posttoday

กนง. มติเอกฉันท์ให้ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% รับลูกเศรษฐกิจรุ่ง

25 มกราคม 2566

กนง. โหวตเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ด้วยเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง จากธุรกิจท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน ที่รับแรงส่งจากนักท่องเที่ยวจีนเข้าไทย แม้ส่งออกชะลอตัวในปีนี้ แต่มีแววฟื้นปีหน้า และยังเสี่ยงเงินเฟ้ออาจสูงขึ้นจากแรงบวกของอุปสงค์ในอนาคต

นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 25 มกราคม 2566 ว่าทางคณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.25 เป็นร้อยละ 1.50 ต่อปี โดยให้มีผลทันที

 

ด้วยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนจะได้รับแรงส่งต่อเนื่องจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน ขณะที่การส่งออกสินค้าชะลอตัวในปีนี้ แต่จะกลับมาขยายตัวดีขึ้นในปี 2567 ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ปรับดีขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มลดลง แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัวในระดับสูง และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

 

ทางคณะกรรมการฯ จึงเห็นว่าการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี ในการประชุมครั้งนี้ 

 

ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวเร็วขึ้นตามการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการจ้างงานและการกระจายรายได้ของลูกจ้างในภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มีจำนวนมาก รวมทั้งเป็นแรงส่งต่อเนื่องไปยังการบริโภคภาคเอกชน 

 

ขณะที่การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มชะลอลงในปีนี้ แต่จะฟื้นตัวในปี 2567 ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะผ่านจุดต่ำสุดในปี 2566 ก่อนจะปรับดีขึ้นในปีหน้า ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงด้านต่ำลดลง ตามแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจหลักรวมถึงจีนที่ปรับดีขึ้น

 

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มลดลง โดยแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานทยอยคลี่คลายตามราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่ปรับลดลง แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะทรงตัวในระดับสูงอีกระยะหนึ่งก่อนจะทยอยปรับลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย

 

อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีความเสี่ยงที่จะอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาดจากการส่งผ่านต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการเผชิญภาวะต้นทุนสูงต่อเนื่อง อีกทั้งการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวจะส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์เพิ่มขึ้น จึงต้องติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด 

 

ส่วนระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนมีแนวโน้มปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ฐานะการเงินของผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนบางส่วนยังเปราะบางและอ่อนไหวต่อค่าครองชีพและภาระหนี้ที่สูงขึ้น

 

ทางคณะกรรมการฯ จึงเห็นควรดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเห็นความสำคัญของการมีมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง

 

ด้านภาวะการเงินโดยรวมผ่อนคลายลดลง ซึ่งต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนปรับสูงขึ้นสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการสิ้นสุดมาตรการปรับลดอัตราเงินนำส่งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF fee) แต่ปริมาณสินเชื่อและการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ยังขยายตัว 


ขณะที่ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบเงินเหรียญสหรัฐ ปรับแข็งค่าขึ้น ตามการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในอัตราที่ชะลอลง และการผ่อนคลายมาตรการการเดินทางของจีนที่จะส่งผลบวกต่อการท่องเที่ยวไทย ซึ่งคณะกรรมการฯ จะยังติดตามพัฒนาการในตลาดการเงินและความผันผวนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด

 

ทั้งนี้ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ จึงประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยต้องติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้อจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อาจเพิ่มขึ้น

 

กนง. จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยพร้อมที่จะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้

 

GDP ของไทย น่าจะมี upside อยู่บ้าง แต่ยังต้องดูเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลกด้วย แต่การส่งออกน่าจะแผ่วกว่าที่มองไว้ จึงยังใช้เวลาสักพัก และไม่ฟื้นเต็มที่
 

 

ทั้งนี้นายปิติได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับประเด็นการแข็งค่าของเงินบาทนั้น ตอนนี้ทำให้ค่าเงินบาทเแข็งขึ้นไปแล้ว 4-5% สูงกว่าเพื่อนบ้านที่ขึ้น 2% เพราะไทยได้รับอานิสงค์มากกว่า เช่น จากตัวเลขนักท่องเที่ยวจีน แต่แบงก์ชาติยังเฝ้าติดตามดูไปก่อน เพราะตลาดได้ price in ศักยภาพของประเทศไทยไปด้วย จึงทำให้สินทรัพย์ในไทยน่าสนใจลงทุน

 

ส่วนการส่งผ่านการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ในระยะต่อไปนั้น นายปิติมองว่า ในรอบนี้เห็นว่าธนาคารพาณิชย์พยายามแยกแยะการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ย ไม่ให้กระทบกับกลุ่มเปราะบาง เช่น การปรับอัตราดอกเบี้ย MRR ในระดับที่น้อยกว่าในอดีตไปพอสมควร และตลาดเองก็ได้คาดเดาไว้แล้วในระดับหนึ่ง จึงเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะไม่มีใครอยากให้เกิดปัญหาหนี้เสีย จากที่ต้องมีภาระการผ่อนชำระเพิ่ม