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุนของทั้งสองประเทศจาก

ด้านพลังงาน 

มติ ครม. เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เห็นชอบความร่วมมือทวิภาคีด้านพลังงาน อาทิ ปิโตรเลียม ก๊าซไฟฟ้า พลังงานหมุนเวียน และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน และเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ เพื่อลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ด้านการท่องเที่ยว 

มติ ครม. เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เห็นชอบบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างกัน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในด้านการท่องเที่ยวไทย-ซาอุดีฯ รวมถึงแลกเปลี่ยนข้อมูลสถิติการท่องเที่ยว จัดโปรแกรมการศึกษาและการวิจัย การประชุม สัมมนา การประชุมเชิงปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ