posttoday

ดิไอคอนกรุ๊ป ชวนลงทุน หวั่นเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ สภาผู้บริโภค เสนอ สคบ. ตรวจสอบ

10 ตุลาคม 2567

สภาผู้บริโภค เสนอ สคบ. ตรวจสอบ ‘ดิไอคอนกรุ๊ป’ หลังพบผู้บริโภคตกเป็นเหยื่อลงทุนขายสินค้าออนไลน์ ผลตอบแทนไม่เป็นไปตามสัญญาที่อ้างจำนวนมาก แนะผู้บริโภคเรียกร้องสิทธิ บอกเลิกสัญญา และขอเงินคืนกับบริษัทที่ร่วมลงทุน

          จากกรณีพบผู้ได้รับความเสียหายจำนวนมากจากการเข้าไปร่วมลงทุนในธุรกิจขายสินค้าออนไลน์ ในเครือข่ายของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป (Thai Icon Group) จากการเห็นข้อความโฆษณาที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเพียงการอบรมสอนทำคอนเทนต์เกี่ยวกับการขายของออนไลน์และการสอนซื้อโฆษณาเพื่อให้เข้าถึงลูกค้าได้ ในราคาตั้งแต่ 59 - 99 บาท และหลังจากนั้นมีการโน้มน้าวหรือชักชวนลงทุนในภายหลังนั้น

          นายโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค กล่าวถึงกรณีดังกล่าวสามารถแบ่งออกเป็น 2 กรณี ที่ผู้บริโภคสามารถเรียกร้องความเสียหายได้ ได้แก่ 

          1. การพิจารณาว่าคอร์สอบรมขายของออนไลน์ที่มีการโฆษณาว่าผู้บริโภคจะได้อบรมอะไรบ้างนั้นมีการจัดอบรมที่เป็นไปตามที่โฆษณาหรือตามสัญญา ซึ่งหากไม่เป็นไปตามโฆษณา ผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ขอให้ผู้ประกอบการชดเชยและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ 

          2. การที่มีการใช้คอร์สออนไลน์ราคาถูกเป็นเครื่องมือดึงดูดลูกค้า และเมื่อผู้บริโภคสมัครเรียนและถูกชักจูงให้ลงทุนในธุรกิจขายตรงแทน ซึ่งสุดท้ายหากไม่มีการปฏิบัติตามข้อตกลง ไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่กล่าวอ้าง หรือมีการบังคับให้จ่ายเงินเพิ่มเติม มีสิทธิในการยกเลิกสัญญาและเรียกคืนเงินได้ รวมทั้งสามารถคืนสินค้าและขอเงินคืนตามกฎหมาย

          ทั้งนี้กรณีการเข้าไปลงทุนในธุรกิจขายสินค้าออนไลน์ ในเครือข่ายของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป เกิดความเสียหายกับผู้ที่เข้าไปลงทุนเป็นจำนวนมาก ซึ่งผลตอบแทนไม่เป็นไปตามที่ระบุ และหากเห็นว่ามีการชักชวนให้ลงทุนและให้หาสมาชิก และมีรายได้เกิดจากการหาสมาชิก การเข้าร่วมลงทุนมีลักษณะเป็น “แม่ข่าย - ลูกข่าย”  มากกว่าการจำหน่ายสินค้าอาจเข้าข่ายธุรกิจเครือข่ายในรูปแบบแชร์ลูกโซ่ ซึ่งผู้เสียหายมีสิทธิที่จะรวมตัวกันเพื่อแจ้งความดำเนินคดีได้

          นอกจากนั้นในส่วนของ “ดารา - อินฟลูเอนเซอร์” ที่เข้าไปเป็นพรีเซนเตอร์ ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้คนหลงเชื่อและตัดสินใจร่วมลงทุน จึงควรมีการพิจารณาและตรวจสอบให้ดี ก่อนมีการรับงานหรือรับโฆษณา เพราะฉะนั้น อาจมีความผิดในเรื่องการโฆษณาเกินความเป็นจริงและเป็นเท็จ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 มาตรา 14 เรื่องนำเข้าข้อมูลบิดเบือนและข้อมูลอันเป็นเท็จ  

          กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคระบุรับรองสิทธิผู้บริโภคว่า ผู้บริโภคต้องได้รับข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่ถูกต้องครบถ้วน และได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา ดังนั้น หากมีการใช้ถ้อยคำหรือคำโฆษณาชวนเชื่อ และทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการนั้น ผู้บริโภคสามารถบอกเลิกสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรและเรียกคืนเงินได้ หรือรู้สึกว่าถูกคุกคามสามารถแจ้งยกเลิกการทำสัญญา และสามารถแจ้งเบาะแสมายังสภาผู้บริโภคเพื่อให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบได้

          เบื้องต้น สภาผู้บริโภคได้มีหนังสือถึง สคบ. เพื่อให้ตรวจสอบการประกอบธุรกิจขายตรงและการโฆษณาของบริษัทดังกล่าวซึ่งอาจมีการเข้าข่ายละเมิดต่อกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค

          หากไม่ได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา ปรึกษา - ร้องเรียนได้กับสายด่วนสภาผู้บริโภค 1502 หรือเว็บไซต์สภาผู้บริโภค tcc.or.th ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับเงินคืนและสามารถดำเนินคดีทางกฎหมายเพื่อเรียกร้องสิทธิของตัวเองได้ นอกจากนี้สามารถร้องเรียนไปที่หน่วยงานกำกับดูแลของภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สายด่วน 1166 และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สายด่วน 1599 ให้ผู้เสียหายจากกรณีหลอกขายทองไม่ตรงปก และธุรกิจขายตรง สามารถแจ้งเหตุและแจ้งเบาะแสให้ข้อมูลกับตำรวจ เพื่อดำเนินคดีต่อไป

          ทั้งนี้ การตรวจสอบความถูกต้องการจดทะเบียนของธุรกิจเป็นอีกขั้นตอนสำคัญที่ผู้บริโภคควรตรวจสอบว่าบริษัทที่ชักชวนให้เข้าร่วมธุรกิจนั้นได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ประเภทใด ไม่ว่าจะเป็นการจดทะเบียนธุรกิจแบบตรง ซึ่งก็คือการขายของออนไลน์โดยทั่วไป มีตัวกลางคือ ‘สื่อ’ ในการซื้อขายสินค้า หรือการจดทะเบียนธุรกิจขายตรง ซึ่งก็คือ การขายสินค้าส่งตรงถึงมือผู้บริโภคโดยไม่ผ่านตัวแทน

          อย่างไรก็ตาม หากพบว่ามีการแอบอ้าง โฆษณาเกินจริง หรือประกอบธุรกิจไม่ตรงตามที่ได้รับอนุญาต ผู้บริโภคมีสิทธิเรียกร้องขอให้หน่วยงานกำกับดูลตรวจสอบได้ นอกจากนี้ผู้บริโภคสามารถใช้ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการสังเกตลักษณะของแชร์ลูกโซ่ ที่อาจแฝงตัวมาในรูปแบบธุรกิจขายตรง ดังนี้

          1. หากโครงสร้างธุรกิจเน้นการรับสมัครคนใหม่เข้าร่วมมากกว่าการขายสินค้าหรือบริการจริง อาจเข้าขายเป็นโมเดลแชร์ลูกโซ่ ซึ่งรายได้หลักมาจากการชักชวนสมาชิกใหม่และเก็บเงินค่าสมัคร แทนที่จะเกิดจากการขายสินค้า

          2. การขายสินค้าหรือบริการที่ไม่ตรงความจริง หากสินค้าหรือบริการที่เสนอขายไม่มีคุณภาพ ไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่โฆษณาไว้ หรือไม่มีสินค้าจริงในการจำหน่าย แต่มีการหลอกลวงเพื่อเก็บเงินจากผู้ร่วมธุรกิจ

          3. การบังคับซื้อสินค้าหรือการลงทุนจำนวนมาก หากบริษัทบังคับให้ผู้สมัครเข้าร่วมต้องลงทุนจำนวนมากในการซื้อสินค้าเกินความจำเป็น หรือกักตุนสินค้าโดยไม่สามารถขายออกได้จริง

          4. การใช้ข้อมูลที่เป็นเท็จหรือหลอกลวง หากบริษัทนำเสนอข้อมูลทางธุรกิจหรือรายได้ที่เกินจริง โฆษณาผลตอบแทนที่สูงเกินจริงโดยไม่สามารถทำได้ตามสัญญา

          5. การไม่มีใบอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ธุรกิจขายตรงในประเทศไทยต้องได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)

          6. ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภค หากธุรกิจไม่ให้ข้อมูลที่ชัดเจนแก่ผู้บริโภค ไม่สามารถคืนเงินหรือเปลี่ยนสินค้าตามที่กฎหมายกำหนด หรือไม่มีการคุ้มครองสิทธิ์ของผู้บริโภค อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย