posttoday

มองมาตรการของแบงก์ชาติกันความเสี่ยงโกงเงินได้ แบงก์พาณิชย์พร้อมเดินหน้า

11 มีนาคม 2566

หลังแบงก์ชาติวางกรอบสู้ภัยโกงเงินที่เน้น การป้องกัน การตรวจจับและติดตาม รวมถึงการตอบสนองและรับมือ พร้อมปักหมุดครบจบภายในเดือนมี.ค.นี้นั้น ล่าสุดแบงก์พาณิชย์ ทั้งไทยพาณิชย์และกรุงศรีย้ำพร้อมปฏิบัติได้ทันที แต่ยังต้องติดตามผลต่อไป

ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ออกมาตรการมาป้องกันภัยทุจริตทางการเงิน เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 เพื่อเป็นแนวปฏิบัติขั้นต่ำให้สถาบันการเงิน (สง.) ทุกแห่งปฏิบัติตามเป็นมาตรฐานเดียวกันในการดูแลการทำธุรกรรมทางการเงินตลอดเส้นทาง ทั้งการป้องกัน การตรวจจับ และการตอบสนองและรับมือ ซึ่งจะช่วยการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนทำได้รวดเร็ว และครอบคลุมมากขึ้น

 

เนื่องจาก ปัจจุบันภัยทุจริตทางการเงินมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและหลากหลายรูปแบบ เช่น SMS หลอกลวง แก๊งคอลเซ็นเตอร์ แอปพลิเคชันให้สินเชื่อปลอม และแอปพลิเคชันดูดเงิน โดยภัยหลอกลวงเหล่านี้ส่งผลกระทบให้ประชาชนต้องสูญเสียทรัพย์สิน หรือรายได้ที่เก็บออม รวมทั้งขาดความมั่นใจในการใช้บริการทางการเงินดิจิทัลของสถาบันการเงิน (สง.) ซึ่งอาจส่งผลกระทบในวงกว้างต่อการทำธุรกรรมทางการเงินในระยะต่อไป

 
โดย แบงก์ชาติ ตระหนักถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมา ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกภาคการเงินดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง บนหลักการป้องกัน ตรวจจับ และตอบสนองรับมือ เพื่อลดช่องทางของมิจฉาชีพ และช่วยแก้ไขปัญหาให้ประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อภัยการเงิน 


จนได้ออกแนวนโยบายเป็นชุดมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงินที่ดูแลตลอดเส้นทางการทำธุรกรรมทางการเงิน โดยกำหนดเป็นแนวปฏิบัติขั้นต่ำให้ สง. ทุกแห่งปฏิบัติตามเป็นมาตรฐานเดียวกัน  ซึ่งเน้นรักษาสมดุลระหว่างการบริหารจัดการความเสี่ยงกับการส่งเสริมบริการทางการเงินดิจิทัล ที่สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

 

1. มาตรการป้องกัน เพื่อปิดช่องทางที่มิจฉาชีพจะเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น ให้ สง. งดการส่งลิงก์ทุกประเภทผ่าน SMS อีเมล และงดส่งลิงก์ขอข้อมูลสำคัญ เช่น ชื่อผู้ใช้งาน รหัสผ่าน และเลขบัตรประชาชน ผ่านโซเชียลมีเดีย จำกัดจำนวนบัญชีผู้ใช้งาน mobile banking (username) ของแต่ละ สง. ให้ใช้ได้ใน 1 อุปกรณ์เท่านั้น


โดย สง. ต้องจัดให้มีการแจ้งเตือนผู้ใช้บริการ mobile banking ก่อนทำธุรกรรมทุกครั้ง และพัฒนาระบบความปลอดภัยบน mobile banking ให้เท่าทันภัยการเงินรูปแบบใหม่อยู่ตลอดเวลา ตลอดจนต้องยกระดับความเข้มงวดในกระบวนการยืนยันตัวตนขั้นต่ำด้วยการใช้เทคโนโลยีเปรียบเทียบข้อมูลอัตลักษณ์ทางกายภาพของลูกค้า (biometrics) เช่น สแกนใบหน้า

 
ส่วนกรณีลูกค้าขอเปิดบัญชีโดยผ่านแอปพลิเคชันของ สง. (non-face-to-face) หรือทำธุรกรรมผ่าน mobile banking ในเงื่อนไขที่กำหนดไว้ เช่น โอนเงินมากกว่า 50,000 บาท หรือปรับเพิ่มวงเงินทำธุรกรรมต่อวันเป็นตั้งแต่ 50,000 บาท ขึ้นไป

 
นอกจากนี้ จะกำหนดเพดานวงเงินถอน/โอนสูงสุดต่อวันให้เหมาะสมตามระดับความเสี่ยงของกลุ่มผู้ใช้บริการแต่ละประเภท โดยลูกค้าสามารถขอปรับได้ตามความจำเป็น และต้องยืนยันตัวตนอย่างเข้มงวด


2. มาตรการตรวจจับและติดตามบัญชี หรือธุรกรรมต้องสงสัย เพื่อให้ สง. ช่วยจำกัดความเสียหายได้เร็วขึ้น และลดการใช้บัญชีม้า ธปท. จะกำหนดเงื่อนไขการตรวจจับและติดตามธุรกรรมเข้าข่ายผิดปกติ หรือกระทำความผิด เพื่อให้ สง. รายงานไปสำนักงาน ปปง. และ สง. ต้องมีระบบตรวจจับและติดตามบัญชี หรือธุรกรรมต้องสงสัยแบบ near real-time เพื่อให้สามารถระงับธุรกรรมได้ทันทีเป็นการชั่วคราวเมื่อตรวจพบ

 

3. มาตรการตอบสนองและรับมือ เพื่อจัดการปัญหาให้ผู้เสียหายได้เร็วขึ้น ให้ สง. ทุกแห่งต้องมีช่องทางติดต่อเร่งด่วน (hotline) ตลอด 24 ชั่วโมง แยกจากช่องทางให้บริการปกติ เพื่อให้ผู้ใช้บริการแจ้งเหตุได้โดยเร็ว รวมทั้งให้ดูแลรับผิดชอบผู้ใช้บริการ หากพบว่าความเสียหายเกิดจากข้อบกพร่องของ สง. 


ทั้งนี้ ธปท. ได้เร่งให้ สง. ทุกแห่งต้องดำเนินมาตรการทั้งหมดโดยเร็ว โดยได้มีการเริ่มดำเนินการในบางมาตรการแล้ว ขณะที่มาตรการที่เหลือส่วนใหญ่จะกำหนดให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2566 และจะเร่งดำเนินการสำหรับบางมาตรการที่มีความซับซ้อนและต้องใช้เวลาในการปรับปรุง ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จตามเวลาที่กำหนดต่อไป

 

SCB พร้อมเดินหน้าทันที

ล่าสุดตัวแทนของธนาคารพาณิชย์ คือ กฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิช์ (SCB) ได้ให้ความเห็นต่อมาตรการของแบงก์ชาติที่ออกมาว่า ในเบื้องต้นนั้นถือมีความครอบคลุมในการดูแลความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากภัยการเงินได้อย่างเหมาะสม โดยทุกธนาคารสามารถรับลูกและนำไปปฏิบัติได้ในทันที

 

ทั้งในส่วนมาตรการเร่งด่วนที่หลายธนาคาร โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ อย่างเช่น SCB ได้เริ่มดำเนินการแล้ว เช่นเดียวกับอีกหลายมาตรการที่อยู่ระหว่างดำเนินการตามแผนของแบงก์ชาติ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการเข้าถึงบัญชีลูกค้า หรือในกรณีที่มิจฉาชีพสามารถเข้าถึงบัญชีลูกค้าได้ ก็จะช่วยลดระดับความเสียหายลงได้ในระดับหนึ่ง


โดยตัวอย่างการตอบรับมาตรการที่ SCB ได้ดำเนินการแล้ว เช่น ยกเลิกการส่ง SMS แบบแนบลิงก์ ซึ่ง SCB ได้เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคมเป็นต้นไป  การตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุภัยทางการเงินจากมิจฉาชีพ (Hot line) โทร.02777-7575 สามารถแจ้งเหตุได้ทันทีตลอด 24 ชั่วโมง เป็นต้น


นอกจากนี้มองว่าในระยะสั้น ทั้งแบงก์ชาติและทุกธนาคารต้องช่วยกันสื่อสารทำความเข้าใจกับลูกค้าในทุกช่องทาง เพื่อให้ลูกค้าของธนาคารรับทราบและเข้าใจถึงมาตรการที่ทุกธนาคารกำลังทำร่วมกันอยู่ ซึ่งอาจจะมีขั้นตอนที่ทำให้ลูกค้าต้องถูกลดความสะดวกหรือถูกลดความรวดเร็วในการทำธุรกรรม เช่น การต้องยืนยันตัวตนด้วย biometrics แต่ก็เพื่อความปลอดภัยของลูกค้าและความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมออนไลน์ในระยะยาว ซึ่งต้องสร้างให้เกิดความสมดุล

 

สำหรับมาตรการที่ออกมานี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่เหมาะสมและเชื่อว่าจะสามารถลดปัญหาที่เกิดขึ้นได้ พร้อมทั้งมีการประเมินผลกระทบและพัฒนาให้สอดรับกับสถานการณ์ในอนาคตต่อไป" 

 

ในแง่ความพร้อมของธนาคารที่จะปรับระบบหรือรูปแบบการทำงาน เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการต่าง ๆ ที่ออกมานั้น กฤษณ์เปิดเผยว่า SCB ตระหนักถึงความสำคัญเรื่องภัยทุจริตทางการเงินเป็นอย่างมาก ซึ่งปัจจุบันภัยที่มาจากออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง เกิดผลกระทบต่อลูกค้าและความเชื่อมั่นของประชาชนต่อระบบสถาบันการเงินในวงกว้าง  

 

ดังนั้น ทาง SCB จึงมีพัฒนาระบบความปลอดภัยในการทำธุรกรรมมาโดยตลอด และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับแบงก์ชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตอบสนองต่อมาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาในครั้งนี้  โดยมีส่วนที่ธนาคารได้ดำเนินการแล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินการตามแผนของแบงก์ชาติ ได้แก่

 

  • ตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุภัยทางการเงินจากมิจฉาชีพ (Hot line) โทร.02777-7575 สามารถแจ้งเหตุได้ทันทีตลอด 24 ชั่วโมง
  • การตรวจจับและติดตามธุรกรรมที่เข้าข่ายผิดปกติตลอด 24 ชม.
  • สนับสนุนการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจกรณีเกิดเหตุทุจริต
  • การรายงาน ปปง. เมื่อตรวจพบธุรกรรมที่ผิดปกติ หรือพบการกำระทำความผิด
  • ดูแลรับผิดชอบลูกค้า หากพบว่าความเสียหายเกิดจากความบกพร่องของธนาคาร
  • ยกเลิกการส่ง SMS แบบแนบลิงก์
  • ยกเลิกการส่ง email แบบแนบลิงก์
  • การห้ามส่ง link ขอข้อมูลส่วนบุคคล หรือ OTP ผ่าน social media
  • การให้ลูกค้ายืนยันตัวตนด้วย biometrics เมื่อเปิดบัญชีแบบ non-face-to-face  การเปลี่ยนวงเงิน และการโอนเงินตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป


ทั้งนี้ SCB มีความพร้อมที่จะดำเนินการตามมาตรการภายในกรอบระยะเวลาที่แบงก์ชาติกำหนดไว้อย่างแน่นอน พร้อมย้ำอีกว่า ธนาคารมีการสื่อสารให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับภัยทุจริตทางการเงินในรูปแบบต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง เพื่อให้รู้เท่าทันและสามารถป้องกันภัยจากมิจฉาชีพ 

 

กรุงศรีเน้น Digital Literacy 


ด้านพงษ์อนันต์ ธณัติไตร ประธานกลุ่มธุรกิจลูกค้ารายย่อยและลูกค้าบุคคล ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มองว่า มาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงินเป็นความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเส้นทางการทำธุรกรรมทางการเงินของลูกค้า ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยเร่งแก้ไขปัญหาและลดความเสี่ยงเรื่องของภัยทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด 

 

ดังนั้นกรุงศรีเชื่อว่า ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและมาตรการที่เกิดขึ้นจะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยบรรเทาและป้องกันภัยทางการเงินที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งหลังจากที่มาตรการต่าง ๆ ทยอยดำเนินการออกไปแล้วนั้น ธนาคารจะยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์ ประเมินประสิทธิผลของการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่ามาตรการต่าง ๆ จะสามารถช่วยเหลือลูกค้า และจัดการภัยทุจริตทางการเงินได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที


นอกจากนี้ พงษ์อนันต์ยังให้ควมเห็นอีกว่า ปัจจุบันการเข้าถึงประชาชนของมิจฉาชีพทำได้หลายช่องทางและหลายรูปแบบมาก สิ่งสำคัญนอกจากแนวทางการป้องกันอย่างเข้มงวดของทุกภาคส่วนแล้ว สิ่งที่กรุงศรีตระหนักและให้ความสำคัญอยู่เสมอคือ เรื่องของ Digital Literacy

 

ด้วยมองว่า การรู้เท่าทันและเข้าใจการใช้เครื่องมือหรือแพลตฟอร์มดิจิทัลอย่างเหมาะสม ซึ่งจะทำหน้าที่คล้ายกับเป็นภูมิคุ้มกันภัยทางการเงินได้ในระดับหนึ่ง อีกทั้งยังช่วยลดทอนความเสี่ยงที่เกิดขึ้น ดังนั้น นอกจากการดำเนินมาตรการต่างๆ แล้ว กรุงศรีจะเน้นย้ำในการสื่อสารและให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ เพื่อให้ลูกค้าเข้าใจและรู้เท่าทันภัยทางการเงินอย่างต่อเนื่อง

 

โดยเน้นย้ำต่อว่า กรุงศรีพร้อมให้ความร่วมมือและยกระดับมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างเต็มที่ ซึ่งธนาคารเองก็ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาโดยตลอดและมีแนวทางการดำเนินงานต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยป้องกันภัยทางการเงินรูปแบบต่าง ๆ

 

สำหรับมาตรการทั้ง 3 ส่วนของแบงก์ชาติ ไม่ว่าจะเป็นการป้องกัน ตรวจจับและติดตามบัญชี ตรวจสอบและรับมือ นั้น มีหลายส่วนที่ทางกรุงศรีได้ดำเนินการรุดหน้าไปก่อนแล้ว ซึ่งหลาย ๆ ส่วนก็สามารถช่วยเหลือลูกค้าได้อย่างทันท่วงที แต่อย่างไรก็ตามธนาคารไม่ได้นิ่งนอนใจและยังคงขับเคลื่อนมาตรการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง