posttoday

KKP กางแผนปี 66 เร่งขยายฐานลูกค้าการออมและการลงทุนผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล

31 มกราคม 2566

เกียรตินาคินภัทร ชี้สถานการณ์เศรษฐกิจปี 2566 ยังคงมีความน่ากังวลในเรื่องเงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยขาขึ้น และเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย เผยแนวทางการดำเนินธุรกิจเป็นการเติบโตอย่างระมัดระวัง มุ่งเน้นขยายฐานลูกค้าสินเชื่อในกลุ่มศักยภาพ พร้อมตั้งเป้าสินเชื่อรวม 13%

นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร KKP เปิดเผยว่า สำนักวิจัยของกลุ่มธุรกิจฯ KKP Research วิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ยังมีความเสี่ยงจากเงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยขาขึ้น และเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยที่จะส่งผลกระทบในวงกว้างและอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพสินเชื่อ แผนธุรกิจสำหรับปี 2566 จึงเป็นการเติบโตแบบระมัดระวัง โดยขยายฐานลูกค้าที่มีศักยภาพและต่อยอดการเชื่อมโยงธุรกิจของกลุ่มฯ ผ่านการขายขายผลิตภัณฑ์เกี่ยวข้อง (cross-selling) 

 

นอกจากนั้น กลุ่มธุรกิจฯ ยังมุ่งเดินหน้าใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มการออมและการลงทุนดิจิทัลของกลุ่มอย่างเต็มศักยภาพ ทั้ง Dime (ไดม์) และ Edge (เอดจ์) ที่จะเปิดตัวในระยะต่อไป โดยปัจจุบัน แอปพลิเคชัน Dime มีผู้ดาวน์โหลดแล้วกว่า 100,000 ราย และจะมีการจับมือกับพาร์ทเนอร์เพื่อขยายฐานลูกค้าและพัฒนาฟีเจอร์ที่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่หลากหลายยิ่งขึ้น พร้อมตั้งเป้าสินเชื่อรวม 13%   

 

สำหรับภาพรวมผลประกอบการในปีที่ผ่านมาของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร มีกำไรสุทธิ 7,602 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.3% จากปีก่อน โดยส่วนใหญ่มาจากธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ที่สินเชื่อรวมขยายตัว 21.4% จากการขยายตัวในสินเชื่อทุกประเภท ด้านธุรกิจตลาดทุน ยังคงความสามารถในการสร้างรายได้ที่ดี โดยธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ยังคงครองส่วนแบ่งอันดับหนึ่งของตลาด สำหรับธุรกิจการจัดการกองทุนก็มีรายได้เพิ่มขึ้น 

 

ส่วนธุรกิจการลงทุนยังคงเติบโตได้ดีจากฝ่ายค้าหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Equity and Derivative Trading) ที่ทำกำไรได้ดีในสภาวะผันผวน ด้านวานิชธนกิจมีรายได้ในระดับที่ดีจากธุรกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ในขณะที่ธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุนส่วนบุคคล (Wealth Management) ปัจจุบันมีปริมาณทรัพย์สินภายใต้คำแนะนำ (Asset Under Advice, AUA) อยู่ที่กว่า 7 แสนล้านบาท 

 

ในขณะที่แนวทางการดำเนินธุรกิจในปี 2566 ยังคงเป็นการเติบโตแบบมีกลยุทธ์ หรือการเลือกขยายสินเชื่อในกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพและสินเชื่อที่มีหลักประกัน เช่น สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อบ้าน การเดินหน้าเจาะตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์สินเชื่อใหม่ของธนาคารคือ ‘รถเรียกเงิน’ และการใช้ประโยชน์จากช่องทางดิจิทัลของธนาคารมากขึ้น ไม่ว่าแอป KKP Mobile หรือแอปของบริษัทในกลุ่มอย่าง Edge เพื่อเชื่อมโยงบริการของธนาคารเข้ากับบริการด้านการลงทุนที่เป็นความชำนาญของกลุ่มธุรกิจฯ

 

นายปรีชา เตชรุ่งชัยกุล ประธานสายการเงินและงบประมาณ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่มธุรกิจฯ มีกำไรสุทธิเท่ากับ 7,602 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.3% และมีกำไรเบ็ดเสร็จ 10,120 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43.2% จากปี 2564 โดยเป็นกำไรสุทธิของธุรกิจตลาดทุน จำนวน 758 ล้านบาทและเป็นกำไรเบ็ดเสร็จของธุรกิจตลาดทุน จำนวน 1,077 ล้านบาท ในส่วนของการตั้งสำรองสำหรับปี 2565 ยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับปี 2564 โดยมีอัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ที่ 154.4% 

 

นอกจากนี้ ธนาคารมีรายได้เพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิรวมถึงรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 19,081 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 21.5%  ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 8,457 ล้านบาท ลดลง 1.0% จากปี 2564 และธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) คำนวณตามเกณฑ์ Basel III ซึ่งรวมกำไรถึงสิ้นปี  2565 อยู่ที่ 16.26% และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 จะเท่ากับ 12.88 

 

ด้านนายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้ แม้จะมีความหวังฟื้นตัวจากภาคท่องเที่ยว และการเปิดประเทศของจีนที่เร็วกว่าที่คาด แต่อีกด้านหนึ่งเป็นการฟื้นตัวท่ามกลางพายุเศรษฐกิจโลก ที่ถาโถมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้ว จนทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปีนี้อาจไม่ทั่วถึง 

 

การคาดการณ์ล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจโลกกำลังจะชะลอตัวลงจากปีก่อน และหลายเศรษฐกิจขนาดใหญ่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่ด้วยปัญหาเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ธนาคารกลางไม่สามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินช่วยพยุงเศรษฐกิจ โดยเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจะกระทบกับภาคการส่งออกของไทยโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรก 

 

“ตัวเลขการส่งออกของไทยซึ่งเป็นเครื่องจักรหลักของเศรษฐกิจไทยในข่วงสองปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าช่วงปลายปีที่ผ่านมา ภาคส่งออกเริ่มหดตัว และมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากฐานที่สูง และจากมูลค่าเฉลี่ยของการส่งออกในระยะ 5 ปีหลัง การส่งออกไทยได้แตะจุดสูงสุดไปแล้วในปีที่แล้ว ดังนั้นจึงยากที่จะเติบโตในระดับสูงต่อไปในภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง โดยคาดว่าการส่งออกในปีนี้จะหดตัวอย่างน้อยในครึ่งปีแรก ก่อนจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีเมื่อเศรษฐกิจจีนกลับมาฟื้นตัว และการส่งออกทั้งปีจะติดลบ 1.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน” นายพิพัฒน์ กล่าว 

 

ทั้งนี้ KKP Research ได้ปรับคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้จาก 2.8% เป็น 3.6% โดยมีแรงส่งจากภาคท่องเที่ยวที่กำลังฟื้นตัว และการเปิดประเทศเร็วกว่าที่คาดของจีนทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้จะไปแตะระดับ 25 ล้านคน จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 19 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ด้วยการกระจุกตัวของภาคท่องเที่ยวไทยและห่วงโซ่อุปทานที่ไม่ยาวเหมือนกับภาคการผลิตจะทำให้มีเพียงบางจังหวัดหรือบางภาคเศรษฐกิจเท่านั้นที่ได้รับอานิสงส์โดยตรงจากการฟื้นตัวนี้  

 

ในภาพรวมความเสี่ยงเศรษฐกิจที่ต้องติดตามในปีนี้ได้แก่ 1. การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะมาถึงเร็วและรุนแรงแค่ไหน และกระทบเศรษฐกิจไทยอย่างไร 2. เงินเฟ้อโลกและเงินเฟ้อไทยที่ยังอยู่ในระดับสูงจะสามารถกลับมาสู่ระดับปกติได้เร็วเพียงใด และ 3. การเปิดเมืองของจีนจะราบรื่นตลอดทั้งปีหรือไม่ รวมไปถึงความเสี่ยงจากการระบาดของโควิดที่ยังไม่สามารถมองข้าม นอกจากนี้ปีนี้ ยังเป็นปีที่ประเทศไทยมีการเลือกตั้งซึ่งอาจเพิ่มตัวแปรที่กระทบต่อเศรษฐกิจเช่นกัน