posttoday

อมรเทพ ชี้เฟดขึ้นดอกเบี้ยต่อ อยู่ที่ 5.00-5.25% หลังแบงก์ล้มไม่ลุกลาม

23 มีนาคม 2566

ดร. อมรเทพ จาก CIMB Thai เชื่อเฟดยังเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ ตามคาดการณ์ที่ 5.00-5.25% หลังภาวะการเงินเริ่มมีสัญญาณตึงตัวจากการล้มละลายของธนาคารท้องถิ่น ยังไม่เห็นแววลุกลามต่อ

ดร.อมรเทพ​ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหาร​สำนัก​วิจัย​และที่ปรึกษา​การลงทุน​ ธนาคาร​ซีไอเอ็มบี ​ไทย​ ได้ให้มุมมองต่อสถานการณ์และทิศทางการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ว่า ในการประชุมนโยบายการเงินวันที่ 21-22 มี.ค. 23 เฟดได้มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ตามที่ตลาดคาดการณ์ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ย Fed funds อยู่ที่ระดับ 4.75-5.00%

ในแถลงการณ์หลังการประชุม ประธานเฟดยังได้กล่าวถึงสถานการณ์ของภาคธนาคารเป็นอย่างแรกระบุว่าตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง และเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง ขณะที่ภาคธนาคารยังคงดูดีเข้มแข็ง (sound and resilient) ซึ่งมีระดับเงินทุน ตลอดจน สภาพคล่องที่แข็งแกร่ง

โดยเฟดจะยังคงติดตามสถานการณ์ในภาคอย่างใกล้ชิด และจะใช้เครื่องมือที่มีในการดูแลตามที่จะเป็น เพื่อให้มั่นใจว่าภาคธนาคารยังคงเข้มแข็ง ในขณะที่หากกลับมาดูภาคเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับที่สูงเกินไป (Too high) และตลาดแรงงานก็ตึงตัวเกินไปด้วย ซึ่งเฟดมีภารกิจที่แน่วแน่ในการจัดการกับเงินเฟ้อ เพื่อให้กลับสู่เป้าหมายที่ 2%

ขณะที่ได้เปลี่ยนแปลงมุมมองจากเดิม ที่มองว่าจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง (ongoing increases) เป็นการปรับขึ้นอีกนิดและคงน่าจะเหมาะสม (some additional policy firming may be appropriate) อันส่งสัญญาณว่าระดับอัตราดอกเบี้ยสูงสุดน่าจะใกล้แล้ว และเฟดคงจะเลือกที่จะยืนอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง มากกว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมในการจัดการเงินเฟ้อที่ยังสูงดังกล่าว

ทั้งนี้ ในแถลงข่าวหลังการประชุม (press conference ) ประธานเฟดระบุอีกว่า การพิจารณานโยบายการเงินจะเป็นแบบ meeting by meeting ตามข้อมูลพัฒนาการของเศรษฐกิจและสถานการณ์ของภาคการเงิน และเฟดอยู่ระหว่างประเมินผลของความตึงตัวของสภาวะการเงินต่อแรงกดดันเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า

ในส่วนประเด็นมุมมองด้านเงินเฟ้อและเศรษฐกิจ เฟดได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อ (Core PCE) ในปี 2023 และ 2024 จาก 3.5% และ 3.5% เป็น 3.6% และ 2.6% ขณะที่ปรับลดคาดการณ์จีดีพีในปี 2023 และ 2024 จาก 0.5% และ 1.6%  เหลือ 0.4% และ 1.2% ในส่วนของอัตราการว่างงานเฟดมองว่าอัตราการว่างงานในปี 2023 และปี 2024 จาก 4.6% และ 4.6% เป็น 4.5% และ 4.6% ตามลำดับ

โดยการปรับเปลี่ยนมุมมองคาดการณ์เศรษฐกิจดังกล่าวบ่งชี้ถึงมุมมองเชิงลบต่อทิศทางของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าที่เพิ่มขึ้น ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง

ส่วนมุมมองคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Dot-plot) เจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่ยังคงคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ที่ 5.00-5.25% ไม่เปลี่ยนแปลงจากรอบก่อน ขณะที่มีเจ้าหน้าที่ 1 ท่านมองว่าอัตราดอกเบี้ยปลายปีน่าจะอยู่ที่ 4.75-5.00% ขณะที่เจ้าหน้าที่ 7 ท่านสนับสนุนการปรับอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าระดับ 5.25%

ด้านตลาดสหรัฐฯ โดยรวมตอบรับในทิศทางผสมผสานหลังจากที่ประธานเฟดได้ออกมาแถลงผลการประชุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 2 ปีและ 10 ปีปรับลดลง 0.21% และ 0.15% สู่ระดับ 3.96% และ 3.46% ขณะที่ Dollar index อ่อนค่าเกือบ 1% ส่วนข้อมูล CME Fed funds futures ก็ได้สะท้อนโอกาสประมาณ 40% ที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ 0.25% ในการประชุมเดือนพฤษภาคม 2023

ในส่วนของดัชนี Dow Jones, S&P 500 และ Nasdaq ปรับลดลง 1.63%, 1.65% และ 1.60% ตามลำดับ ส่วนหนึ่งได้รับแรงกดันจากถ้อยแถลงของรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ที่แถลงต่อวุฒิสภาว่ายังไม่มีการพิจารณาที่จะขยายการรับประกันเงินฝากแบบไม่จำกัดวงเงินให้ครอบคลุมทุกธนาคารในตอนนี้ จากที่ได้ขยับขึ้นเล็กน้อยในช่วงที่ประธานเฟดสิ้นสุดแถลงการณ์

ทั้งนี้จึงมองว่า ต่อไปเฟดมีโอกาสจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับ 5.00 - 5.25% ตามที่ได้ส่งสัญญาณไว้ โดยเฉพาะในกรณีการล้มละลายของธนาคารท้องถิ่นไม่ได้ลามออกไป

โดยยังคงต้องติดตามพัฒนาการของข้อมูลตาดแรงงาน การปรับขึ้นของค่าจ้างในวันที่ 7 เม.ย. และเงินเฟ้อในวันที่ 12 เม.ย.  ว่าจะมีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงจากเดิมมากน้อยเพียงใดหลังจากที่สภาวะทางการเงินในสหรัฐฯ เริ่มเห็นสัญญาณตึงตัวมากขึ้น ตลอดจน การรายงานข้อมูลจีดีพีไตมาส 1/23 ในวันที่ 27 เม.ย.

อย่างไรก็ตาม หากแรงกดดันเงินเฟ้อโดยเฉพาะเงินเฟ้อด้านบริการเริ่มมีสัญญาณปรับลดลงอย่างชัดเจน ก็มีความเป็นไปได้ที่เฟดอาจจะพิจารณาส่งสัญญาณในการหยุดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็เป็นได้