posttoday

เปิดแผน 'คมนาคม' ยกเครื่องสนามบินใต้ ดันเป็นฮับการบินภูมิภาค

16 กุมภาพันธ์ 2568

'มนพร' สั่งยกเครื่องสนามบินใต้ เตรียมยกระดับสู่ศูนย์กลางการบินภูมิภาค กำชับศึกษาการสร้างสนามบินน้ำรับ Seaplane ที่จ.ปัตตานี

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ตรวจติดตามการดำเนินงานของศูนย์ควบคุมการบินหาดใหญ่ (บวท.) และการดำเนินงานของกรมท่าอากาศยาน ได้แก่ ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช และท่าอากาศยานชุมพร วันนี้ (16 กุมภาพันธ์ 2568) สั่งการเร่งพัฒนาท่าอากาศยานในภาคใต้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับอากาศยาน และสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค

 

  เปิดแผน \'คมนาคม\' ยกเครื่องสนามบินใต้ ดันเป็นฮับการบินภูมิภาค

 

วางแผนแม่บทยกเครื่องสนามบินใต้

นางมนพร กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้มอบให้ บวท. จัดทำแผนแม่บทในการแก้ไขปัญหาทางกายภาพ เพื่อเพิ่มขีดความสามาถในการรองรับอากาศยาน โดยมีแผนสร้างทางขับขนานใหม่เพื่อให้มีระยะห่างได้ตามมาตรฐาน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2578 เพื่อเป็นแนวทางบรรเทาปัญหาของ บวท. รวมทั้งเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการใช้งานทางวิ่งโดยลดเวลาการใช้งานทางวิ่ง/ทางขับ โดยทำงานร่วมกับท่าอากาศยานหาดใหญ่ สายการบิน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ 

นอกจากนี้ ได้กำชับให้ บวท. เร่งรัดการดำเนินงานแผนพัฒนาบุคลากรและโครงการสำคัญเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการบินภูมิภาคให้แล้วเสร็จตามแผน ได้แก่ การจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรม ATC ภายในปี 2568 โครงการจัดหา Digital Remote Tower ณ สนามบินหาดใหญ่ ตรัง นราธิวาส ภายในปี 2570 

รวมถึงโครงการศึกษาการจัดตั้งที่ขึ้น/ลง ชั่วคราว บนพื้นน้ำ และการให้บริการ Seaplane บริเวณแหลมตาชี  ปัตตานี ภายในปี 2569 – 2570

นอกจากนี้ นางมนพร ได้สั่งการให้ ทย. จัดพื้นที่ให้บริการผู้โดยสารให้คล่องตัว มีความสะดวกรวดเร็ว ลดความแออัดของผู้โดยสาร บริเวณจุด Check in การลำเลียงกระเป๋า ความสะอาดบริเวณภายในท่าอากาศยาน รวมถึงให้จัดเตรียมพื้นที่และจัดระเบียบบริการขนส่งสาธารณะภายในท่าอากาศยานให้ไม่ติดขัด กำหนดจุดจอดรับ – ส่ง และเวลาในการจอดให้ชัดเจน

อีกทั้ง จัดเตรียมรถโดยสารสาธารณะให้เพียงพอกับผู้โดยสารในชั่วโมงเร่งด่วน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวในการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะไปยังสถานที่ภายในจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียง เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะอย่างไร้รอยต่อ 

 

เปิดแผน \'คมนาคม\' ยกเครื่องสนามบินใต้ ดันเป็นฮับการบินภูมิภาค

 

มุ่งสู่ 'สนามบินมีชีวิต'

นางมนพรยังย้ำถึงการจัดกิจกรรมภายในท่าอากาศยานตามแนวคิด “สนามบินมีชีวิต” เพื่อประชาสัมพันธ์จุดเด่นการท่องเที่ยวและการสร้างอัตลักษณ์ของแต่ละจังหวัด ซึ่งการพัฒนาท่าอากาศยานไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์ต่อภาคการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นและพื้นที่โดยรอบท่าอากาศยานให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะได้รับการส่งเสริมให้ขยายตัวมากขึ้น

ส่งผลให้เกิดการสร้างงานในหลากหลายสาขา เช่น การโรงแรม การบริการ การขนส่งอีกด้วย ทั้งนี้ นางมนพร ได้เน้นย้ำเรื่องการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกำกับดูแล เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมาย และเป็นกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ มุ่งสู่การเป็นฮับการบินตามนโยบายของรัฐบาล

 

เปิดแผน \'คมนาคม\' ยกเครื่องสนามบินใต้ ดันเป็นฮับการบินภูมิภาค

 

สำหรับการดำเนินงานของกรมท่าอากาศยาน ได้แก่ ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช และท่าอากาศยานชุมพร พบว่า

ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี   มีจำนวนผู้โดยสารประมาณ 4,100 - 4,700 คนต่อวัน จาก 28 - 32 เที่ยวบินต่อวัน และมีจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 12.84% เมื่อเปรียบเทียบกับปีงบประมาณ 2567 และปีงบประมาณ 2568 (ช่วงเดือนตุลาคม 2567 - มกราคม 2568)

ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช  มีจำนวนผู้โดยสารประมาณ 2,800 - 3,500 คนต่อวัน จาก 20 เที่ยวบินต่อวัน