“ทรัมป์” ตั้งกำแพงภาษี ไทยมีโอกาสเป็นฐานผลิตสินค้าไอที
“ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์” ดีป้า มองไทยได้โอกาส กรณี โดนัลด์ ทรัมป์ ตั้งกำแพงภาษี หนุนประเทศไทยคว้าโอกาสฐานการผลิตสินค้าไอที เหตุภูมิรัฐศาสตร์ดี คาดอุตสาหกรรมดิจิทัลปี 68 โต 13%
นโยบายด้านภาษีของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลก โดยประเทศไทยกำลังถูกจับตามองว่าเป็นหนึ่งในเป้าหมาย ด้วยเหตุผลที่การส่งออกเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯด้วยหรือไม่นั้น
เรื่องดังกล่าว นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ถือเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทย เนื่องจากที่ตั้งของประเทศไทย อยู่ในภูมิรัฐศาสตร์ที่ดี การที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศนโยบาย ที่มีผลกระทบในภูมิภาคนี้ เชื่อว่าจีนคงมีความเคลื่อนไหวในอนาคต ประเทศไทยอยู่ตรงกลาง ที่มีภูมิศาสตร์ที่ดี นั้นจะสามารถวางตัวให้อยู่ในฐานะ วิน-วิน ได้ประโยชน์กับทุกฝ่ายได้
หากถามว่าต่อไปประเทศไทยต้องเลือกใช้เทคโนโลยีใดระหว่างของจีน หรือ สหรัฐอเมริกา ที่ปัจจุบัน จีน ได้พัฒนาตัวเองขึ้นมามีเทคโนโลยีที่ไม่แพ้ฝั่งตะวันตกแล้วนั้น นายณัฐพล เชื่อว่า ต่อไปหลายๆผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องภาษีมากขึ้น หรืออาจมีการตั้งกำแพงภาษีนั้น กระทรวงการพาณิชย์ของไทย จะเข้าไปเจรจาพูดคุยได้ สิ่งสำคัญ คือ ประเทศไทยต้องทำให้ผู้ที่ต้องการย้ายฐานการผลิตด้านเทคโนโลยีมาเลือกใช้ไทยเป็นฐานเพื่อผลิตให้ได้
ประเทศไทยมีภูมิรัฐศาสตร์ที่ดี การขนส่งที่ได้เปรียบกับอีกหลายๆประเทศในภูมิภาคนี้ จึงมองว่าหากบริหารความเสี่ยงให้ดีจะกลายเป็นโอกาสของประเทศไทย
นายณัฐพล กล่าวต่อว่า สำหรับอุตสาหกรรมดิจิทัลของไทยในปี 2568 นี้ คาดว่าจะเติบโตประมาณ 12-13% โดยในอนาคตอันใกล้มองว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI จะเข้ามาแทนที่การทำงานของคนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทางดีป้าจะขอเข้าพบปรึกษาหารือกับ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี ว่าประเทศไทยจะมีนโยบายการทำงาน เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างไรบ้าง
ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของดีป้าได้พยายามส่งเสริม เทค สตาร์ทอัพของไทย เพื่อให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ดิจิทัลที่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ โดยปีนี้จะเปลี่ยนรูปแบบ ด้วยการให้ทุนตั้งต้น สำหรับสตาร์ทอัพที่มีไอเดีย จำนวน 2 แสนบาท จำนวน 200 ทุน ซึ่งเป็นทุนให้เปล่า เน้นผู้ที่มีไอเดียที่สามารถต่อยอดได้ และจะมีการดึงบริษัทชั้นนำ เช่น กูเกิล หัวเว่ย ไมโครซอฟท์ และ เอดับบิวเอส เข้ามาร่วมโครงการด้วย ซึ่งช่วงที่ผ่านมาดีป้าถือเป็น แองเจิ้ล อินเวสเตอร์ ที่เป็นหน่วยงานรัฐที่มีพอร์ตใหญ่สุดในเอเชีย ด้วยจำนวน 160 สตาร์ทอัพในพอร์ต และมีมูลค่ามากกว่า 5,000 ล้านบาท