posttoday

กางอนาคตสเปซเทค ไทยคม ชู แพลตฟอร์ม “ CarbonWatch” รายแรกในอาเซียน

11 กรกฎาคม 2567

“ปฐมภพ” เดินเกมไทยคม ชูวิสัยทัศน์เปลี่ยนผู้นำดาวเทียม สู่ ผู้นำสเปซเทค ประเดิมความสำเร็จแพลตฟอร์ม ‘CarbonWatch’ เครื่องมือประเมินคาร์บอนเครดิต ด้วยเทคโนโลยีดาวเทียม และ AI รายแรกในอาเซียน

นายปฐมภพ สุวรรณศิริ  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ไทยคม เปลี่ยนวิสัยทัศน์ จากผู้นำด้านดาวเทียม สู่ ผู้นำ สเปซเทค เนื่องจากเห็นว่าธุรกิจนี้จะเป็นธุรกิจที่สำคัญและตอบโจทย์ ESG ล่าสุดไทยคมประสบความสำเร็จในการพัฒนา แพลตฟอร์ม CarbonWatch เครื่องมือในการประเมินการกักเก็บคาร์บอนในป่าไม้ ด้วยเทคโนโลยีดาวเทียม และ AI โดยได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) รายแรกในประเทศไทย ภายใต้โครงการการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) โดยได้จับมือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission)  

แพลตฟอร์มดังกล่าว ช่วยทำให้การประเมินคาร์บอนเครดิต แม่นยำ รวดเร็ว ตรวจสอบได้ และคุ้มค่ากว่าวิธีดั้งเดิม ที่ต้องใช้คนเดินเข้าไปจดค่าคาร์บอนเครดิตในป่า โดยเราคิดค่าบริการอยู่ที่ 100-300 บาทต่อไร่ ซึ่งมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ มีพื้นที่ป่าชุมชนกว่า 290,000 ไร่ โดยลูกค้าหลักของเรามีทั้งหน่วยงานภาครัฐที่ต้องการเก็บข้อมูลคาร์บอนเครดิต และ บริษัทเอกชนที่มีการตื่นตัวเรื่อง Net Zero รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านที่มีผืนป่าจำนวนมาก 

ด้านม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กล่าวว่า มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้ริเริ่ม “โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ในพื้นที่ป่าชุมชนกว่า 290,000 ไร่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 จนถึงปัจจุบัน และมีแผนที่จะขยายพื้นที่ไปยังป่าชุมชนทั่วประเทศไทย เทคโนโลยีในการประเมินการกักเก็บคาร์บอนฯ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เราสามารถขยายโครงการเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนชุมชนต่างๆ ได้มากยิ่งขึ้น ช่วยลดการเผาป่า สร้างรายได้ชุมชน แพลตฟอร์มของไทยคนนับเป็นเทคโนโลยีแรกในอาเซียนที่นำดาวเทียมมาใช้งาน
สำหรับราคาคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยที่กรมสรรพสามิตรประกาศที่ 200 บาทต่อตันนั้น หากเทียบกับราคาที่เวที The World Economic Forum กำหนดไว้ที่ 85 เหรียญสหรัฐต่อตัน ถือว่าเป็นราคาที่บอกไม่ได้ว่าราคาไหนถูกต้อง เพราะมีการคาดการณ์ว่าการกำหนดราคาในอนาคตนั้นจะกำหนดตามการพัฒนาของประเทศ คือ ประเทศด้อยพัฒนา กำลังพัฒนา และพัฒนาแล้ว โดยเชื่อว่าประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีราคาสูงกว่าเพราะประเทศพัฒนาแล้วย่อมมีการปล่อยคาร์บอนเครดิตสู่โลกมากกว่า ส่วนตัวมองว่า ไม่ใช่ประเด็นเพราะสิ่งสำคัญคือคนกลางที่ขายคาร์บอนเครดิตจะนำเงินคืนให้ชุมชนได้มากน้อยแค่ไหน มีการกดราคาหรือไม่

ขณะที่นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ประธานกรรมการ อบก. กล่าวว่า ปัจจุบันอบก.มีการรับรองคาร์บอนเครดิตไปแล้ว 18 ล้านตัน แต่มีการซื้อขายจริง 2 ล้านตัน เราจึงต้องสนับสนุนให้มีการซื้อขายจริงมากขึ้น โดยไทยคม นับเป็นหน่วยงานแรกของประเทศไทย ที่ได้รับการรับรองเครื่องมือการประเมินการกักเก็บคาร์บอนในป่าไม้ โดยเทคโนโลยีการสํารวจระยะไกล ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ จาก อบก. ที่สามารถนำมาใช้ประเมินคาร์บอนในพื้นที่ป่า 2 ประเภท ได้แก่ เต็งรัง และป่าเบญจพรรณ ในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคกลางของประเทศไทย  และนับเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้เกิดการปลูก ฟื้นฟู ดูแลป่าจากภาคธุรกิจเอกชน ที่มีความต้องการใช้ประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร อันจะนำไปสู่การขับเคลื่อนในภาพใหญ่ของประเทศเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ในปี 2065 บนฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน