posttoday

ตีแผ่ "Silicon Valley Bank" ล้ม จากภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นทำขายพันธบัตรขาดทุนยับ

11 มีนาคม 2566

ตีแผ่ Silicon Valley Bank หรือ SVB ล้ม เหตุขาดสภาพคล่อง หลังขายพันธบัตร 2 หมื่นล้านดอลลาร์ขาดทุนยับ เพราะผลจากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ล่าสุดลูกค้ากังวลเริ่มแห่ถอนเงินออก

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP)  ได้โพส Facebook Pipat Luengnaruemitchai ระบุว่า

#SVBmoment bank run จากภาวะดอกเบี้ยขึ้น

มีข่าวตื่นเต้นในวงการธนาคาร เมื่อ SiliconValleyBank ธนาคารชื่อดังย่าน Silicon Valley ที่เป็นธนาคารหลักของ venture capital และ /startup หลายแห่งออกมาบอกนักลงทุนว่าไตรมาสก่อน ได้ขายพันธบัตรไป 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จนทำให้เกิดผลขาดทุนจากการขายตราสารหนี้ไป 1.8 พันล้านดอลลาร์ และต้องขายหุ้นเพิ่มทุน 2.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ทำเอานักลงทุนตกอกตกใจจนหุ้นธนาคาร Silicon Valley ร่วงไปกว่า 60% เกือบทันที และหลังปิดตลาดลงไปอีก 20% และคนฝากเงินเริ่มหวั่นไหวแห่กันถอนเงินออก

 

และล่าสุดถูกทางการเข้าควบคุมเรียบร้อยแล้ว  เรียกว่าปัญหาสองวันจบ  และที่น่าสนใจคือ Silicon Valley Bank เป็นธนาคารที่ได้ชื่อว่าค่อนข้างระมัดระวังในการบริหาร มีสินทรัพย์สภาพคล่องอยู่ค่อนข้างมาก ครึ่งหนึ่งของสินทรัพย์เป็นการลงทุนในตราสารหนี้ เช่นพันธบัตรรัฐบาล หรือ mortgage backed securities มีเงินสินเชื่อแค่หนึ่งในสาม NPL ค่อนข้างต่ำมาก (ต่ำกว่า 1%) และปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากคุณภาพสินทรัพย์แบบปัญหาธนาคารอื่นๆ

 

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิด จากการที่เงินฝากเริ่มลดลงหรือโตช้า เพราะ venture capital ทั้งหลายเริ่ม raise เงินยากขึ้น และกระแสเงินสดของ VC และบริษัท startup ซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคารเริ่มมีน้อยลง  เพราะ #cashburnจนเริ่มมีปัญหาสภาพคล่อง จนต้องเริ่มขายสินทรัพย์สภาพคล่อง เช่น ตราสารหนี้ออกมาและ #ปัญหาใหญ่ อยู่ที่เจ้าตราสารหนี้พวกนี้แหละ ที่ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เพราะมูลค่าหรือราคาของตราสารหนี้แปรผกผันกับอัตราผลตอบแทน (yield)
 

 

“ลองนึกภาพนะครับ ถ้าพันธบัตรที่ออกมาเมื่อสองปีก่อน ให้ดอกเบี้ยแค่ 1% ที่ราคาหน้าตั๋ว 100 บาท เมื่อระดับอัตราผลตอบแทนเพิ่มขึ้นไปที่ 5% พันธบัตรที่ออกมาเมื่อสองปีก่อนย่อมไม่น่าสนใจ เมื่อเทียบกับพันธบัตรที่เพิ่งออกมา ราคาตลาดก็ต้องปรับลดลงต่ำกว่า 100 บาทแน่ๆ”

 

โดยหลักการทางบัญชีแล้ว ธนาคารที่ถือตราสารหนี้เพื่อการลงทุนระยะยาว จะไม่บันทึกการปรับลดลงของมูลค่าตราสารหนี้จากการปรับผลตอบแทน เป็นการขาดทุนผ่าน income statement แต่จะเก็บไว้เป็น unrealized loss แทนเพราะถ้าเราถือพันธบัตรพวกนี้ไปจนครบกำหนดอายุของตราสาร มูลค่าก็จะกลับไปที่ราคา par เอง การขาดทุนนี้ก็จะค่อยๆหายไปเอง แต่ปัญหาจะบังเกิดเมื่อธนาคารต้องขายตราสารหนี้พวกนี้ออกมาในเวลาที่ยังขาดทุนอยู่ เพราะจะต้องบันทึกการขาดทุนผ่าน income statement และอัตราส่วนทุนของธนาคาร ก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย จนทำให้ธนาคารต้องเร่งเพิ่มทุนอย่างที่เห็น

 

จนเริ่มมีคนเริ่มถามว่า ปัญหาแบบนี้จะเกิดขึ้นกับธนาคารอื่นๆอีกหรือไม่ ⁉ และข้อมูลที่เห็นคือธนาคารในสหรัฐทั้งกลุ่มมี unrealized loss สูงมากถึง 6 แสนล้านเหรียญ (ในขณะที่ทุนรวมของธนาคารมีมากกว่าสองล้านล้านเหรียญสหรัฐ) จนหุ้นในกลุ่มธนาคารร่วงกันระนาว ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจจะเรียกได้ว่าเป็นปัญหาสภาพคล่องล้วนๆ (จากภาวะตลาดที่บริษัท startups ไม่สามารถหาเงินได้คล่องอย่างเดิม) จนเริ่มกระทบต่อสภาพคล่องของธนาคาร และถูกขยายผลจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น ในขณะที่ต้นทุนทางการเงิน และสภาพคล่องเริ่มโดนถอนออกไป

 

“ ผมไม่คิดว่าประเด็นนี้จะกลายเป็นปัญหาเชิงระบบ  และธนาคารใหญ่ๆ คงไม่ได้มีปัญหาอะไรขนาดนี้ แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับธนาคารอื่นๆที่มีวิกฤตศรัทธาแต่ก็คงต้องจับตากันดีๆครับ เพราะภาวะแบบนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้ครับ หวังว่าจะไม่ลามไปหาคนอื่นอีกนะครับที่แน่ๆทำเอาวงการ tech ที่โดนกระหน่ำอยู่แล้ว หวั่นไหวเลยแต่อันนี้น่าจะเป็นคำตอบของคำถามว่า will the Fed break something?”