“คลัง” คงเป้าจีดีพีปี67 โต2.7% ปี68 ลุ้นโตสูงสุดตั้งแต่โควิด
“คลัง” ยืนเป้าหมายจีดีพีปี67 ยังโต 2.7% ประเมินน้ำท่วมเบื้องต้นทุบเศรษฐกิจ 4 พันล้าน ฟุ้งส่งออก-ท่องเที่ยว-บริโภคเอกชนช่วยหนุน ปี 68 โต 3% ลุ้นโตสูงสุดตั้งแต่โควิด หวังนโยบายการเงินช่วยอุ้มเศรษฐกิจ หลังนโยบายการคลังทำงานตึงตัว ชงนายกฯเคาะมาตรการดันเศรษฐกิจ-ของขวัญปีใหม่
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังยังคงคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ไว้ที่ 2.7% ตามเดิม โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 2.2-3.2% โดยเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ที่ปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยกว่า 36 ล้านคน ขยายตัว 27.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ราว 1.69 ล้านล้านบาท ขยายตัว 37.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน รวมถึงจากภาคการส่งออกที่ฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ที่ระดับ 2.9% หลังจากเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวดีกว่าคาดในไตรมาส 2 และ 3 ที่ผ่านมา จากโอกาสของผู้ประกอบการไทยแทนที่สินค้าจีนที่ถูกปรับขึ้นภาษีจากสหรัฐฯ
ขณะเดียวกัน การบริโภคภาคเอกชนมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะขยายตัวที่ 4.6% แม้จะเผชิญแรงกดดันจากสถานการณ์อุทกภัย แต่ผลจากมาตรการต่าง ๆ ของรัฐได้ชดเชยและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนมากขึ้น ส่วนการบริโภคภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.1%, การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวที่ 0.8% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนนนั้น คาดว่าจะขยายตัวติดลบที่ 1.9% เนื่องจากการหดตัวของการลงทุนด้านเครื่องจักรเครื่องมือ โดยเป็นผลมาจากยอดขายรถยนต์สันดาปที่ลดลง ซึ่งจะต้องจับตาการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอย่างใกล้ชิด
ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ระดับ 0.4% ลดลงจากประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากราคาพลังงานในตลาดโลกปรับลดลง โดยยืนยันว่าแม้อัตราเงินเฟ้อจะขยายตัวในระดับต่ำ แต่ก็ยังไม่เข้าข่ายภาวะเงินฝืดอย่างแน่นอน
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวเร่งขึ้นที่ระดับ 3% โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 2.5-3.5% ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดตั้งแต่ช่วงโควิด-19 จากปัจจัยบวก 4 ด้าน คือ 1. การบริโภคภาคเอกชน ที่คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องที่ระดับ 2.9% ต่อปี 2. การส่งออกสินค้าที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามอุปสงค์ในตลาดโลกและเศรษฐกิจคู่ค้า โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ที่ระดับ 3.1% ต่อปี 3. จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังคงเดินทางเข้าไทยต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะอยู่ที่ 39 ล้านคน ขยายตัว 8.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวที่ 1.86 ล้านล้านบาท ขยายตัว 9.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งจะช่วยส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ และ 4. แรงสนับสนุนสำคัญจากงบประมาณปี 2568 ที่พร้อมเร่งเบิกจ่าย ทำให้คาดว่าการบริโภคภาครัฐในปีหน้า จะขยายตัวที่ 2.2%
นอกจากนี้ การลงทุนยังเป็นอีกเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยได้รับแรงหนุนจาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1. การลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะขยายตัว 2.3% ต่อปี ซึ่งเป็นผลมาจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนผ่านมาตรการของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ 2. การลงทุนภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัว 4.7% ต่อปี จากการเร่งรัดการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนและเร่งรัดโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 และโครงการรถไฟทางคู่ในเส้นทางต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยยกระดับศักยภาพการแข่งขันและกระตุ้นการลงทุนต่อเนื่องในภาคเอกชน ส่วนเสถียรภาพภายในประเทศ ในปี 2568 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ระดับ 1% ต่อปี เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้าตามอุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัวดี
ยังมีปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เช่น ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกที่เริ่มรุนแรงขึ้น อาจเป็นข้อจำกัดและส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป และผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตลอดจนทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่ รวมถึงการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย และปัญหาหนี้ครัวเรือนและภาคธุรกิจที่บั่นทอนการใช้จ่ายในระยะต่อไป
สำหรับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดนั้น ก็เป็นอีกปัจจัยที่ต้องติดตาม โดยมองว่าหากปีนี้ไม่มีปัญหาน้ำท่วมเข้ามา ก็มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้มากกว่า 2.7% จากอานิสงส์ของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมนั้น คลังได้มีการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม และภาคการท่องเที่ยว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมตัวเลขความเสียหาย เบื้องต้นประเมินว่าอยู่ที่ราว 4,000 ล้านบาท โดยหลัก ๆ อยู่ในภาคเกษตรและภาคการท่องเที่ยว ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากยังไม่สามารถสำรวจความเสียหายที่ชัดเจนได้
นายพรชัย กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงการคลังมีความต้องการให้นโยบายการเงินและนโยบายการคลังทำงานสอดคล้องกัน เพื่อผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อไทยในปี 2568 ขยับขึ้นสู่ระดับ 2% ต่อปี และช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทย ว่า ทั้งคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าใจตรงกันว่า ที่ผ่านมานโยบายการคลังเร่งทำงานอย่างเต็มที่มาโดยตลอด ซึ่งส่งผลต่อสัดส่วนหนี้สาธารณะและการจัดการด้านการคลังในอนาคต ดังนั้นนโยบายด้านการคลังอาจจะต้องกลับมาทำงานในระดับปกติ หรือกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างอ่อน ๆ เท่านั้น เนื่องจากขนาดการคลังมีข้อจำกัด แม้จะมีการใช้เครื่องมือกึ่งการคลัง แต่ก็มองว่าในระยะข้างหน้าก็ต้องลดลง เพราะภาระการคลังที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้นนโยบายการเงินจะต้องรับไปดูว่าจะมีส่วนช่วยในการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายภาครัวเรือนภายใต้เครื่องมือที่มีอยู่อย่างไร โดยวิธีการใช้เครื่องมือทางการเงินจึงอยู่ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
ผลกับเศรษฐกิจจากนโยบายการเงินและการคลังมีความเร็วที่แตกต่างกัน โดยผลจากนโยบายการคลังจะเร็วกว่า แต่ก็จะมีผลอยู่ได้ในระยะหนึ่งเท่านั้น ขณะที่นโยบายด้านการเงินจะใช้ระยะเวลาราว 6-8 ไตรมาส ที่จะส่งผ่านผลของมาตรการผ่านเครื่องมือต่าง ๆ ไปสู่ระบบเศรษฐกิจ เช่น การลดอัตราดอกเบี้ย เมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจก็คาดว่าจะใช้เวลาพอสมควร ราว 1 ปีครึ่ง แต่ผลจะค่อย ๆ ซึมเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเรื่อย ๆ และจะเต็มศักยภาพในไตรมาส 1/2569
ขณะที่นโยบายด้านการคลัง ตามแผนการคลังระยะปานกลาง ได้กำหนดการขาดดุลงบประมาณลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ 2568 มีงบประมาณรายจ่าย ที่ 3.7527 ล้านล้านบาท ขาดดุลอยู่ที่ 4.5% ต่อจีดีพี ขณะที่ปัจจุบันหนี้สาธารณะ อยู่ที่ 65-66% ต่อจีดีพี ซึ่งในส่วนนี้จะต้องมีการทบทวนอีกครั้ง หลังจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจในเดือน ธ.ค. นี้ เพื่อเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป ส่วนปี 2569 ตั้งเป้าหมายขาดดุลอยู่ที่ 3.5% ต่อจีดีพี
ธปท. มีหน้าที่ในการดำเนินการและดูแลนโยบายการเงิน ความมั่นคงของสถาบันการเงิน แต่ก็ต้องคำนึงถึงนโยบายของรัฐบาลด้วย หากนโยบายการเงินและนโยบายการคลังสามารถทำงานร่วมกันได้ ผลที่ออกมาน่าจะเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งหลังจากหารือร่วมกันระหว่างคลังและ ธปท. ในช่วงที่ผ่านมาก็เห็นตรงกันว่าจุดมุ่งหมายสำคัญคือทำให้เศรษฐกิจขยายตัวในระดับเหมาะสม โดยกระทรวงการคลังจะมีการนางสาวแพทองธาร นายกรัฐมนตรี พิจารณาเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปีและมาตรการของขวัญปีใหม่ ในการประชุมส่วนราชการวันที่ 4 พ.ย. นี้