โรบินฮู้ด ต้องกำไร ยิบอินซอย ลุยฟู้ดเดลิเวอรี่ สไตล์ Caring Society
ชื่อของ “ยิบอินซอย” ภายใต้การนำของ “มรกต ยิบอินซอย” ถูกพูดถึงในตลาดฟู้ด เดลิเวอรี่ อีกครั้ง เมื่อ ฟู้ดแพนด้า ที่กำลังจะประกาศปิดให้บริการในประเทศไทยในวันที่ 23 พ.ค.2568 นี้ ได้ส่งต่อบริการให้ โรบินฮู้ด หากฐานลูกค้าเดิมทั้งไรเดอร์ ร้านค้า และผู้บริโภคสนใจใช้บริการต่อเนื่องก็สามารถเข้าไปใช้งานบนแอป โรบินฮู้ด ได้
เหตุใดในเธอจึงหลงใหลในธุรกิจ “ฟู้ด เดลิเวอรี่” เพราะตอนที่เธอตัดสินใจซื้อระบบของ “โรบินฮู้ด” มาจาก SCBX ที่ประสบปัญหาขาดทุน แน่นอนว่า “ทุกคนห้าม” และในเวลานี้ เธอ ก็ยังเจรจากับฟู้ด แพนด้า ซึ่งขาดทุนไม่แพ้กัน ในการรับไม้ต่อจากฟู้ด แพนด้า ท่ามกลางสมรภูมิการแข่งขันของตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ที่ดุเดือดนี้
“มรกต ยิบอินซอย” กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยิบอินซอย จำกัด ทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูล “ยิบอินซอย” เล่าว่า ยิบอินซอย อยู่ในประเทศไทยจะครบ 100 ปี ในปีหน้าแล้ว เธอไม่มีทาง “เผาเงิน” แน่นอน เพราะเมื่อได้ศึกษาในธุรกิจนี้อย่างลึกซึ้งแล้วพบว่า การขาดทุนเกิดจากการจัดโปรโมชันส่งฟรี ทำให้ต้องนำเงินไปชดเชยให้กับไรเดอร์
ดังนั้นเมื่อ “โรบินฮู้ด” มาอยู่ใต้ร่ม “ยิบอินซอย” ต้องไม่มีการจัดโปรโมชั่นที่เป็นต้นทุนทำให้ขาดทุน แน่นอน รวมถึงการเก็บค่าธรรมเนียมร้านค้า ซึ่งตอนแรก SCBX เขาสร้างโรบินฮู้ดขึ้นมาเพื่อซีเอสอาร์ เขาไม่เก็บ แต่ ยิบอินซอย ต้องเก็บ โดยเธอมองว่า “การทำธุรกิจต้องมีต้นทุน” แต่เก็บในอัตราที่น้อยกว่ารายอื่นแน่นอน เพียง 28% และไม่มีการเก็บเพิ่มเติมเพื่อให้ร้านค้าทำการตลาด หรือ เก็บเพิ่มเพื่อให้เห็นร้านค้าได้ง่ายในแอป
ทำไมถึงมั่นใจว่า “โรบินฮู้ด” ต้องกำไร
“เมื่อเรารู้ต้นทุน เราจะไม่ขาดทุน โรบินฮู้ดปีนี้ ต้องกำไร” สิ่งที่ “มรกต” มั่นใจว่า ต้องกำไร นอกจากการรับรู้ต้นทุนแล้ว การบริหารงานภายใต้บริษัทคนไทย ที่มีความยืดหยุ่นในการปรับรูปแบบบริการให้เข้ากับคนไทย สไตล์ไทย และเติมเสน่ห์ ในแบบไทย จะทำให้ “โรบินฮู้ด” เข้าไปนั่งอยู่ในใจของลูกค้า ร้านค้า และ ไรเดอร์ ได้ไม่ยาก
เธอขยายความว่า การสร้างโรบินฮู้ด สไตล์ ยิบอินซอย ที่เป็นจุดแข็งไม่เหมือนใคร คือการ ใส่ใจ หรือ Caring Society ทั้งลูกค้า ร้านค้า และไรเดอร์ ทำอย่างให้ให้ลูกค้าพอใจ ไม่ต้องรออาหารนาน เพราะไรเดอร์ไม่พ่วงออเดอร์ หรือลูกค้าอยากให้ทำตามออเดอร์ เช่น สั่งอาหารถวายเพลพระ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับอย่างดี โดยในแอปยังมีการพัฒนาแชทหลังบ้านให้ส่งรูปถ่ายมายังลูกค้าได้อีกด้วย
ขณะที่ไรเดอร์เอง ก็ไม่ต้องทำงานหนัก เพราะไม่มีการบังคับให้พ่วงออเดอร์ หรือ บังคับให้ส่งแต่กับโรบินฮู้ด เท่านั้น เพราะไรเดอร์เป็นอาชีพอิสระ เขาต้องมีสิทธิ์เลือกทำงาน จะปิด หรือ เปิด แอปเมื่อไหร่ก็ได้ที่เขาพร้อม ขณะเดียวกัน ยิบอินซอย ก็จะมีการอบรมให้ความรู้เรื่องต่างๆที่จำเป็นกับไรเดอร์อย่างต่อเนื่อง เช่น การอบรมด้านจราจร เป็นต้น
ส่วนร้านค้าเอง เธอ กำลังมีแนวคิดในการจับกลุ่มสินค้าเป็นย่านๆ เพื่อให้ผู้บริโภคค้นหาได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องเสียเงินจ่ายเพื่อโปรโมทหน้าแอปให้ลูกค้าเห็น รวมถึงยังได้มีการนำเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยปรับเปลี่ยนแอปให้เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งอยู่ในช่วงซอฟต์ลอนซ์ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่อาจจะได้มาจากการแนะนำจากฟู้ด แพนด้า ที่ได้ตกลงความร่วมมือกัน และมีแผนในการขยายตลาดไปยังหัวเมืองต่างๆภายในสิ้นไตรมาสที่ 4 ของปี 2568 นี้
เรายอมรับว่า เรายังมีร้านค้า และไรเดอร์ไม่มาก แต่เราจะทำธุรกิจแบบคุมต้นทุนให้ดี และเจาะกลุ่มลูกค้าอีกกลุ่มที่ไม่ได้ต้องแข่งขันกันเรื่องราคา ซึ่งตอนนี้เราทำเฉพาะการสั่งอาหาร หากเราแข็งแรงพอ เราจะขยายไปสู่ การท่องเที่ยว การส่งของด่วน มาร์ท และการเรียกรถต่อไป เพราะแอปโรบินฮู้ด เป็นแอปที่แข็งแรงมาก มีพร้อมทุกบริการ มั่นใจได้เพราะ SCBX เป็นคนพัฒนา
โรบินฮู้ด เชื่อมต่อ ยิบอินซอย แบบ B2C ครั้งแรก
“มรกต” เล่าวว่า โรบินฮู้ด จะกลายเป็นรายได้ใหญ่ต่อไปในอนาคตของ ยิบอินซอย เพราะนี่คือ ธุรกิจของยิบอินซอยที่เข้าถึงผู้บริโภคแบบ B2C เป็นครั้งแรก ตลอดระยะเวลาเกือบ 100 ปี ยิบอินซอย คือคนทำระบบไอทีให้กับหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนแบบ B2B แต่ละโครงการใช้เวลานานกว่าจะเสร็จ แต่โรบินฮู้ด เป็นสิ่งที่เราได้กระแสเงินสดทุกวัน ขณะที่ทีมงานเองก็ตื่นเต้น และ สนุก ที่ได้ทำงานใหม่ๆ
โรบินฮู้ด จะสามารถต่อยอดทำอะไรได้อีกหลายอย่าง อนาคตอาจจะกลายเป็นแพลตฟอร์มขายของก็ได้ หรืออาจจะร่วมมือกับ บางจาก ในการนำรถมอเตอร์ไซต์ไฟฟ้า Winnonie ที่ยิบอินซอยเข้าไปร่วมลงทุนในสตาร์ทอัพของบางจากมาใช้กับไรเดอร์ของโรบินฮู้ด เพราะยิบอินซอยมีลูกค้าองค์กรจำนวนมากในหลากหลายอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังมีเพื่อนธุรกิจที่ทำกิจกรรมซีเอสอาร์ด้วยกันเสมอๆอีกด้วย
ธุรกิจหลักของ ยิบอินซอย ประกอบด้วย
กลุ่มเกษตรและเทคโนโลยีทางการเกษตร – ธุรกิจเกษตรเป็นธุรกิจที่ครอบครัวทำมาตั้งแต่แรก เช่น การนำเข้าปุ๋ยเคมีและอุปกรณ์ทางการเกษตรต่างๆ และในปัจจุบันก็ได้พัฒนามาสู่การใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับเกษตรกร
กลุ่มไอทีและอินฟราสตรักเจอร์ – นี่เป็นหนึ่งในธุรกิจที่สร้างรายได้หลักของ ยิบอินซอย โดยมีการให้บริการด้านไอทีครบวงจร การปรับเปลี่ยนโครงสร้างด้านดิจิทัลเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงและความต้องการของตลาดในปัจจุบัน
กลุ่มพลังงาน – ยิบอินซอย ได้ขยายธุรกิจมาสู่กลุ่มไฟฟ้ากำลังและพลังงานสะอาด เน้นการสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนให้สอดคล้องกับเทรนด์โลกที่มุ่งไปสู่การรักษาสิ่งแวดล้อม
แพลตฟอร์มและบริการ – หนึ่งในธุรกิจที่ใหม่และมาแรงคือ แพลตฟอร์ม as a Service เช่น การเข้าซื้อและดำเนินการแพลตฟอร์มโรบินฮู้ด ซึ่งถือเป็นการปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ และเป็นการเปิดตลาดใหม่ให้กับบริษัท
ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสังคม – ยิบอินซอย ไม่เพียงแต่ทำธุรกิจเพื่อผลกำไร แต่ยังมุ่งเน้นการทำวิสาหกิจเพื่อสังคม ซึ่งเน้นการสร้างคุณค่าและผลประโยชน์ให้กับชุมชน
เธอสะท้อนแนวคิดการทำงานของ “ยิบอินซอย” ว่า เธอเป็นคนมีเพื่อนทางธุรกิจเยอะ การทำงานต้องเน้นจับมือกัน ทำงานร่วมกัน คนตัวเล็กต้องรวมพลังกัน วัฒนธรรมของยิบอินซอยคือการช่วยเหลือสังคมอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว
ดังนั้นการเดินหน้าธุรกิจของ “ยิบอินซอย” จะไม่ทำคนเดียว แต่เราจะหาเพื่อนธุรกิจเดินคู่ไปกับเรา เพื่อให้ “โรบินฮู้ด” เติบโตอย่างยั่งยืน