posttoday

รวมสถิติ ‘บัญชีม้า’ ปัญหาที่ ‘ธนาคาร’ ไม่เคยแชร์(ให้)กัน

27 มกราคม 2566

ต้นเหตุการถูกหลอกโอนเงินส่งต่อกันหลายบัญชีไปยังมิจฉาชีพปลายทาง ธนาคารไม่สามารถระงับหรืออายัดบัญชีได้ทัน แม้กระทั่งข้อมูลของผู้เปิดบัญชีม้าที่แต่ละธนาคารยังไม่แชร์ร่วมกัน เพราะติดขัดข้อกฎหมาย

การเร่งออก พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. ....ที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้เร็ววันนี้ สาเหตุหลักมาจาก ธนาคารไม่สามารถระงับการโอนเงินที่ผิดปกติ หรือ การถูกหลอกโอนเงินได้ทันทีที่มีการแจ้งปัญหา เนื่องจากธนาคารไม่มีอำนาจตามกฎหมาย หากดำเนินการโดยไม่มีใบแจ้งความจากสถานีตำรวจ ธนาคารเองกลัวจะถูกเจ้าของบัญชีปลายทางฟ้องร้อง 

 

ธนาคาร-ค่ายมือถือ ต้องแชร์ข้อมูล

 

ที่สำคัญ แต่ละธนาคารไม่มีการเปิดเผยข้อมูลซึ่งกันและกันถึงรายชื่อของบัญชีม้า เพราะติดเรื่องข้อกฎหมาย เช่นกัน จึงมักเห็นคนที่ทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า เปิดบัญชีที่ธนาคารหนึ่ง เมื่อถูกจับได้ ก็ไปเปิดบัญชีอีกธนาคารหนึ่ง  ได้อย่างสบาย กฎหมายนี้ธนาคารต้องเปิดเผยและแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกัน

 

ทั้งนี้กฎหมายที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ จึงระบุชัดเจนว่า สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจ มีอำนาจแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีและธุรกรรมของลูกค้าผ่านระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูล รวมถึงผู้ให้บริการโทรคมนาคม (เนื่องจากอี-แบงก์กิ้งใช้ซิมในการเปิดการใช้งาน และมีการโอนผ่านเครือข่ายมือถือ)  มีอำนาจแลกเปลี่ยนข้อมูล และให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงาน ปปง. และหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตเข้าถึงข้อมูลที่มีการแลกเปลี่ยนได้ เพื่อให้เห็นชุดข้อมูลมิจฉาชีพร่วมกัน เพื่อการแจ้งเตือน และระงับเหตุ
 

 

เปิดสถิติจับบัญชีม้าปี 2565

 

เพียงเสี้ยววินาที เงินที่ถูกโอนออกไปอย่างรวดเร็วนั้น มีกระบวนการโอนเงินต่อๆกัน ไปยัง “บัญชีม้า” หรือ ผู้รับจ้างเปิดบัญชี ซึ่งส่วนใหญเป็นระบบ อี-แบงก์กิ้ง ไปถึงหัวหน้ากระบวนการ ท้ายสุดคือการแปลงเป็นสกุลเงินดิจิทัลออกนอกประเทศ

 

ทำให้คดีการถูกหลอกโอนเงินส่วนใหญ่ ไม่ได้เงินคืน  ซึ่งรูปแบบของการถูกหลอกให้โอนเงินมีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การหลอกให้คลิกลิงค์ปลอม เพื่อฝังโปรแกรมรีโมทโอนเงินจากโทรศัพท์มือถือระยะไกลแบบไม่รู้ตัว , การหลอกถามข้อมูลส่วนตัว นำไปเปิดบัญชี อี-แบงก์กิ้ง ด้วยซิมผี หรือแม้แต่การหลอกให้รักให้โอนเงิน ซึ่งคนหลอกไม่ได้ใช้บัญชีธนาคารของตนเอง 

 

จากสถิติการจับกุมบัญชีม้าตลอดทั้งปี 2565 พบว่า 

ดำเนินคดีแก๊ง Call Center ในต่างประเทศ 8 ครั้ง จับกุมผู้ต้องหา 166 คน

ปิดกั้นการโทรหลอกลวง/ข้อความ SMS หลอกลวง จำนวน 118,530 หมายเลข

 

การอายัดบัญชีม้าจำนวน 58,463 บัญชี และปิดกลุ่มโซเชี่ยลมีเดียซื้อขายบัญชีม้า จำนวน 8 กลุ่ม

 

การดำเนินคดีหลอกลวงลงทุน ระดมทุน ออนไลน์และหลอกลวงทางการเงิน ดำเนินคดีจำนวน 657 คดี จับกุมผู้ต้องหาจำนวน 673 ราย

 

การปราบพนันออนไลน์ โดยดำเนินคดี 318 คดี มีผู้ต้องหาจำนวน 461 ราย และปิดกั้นเว็บพนันจำนวน 1,830 เว็บ

 

การดำเนินคดีหลอกลวงซื้อขายสินค้าบริการออนไลน์ จำนวน 263 คดี และจับกุมผู้ต้องหาจำนวน 270 ราย

 

ขณะที่สถิติซิมผี หรือ เบอร์โทรศัพท์มือถือที่มีเจ้าของเบอร์มากกว่า 5 -100 เบอร์ขึ้นไป จำนวน 3.36 ล้านเลขหมาย ได้แก่

 

กรณีผู้มี 100 ซิมขึ้นไป ประมาณ 8,000 ราย คิดเป็น 800,000 เบอร์ 

 

กรณีผู้มี 30 ซิมขึ้นไป ประมาณ 22,000 ราย คิดเป็น 660,000 เบอร์ 

 

กรณีผู้มี 5 ซิม ขึ้นไป ประมาณ 380,000 ราย คิดเป็น 1,900,000 เบอร์ 

 

ดังนั้นเมื่อมี พ.ร.ก.ดังกล่าว จะทำให้ธนาคารสามารถเปิดเผยข้อมูลระหว่างธนาคารและสั่งระงับบัญชีได้ทันทีเมื่อมีการร้องเรียนหรือตรวจพบการโอนเงินผิดปกติโดยไม่ต้องรอใบแจ้งความก่อน จะทำให้ช่วยป้องกันการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที

 

เพิ่มโทษบัญชีม้า

 

การเปิดบัญชีม้า มีความผิดมาตั้งหลายปีแล้ว โดยจะสังเกตได้ตามสาขาธนาคารที่มีป้ายเตือนเสมอถึงการเปิดบัญชีม้าว่าผิดกฎกมาย แต่ด้วยโทษที่ไม่หนัก ระวางโทษจำคุก 1-10 ปีหรือปรับตั้งแต่ 20,000 ถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพ.ศ. 2542 

 

ทำให้ปัญหาดังกล่าวยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงขั้นมีการโฆษณาซื้อขายบัญชีม้าในโลกโซเชียล ดังนั้นกฎหมายดังกล่าวจึงมีการเพิ่มโทษกับผู้เปิดบัญชีม้า และ ผู้โฆษณาเชิญชวนรับซื้อบัญชีม้า ได้แก่

 

ห้ามมิให้ผู้ใดเปิดบัญชี บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ได้มีเจตนาใช้เพื่อตน และห้ามไม่ให้ผู้ใดยินยอมให้บุคคลอื่นใช้หรือยืมใช้ซิมโทรศัพท์ของตนในทั้งที่รู้หรือควรจะรู้ ซึ่งอาจจะนำไปใช้ในการทุจริตหรือทำผิดกฎหมาย ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ห้ามไม่ให้ผู้ใดเป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใดๆ เพื่อให้มีการซื้อหรือขายบัญชี บัตรอิเล็กทรอนิกส์ กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือซิมโทรศัพท์ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการกระทำความผิดอาญา ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 200,0000 บาท ถึง 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ใครคือบัญชีม้า

 

"บัญชีม้า" คือ บัญชีเงินฝากธนาคารของบุคคลอื่นซึ่งถูกคนร้ายนำมาใช้เป็นช่องทางในการรับเงินและถ่ายโอนเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิด เพื่อป้องกันไม่ให้มีพยานหลักฐานเชื่อมโยงมาถึงตัวได้ คนร้ายสามารถทำได้หลายวิธีเพื่อให้ได้มาซึ่งบัญชีม้า ทั้งจากการโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อนำไปใช้เปิดบัญชีในชื่อของคนนั้น ๆ หรือจ้างให้บุคคลอื่นเปิดบัญชี หรือรับซื้อบัญชีเงินฝากธนาคารของบุคคลทั่วไปเพื่อนำไปใช้กระทำความผิด

 

มีการขายบัญชีเงินฝากธนาคารอย่างเปิดเผย ตั้งแต่ราคา 800 บาท จนถึง 20,000 บาท โดยบัญชีม้าเหล่านี้จะถูกรวบรวมเป็นแพ็กเกจพร้อมกับสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและซิมการ์ดโทรศัพท์ที่เจ้าของบัญชีเปิดใช้งานด้วย เพื่อให้คนร้ายที่ซื้อบัญชีม้าไปแล้วสามารถนำข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของบัญชีไปผูกกับ mobile banking เพื่อใช้ทำธุรกรรมออนไลน์ได้ทันที

 

รวมสถิติ ‘บัญชีม้า’ ปัญหาที่ ‘ธนาคาร’ ไม่เคยแชร์(ให้)กัน

 

บัญชีม้าถูกนำมาใช้ในการกระทำความผิดต่าง ๆ มากมาย  ซึ่งจำแนกตามกลุ่มความผิด ได้แก่ ความผิดเกี่ยวกับการพนัน ฉ้อโกง ยาเสพติด และความผิดอื่น ๆ เช่น กลุ่มนอมินีของมิจฉาชีพ ซึ่งในอดีตพบว่ากลุ่มที่มีการนำบัญชีม้าไปใช้ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเครือข่ายยาเสพติด กลุ่มวงการพนัน รวมทั้งกลุ่มนอมินีที่ใช้ในการทำธุรกรรมทางการเงินแทนผู้รับประโยชน์ที่แท้จริงที่อยู่เบื้องหลัง ปัจจุบันพบว่า บัญชีม้าถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นในการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับการหลอกลวงฉ้อโกง

 

การทำงานของบัญชีม้า

 

คนร้ายมักจะมีบัญชีม้าหลาย ๆ บัญชี เพื่อใช้โอนส่งเงินต่อกันไปเป็นทอด ๆ เพื่อป้องกันการถูกตำรวจตรวจสอบหรืออายัดเงินในบัญชีม้า เช่น เมื่อผู้เสียหายถูกหลอกให้โอนเงินเข้าบัญชีม้าที่ 1 แล้ว คนร้ายก็จะโอนเงินออกจากบัญชีดังกล่าวต่อไปยังบัญชีม้าที่ 2 จากบัญชีม้าที่ 2 โอนต่อไปยังบัญชีม้าที่ 3 และที่ 4 ซึ่งบางรายมีจำนวนบัญชีม้าถึง 5 บัญชี ท้ายที่สุดคนร้ายก็จะถอนเงินของเหยื่อหรือผู้เสียหายออกไป ซึ่งการโอนเงินจากบัญชีม้าหลายทอดเช่นนี้ตั้งแต่ต้นจนจบใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น และหากถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจอายัดบัญชีม้าบัญชีใด ก็จะเปลี่ยนไปใช้บัญชีม้าอื่น ๆ ที่ยังสามารถใช้งานแทนได้

 

รวมสถิติ ‘บัญชีม้า’ ปัญหาที่ ‘ธนาคาร’ ไม่เคยแชร์(ให้)กัน

 

นอกจากนี้ คนร้ายอาจใช้บัญชี cryptocurrency wallet ซึ่งไม่ได้เปิดใช้บริการผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset exchange) ที่ได้รับอนุญาตในประเทศไทย โดยคนร้ายอาจจะทำการโอน cryptocurrency แบบ Peer-to-Peer (P2P) หรือผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ในต่างประเทศ ทำให้จับกุมผู้กระทำผิดได้ยาก

 

ดังนั้นหัวใจของกฎหมายคือการระงับบัญชีให้ทัน เพียงแต่ว่าการติดต่อกับธนาคารนั้น ผู้เสียหายควรมีช่องทางติดต่อที่รวดเร็วกว่าการโทรหาเบอร์คอลเซ็นเตอร์ของธนาคารเพราะใช้เวลานานมากกว่ากว่าระบบตอบรับอัตโนมัติจะโอนสายไปยังเจ้าหน้าที่ เพราะถึงมีกฎหมายช่วยก็คงไม่ทันแก๊งมิจฉาชีพที่โอนเงินออกไปอย่างรวดเร็ว