posttoday

พิชัย ปัดนำร่องแจกเงิน Digital Wallet กลุ่มเปราะบาง

05 มิถุนายน 2567

พิชัย-เผ่าภูมิ-จุลพันธ์ ประสานเสียง แจกเงิน Digital Wallet ยังไทม์ไลน์เดิม เริ่มลงทะเบียนร้านค้า-ประชาชนในไตรมาส 3 และเงินถึงมือภายในไตรมาส 4 ปีนี้ จ่ายแบบรวดเดียว 5 แสนล้าน พร้อมกัน 50 ล้านคน ไม่แยกจ่ายกลุ่มเปราะบางก่อน เพื่อให้มีเม็ดเงินมากพอสร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจ

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวถึง กระแสข่าวว่า รัฐบาลเตรียมแผนจ่ายเงิน โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ล็อตแรกให้กับกลุ่มเปราะบางก่อน ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 14.98 ล้านคน หลังจากที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอวงเงิน 122,000 ล้านบาท สำหรับเป็นงบกลางปีว่า เป็นเรื่องที่เข้าใจผิด โดยยืนยันว่า การเดินหน้าโครงการ Digital Wallet ในภาพรวม ยังคงเป็นไทม์ไลนเดิม โดยไม่ได้มีการพูดถึงการแจกเงินกลุ่มเปราะบางก่อน ทั้งนี้คาดว่า อาจเป็นเพียงการเปิดให้กลุ่มเปราะบางได้ทยอยลงทะเบียนยืนยันตัวตน(KYC) ก่อนเท่านั้น เนื่องจากกลุ่มผู้ได้รับสิทธิ์โครงการฯ มีมากถึง 50 ล้านคน

 

“คาดว่า ที่มีการพูดถึงกัน น่าจะเป็นเรื่องการเปิดให้กลุ่มเปราะบางที่รัฐไม่เคยมีข้อมูล ได้มีการลงทะเบียน และทำ KYC เพื่อจะได้รู้ว่า มีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้หรือไม่ เช่น อายุ 16 ปี จำนวนเงินฝากรวมทั้งหมดในบัญชี เป็นไปตามเกณฑ์หรือไม่ แต่ทั้งหมดยึดหลักบัตรประชาชน ซึ่งเป็นขั้นตอนการทำงาน เพื่อกระจายการลงทะเบียน ซึ่งต้องเริ่มแล้วเพราะคนมีจำนวนมาก และมีหลายกลุ่ม เช่น คนทั่วไป และเกษตกร” นายพิชัย กล่าว 

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง ว่า เป็นความเข้าใจที่คาดเคลื่อน โดยทุกอย่างยังเดินหน้าตามที่รัฐบาลได้ประกาศไว้  คือ เริ่มลงทะเบียนประชาชน และร้านค้า ภายในไตรมาส 3 ปีนี้ และเงินกระจายถึงมือประชาชนในไตรมาส 4 ปีนี้ ดังนั้นทุกอย่างยังเป็นไปตามไทม์ไลน์เดิม

 

“ยังยืนยันว่า การจ่ายเงินในโครงการฯ เป็นการจ่ายงวดเดียวทั้งก้อน 5 แสนล้านบาท ทุกคนได้ 10,000 บาท จำนวน 50 ล้านคนได้พร้อมกัน ตอนนี้ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ ข่าวที่ออกมาอาจเป็นความเข้าใจกันที่คลาดเคลื่อน โดยจะไม่มีการพิจารณากลุ่มนั้นกลุ่มนี้ก่อนตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ทุกควรได้เงินพร้อมๆกันในระยะเวลาเดียวกัน ในจํานวนเงินที่เท่ากัน เพราะเราต้องการเม็ดเงินจำนวนมากๆในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นก็ไม่ควรจะมีการทําเป็นแยกหลายๆภาคส่วน” นาย เผ่าภูมิกล่าว 

 

สำหรับงบประมาณที่มาทำในโครงการ Digital Wallet ยังคงเหมือนเดิม คือ ส่วนหนึ่งก็มาจากงบกลางปีเพิ่มเติมของการบริหารงบประมาณปี 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท โดยในส่วนนี้ได้ออกงบกลางปีจำนวน 122,000 ล้าน ส่วนที่ 2 มาจากที่ขยายงบขาดดุลของปี 2568 จำนวน 152,300 ล้านบาท และส่วนที่ 3 จากการใช้เงินตาม มาตรา 28 พระราชบัญญัติ วินัยการเงินการคลังปี 2561 ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 172,300 ล้านบาท 

 

ส่วนงบประมาณที่ยังขาด จำนวน 10,000 ล้านบาท  จะมีแหล่งเงินจากการจัดเก็บรายได้ที่เติมไม่ได้กำหนดไว้ในประมาณการเพิ่มเติม เมื่อรวมกับ เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 112,000 ล้านบาท จะอยู่ที่ จำนวน 122,000 ล้านบาท ซึ่งเรื่องนี้เป็นรายละเอียดให้สํานักงบประมาณชี้แจง 

 

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณามาตรการในการกระตุ้นการเพิ่มเม็ดเงินในเชิงสภาพคล่องให้กับระบบเศรษฐกิจผ่านอุตสาหกรรมเป้าหมาย ส่วนรายละเอียดอยากให้รอความชัดเจนจาก ครม. ก่อน โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรอง เพราะต้องยอมรับว่าภาพรวมเศรษฐกิจในปัจจุบันยังมีความน่ากังวล เนื่องจากประชาชนยังมีปัญหาด้านกำลังซื้อ ซึ่งก็จะส่งผลกระทบไปยังภาคการผลิตก็จะไม่เกิด ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการในขณะนี้ คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ส่วนมาตรการในการกระตุ้นตลาดทุนนั้น กระทรวงการคลังยังอยู่ระหว่างการพิจารณา

 

เช่นเดียวกับ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวว่า ประเด็นเรื่องแจกกลุ่มเปราะบางก่อน ไม่ได้มีการพูดคุยในครม. ทุกอย่างยังเป็นไปตามเดิม คาดว่าเกิดจากการสื่อสารที่คาดเคลื่อน และขอให้ประชาชนติดตามข่าวนี้จากกระทรวงการคลังเท่านั้น


"ประเด็นก็ คือ กลไกยังเหมือนเดิม เราจะดําเนินโครงการในช่วงไตรมาสสุดท้าย และเป็นเฟสเดียว ลงทะเบียนพร้อมกัน ใช้เงินพร้อมกันทุกกลุ่ม” นายจุลพันธ์