posttoday

สภาพัฒน์ติง "นโยบายพักหนี้" อันตราย ทำคนกู้ไร้วินัย - เขย่าการเงินทั้งระบบ

12 มีนาคม 2566

หลังหลายพรรคการเมืองเริ่มชูนโยบายพักหนี้ ล่าสุด ดนุชา พิชยนันท์ เลขาสภาพัฒน์ฯ ออกโรงติงส่งผลต่อวินัยการเงินของลูกหนี้ อาจนำไปสู่ปัญหา moral hazard เขย่าเศรษฐกิจทั้งระบบ แนะแก้หนี้รายบุคลเหมาะสมกว่า

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่าในปัจจุบันระดับหนี้ครัวเรือนของไทยจะอยู่ในระดับสูงประมาณ 86% ของจีดีพีซึ่งเป็นระดับที่ยังสูงแต่ก็ลงจากในช่วงที่เกิดโควิด-19 ซึ่งการมีหนี้สินเพิ่มขึ้นของคนไทยสอดคล้องกับพฤติกรรมการก่อหนี้ ซึ่งต้องแก้ไขเป็นรายบุคคล

 

ดังนั้นนโยบายการประกาศการ “พักหนี้” ที่มีบางพรรคการเมืองนำมาหาเสียงนั้นต้องใช้ความระมัดระวัง เพราะการใช้นโยบายพักหนี้อาจจะเกิดผลกระทบกับระบบธนาคารและระบบการเงินของประเทศโดยรวม แม้ว่าหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงจะมีหนี้ที่เป็นส่วนที่สถานบันการเงินดูแลอยู่เพียง 10% แต่หากมีการประกาศการพักหนี้เป็นการทั่วไป อาจเกิดภาวะที่ที่เรียกว่าอันตรายทางศีลธรรม หรือ  “Moral Hazard” 

 

ในที่นี้คือคนที่สามารถที่จะจ่ายหนี้ได้หันมาพักหนี้และไม่ยอมจ่ายหนี้ด้วย ซึ่งหากทำพร้อม ๆ กันจำนวนมากก็จะเกิดปัญหาตามกับระบบการเงินของประเทศได้ ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวลเพราะทำให้กระทบกับการรักษาวินัยทางการเงินส่วนบุคคลของประชาชนได้

 

ทั้งนี้แนวทางที่ควรทำในการแก้ไขปัญหาหนี้ จึงไม่ใช่การประกาศพักหนี้เป็นการทั่วไปในระดับนโยบายแต่ต้องเข้าไปแก้หนี้เป็นรายบุคคลมากกว่า ซึ่งจะสามารถทำให้แก้ไขได้ตรงจุด ช่วยเหลือลูกหนี้เป็นรายตามความจำเป็นที่เหมาะสมซึ่งจะไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบการเงินของประเทศในภาพรวม  

 

นายดนุชากล่าวต่อว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ถือว่ายังขยายตัวได้ต่อเนื่องจากปี 2565 โดย สศช.คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 2.7 – 3.7% (ค่ากลาง 3.2%) ซึ่งสาเหตุที่การคาดการณ์เศรษฐกิจมองแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยต่ำกว่ากระทรวงการคลังที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ 3.8% นั้น

 

เนื่องมาจาก สศช.พิจารณาจากตัวเลขจริงในภาคการส่งออกที่ติดลบต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน ต.ค.ปีก่อนมาถึงเดือน ม.ค.ปีนี้ และขณะนี้กำลังรอตัวเลขในเดือน ก.พ.ที่จะประกาศออกมาหากตัวเลขติดลบอีกก็จะยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชัดเจนยิ่งขึ้น

 

โดยภาคอุตสาหกรรมที่จะกระทบมากคือ เรื่องของอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งเป็นกลุ่มที่ถูกกระทบมาก เช่นเดียวกับในเวียดนามที่มีการผลิตสินค้าแบบนี้มากก็ได้รับผลกระทบตั้งแต่ปลายปีก่อนเช่นกัน

 

รวมถึงกล่าวอีกว่า การส่งออกของไทยในปีนี้จะชะลอตัวลงค่อนข้างมาก เนื่องจากการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกขยายตัวที่ประมาณ 2.6% ซึ่งในอดีตหากตัวเลขเศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ในระดับนี้เศรษฐกิจไทยในภาคส่งออกก็จะหดตัว

 

ดังนั้นในปีนี้หากทำได้ดีที่สุดการส่งออกก็อาจจะเติบโตเป็นศูนย์ คือไม่ขยายตัวเลย แต่ถ้าได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกมากการส่งออกก็จะติดลบ ซึ่งภาคการส่งออกก็ส่งผลกระทบต่อจีดีพีมากเพราะเป็นสัดส่วนประมาณ 50 – 60% ในจีดีพี ซึ่งตอนนี้สิ่งที่ต้องเร่งรัดก็คือในเรื่องของการหาตลาดใหม่เพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าของไทยให้มากขึ้นในอนาคต

 

นอกจากนี้ ปัจจัยที่จะส่งผลกระทบในเรื่องเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ก็คือการบริโภคภาครัฐ ที่สศช.คาดว่าจะส่งหดตัว 1.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากการจัดทำงบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้าออกไปหลังการเลือกตั้ง โดยในปีนี้หลังเลือกตั้งแล้วมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้เร็วหรือช้า มีความเกี่ยวข้องกับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 หากหลังเลือกตั้งสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เร็วคาดว่า พ.ร.บ.งบประมาณ ฯจะล่าช้าออกไป 1.5 เดือน

 

แต่หากจัดตั้งรัฐบาลได้ล่าช้าการจัดทำงบประมาณฯก็จะล่าช้าออกไปซึ่งหากช้ามากที่สุดอาจกินระยะเวลาประมาณ 3 เดือนคือสามารถประกาศใช้ในเดือน ม.ค. 2567 ซึ่งจะมีผลต่อการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐที่ล่าช้าออกไปด้วย