posttoday

กกพ.แจงสูตรค่าไฟถูกต้อง เปลี่ยนการคำนวณก๊าซ LNG ไม่ได้

24 เมษายน 2566

ท้าเอกชนทำราคาการันตีนำเข้า LNG หากราคาเกินกว่าสูตรคำนวณ ต้องพร้อมรับภาระแทนประชาชน หากทำได้พร้อมรื้อสูตรค่าไฟใหม่ทันที

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กรณีที่ภาคเอกชนต้องการให้บอร์ดกกพ.ปรับเปลี่ยนสูตรการคำนวณค่าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG จากเดิมบอร์ดคิดจากค่าเฉลี่ยราคานำเข้า 20 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ซึ่งเป็นราคาเฉลี่ยเดือน ม.ค. 66 ให้เปลี่ยนมาใช้ราคาตลาดปัจจุบันเฉลี่ยต่ำกว่า 13 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียูมาคำนวณแทน จะทำให้ค่าไฟลดลงอีก 9% หรือปรับลดลงจาก 4.77 บาท เป็น 4.34 บาท และหากรวมกับตัวเลขยืดหนี้ของกฟผ.ที่ทำให้ค่าไฟลดลงอีก 7 สตางค์  จะทำให้ค่าไฟเหลือหน่วยละ 4.27 บาทนั้น 

ต้องชี้แจงว่า การคำนวณค่า LNG แต่ละครั้ง จะมีการคาดการณ์ราคาล่วงหน้า มีสูตรที่ชัดเจน เพราะช่วงปลายปี ราคา LNG จะแพงขึ้นอีก ถ้าภาคเอกชน โดยเฉพาะสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) การันตีราคานำเข้า LNG เฉลี่ยจนถึงปลายปีที่ 13 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียูได้ หากมีการปรับขึ้นทางภาคเอกชน จะรับภาระแทนประชาชน ถ้าภาคเอกชน ทำหนังสือยืนยันเข้ามา ทางกกพ. จะใช้ราคานำเข้าแอลเอ็นจีที่ 13 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียูให้ได้ 

กกพ.ย้ำว่า มีสูตรการคำนวณทุกอย่างที่ชัดเจน ไม่เช่นนั้นใครๆ ก็มาแทรกแซง จะทำให้การพิจารณาบิดเบือน ทำให้มีปัญหาในอนาคตได้ ราคา LNG ตอนนี้ที่ปรับลดลง ก็ใช่ว่า จะยืนราคาที่ถูกถึงปลายปี กกพ.ถึงต้องประมาณการณ์ทุก 4 เดือน เพื่อไม่ให้ราคาแกว่งมาก นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องค่าเงินบาทอีก รวมทั้งปริมาณก๊าซในอ่าวไทย จากเดิมภาคเอกชนระบุว่า จะป้อนก๊าซในอ่าวไทยได้เพิ่มจากปัจจุบัน 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็น 400  ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในเดือนมิ.ย. 66 แต่ตอนนี้ได้เลื่อนเป็นเดือนก.ค. 66 แล้ว ส่วนปลายปีที่บอกว่า จะป้อนเพิ่มเป็น 600  ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ก็ยังไม่รู้ว่า ทำได้หรือไม่ อาจทำให้ต้องนำเข้าก๊าซ LNG ต้องเพิ่มขึ้นอีก

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านั้น นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า  การพิจารณาลดค่าเอฟทีลงมาจาก เหลือ 4.70 บาทต่อหน่วย จาก 4.77 บาทต่อหน่วย ถือว่าไม่มาก และไม่ใช่ราคาที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) คำนวณต่ำกว่า 4.40 บาทต่อหน่วย ถือเป็นการลดกระแสได้ระดับหนึ่ง ประกาศ กกพ. เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2566 ที่มีมติเก็บค่าไฟฟ้าเอกชนเหลือ 4.77 บาทต่อหน่วยจากกว่า 5 บาทต่อหน่วย แต่กลับไปเพิ่มในกลุ่มครัวเรือนจาก 4.72 บาทต่อหน่วยเท่ากัน จึงไม่เห็นด้วยตั้งแต่ต้น ที่จะทำให้ประชาชนเดือดร้อนในช่วงที่พลังงานโลกต่ำลง 

ดังนั้น การลดราคาลงครั้งนี้เป็นการยืดหนี้ของ กฟผ. เพื่อให้ครัวเรือนไม่แพงกว่าเดิม แต่สิ่งที่ตนเข้าใจว่าหลายคนอยากรู้ว่าทำได้ดีกว่านี้ได้หรือไม่ เพราะไม่มีการพิจารณาในเรื่องของโครงสร้าง แม้จะใช้เวลาในการแก้ปัญหา แต่สิ่งที่เป็นปัญหาเชิงพื้นฐานที่ กกร. เสนอมาตรการให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2566 ที่ผ่านมา เพื่อแก้ไขเฉพาะค่าไฟงวดที่ 2 มีเพียง 2 มาตรการ คือ

1. ยืดหนี้ค่าไฟฟ้าให้กับกฟผ. ซึ่งคณะอนุฯ ได้ดำเนินการแล้ว

2. ควรพิจารณาปรับวิธีประมาณการราคาตันทุนเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติและราคา LNG ที่ใช้คำนวณต้นทุน ค่าไฟฟ้า โดยใช้ราคาที่สะท้อนแผนการนำเข้า LNG ในช่วง เดือนพ.ค.-ส.ค. 2566 แทนการใช้ข้อมูลราคาของเดือนม.ค. 2566 ซึ่งมีราคาที่สูงกว่าเพื่อบรรเทาผลกระทบราคาไฟฟ้าของทุกภาคส่วนลงได้

ซึ่งการนำเข้า LNG เป็นตัวสำคัญในการนำมาเป็นพลังงานผลิตไฟฟ้าให้กับประเทศได้มีราคาลดลงมามากตลอดจากเดิมเคยขึ้นไประดับ 50 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ในช่วงส.ค. 2565 แต่ปัจจุบันเหลือไม่ถึง 13 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู 

ตัวเลขที่เราทำโดยไม่ต้องใช้งบประมาณมาสนับสนุนเมื่อคำนวณราคา LNG นำเข้าขณะนี้จะทำให้ค่าไฟเหลือไม่ถึง 4.40 บาททันที หากในช่วงเวลาปกติก่อนเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคา LNG นำเข้าอยู่ที่ 9 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู เมื่อมีสงครามขยับขึ้นสูงมากและกลับมาอยู่ที่ไม่ถึง 13 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียูในช่วงนี้ที่ราคาเฉลี่ยที่ 12 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู

ภาครัฐใช้ข้อมูล LNG นำเข้าที่ 20 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู เกิดผลต่าง 7 ดอลลาร์ คิดเป็น 35% ซึ่ง LNG นำเข้ามีสัดส่วนถึง 45% ของ Pool gas โดยสัดส่วนก๊าซธรรมชาติที่ 60% ดังนั้น หากนำราคาค่าไฟ 4.77 บาท ลบส่วนต่างจะเหลือ 4.34 บาททันที