posttoday

สหภาพธ.ก.ส.จี้คลัง ส่งตีความให้ชัดก่อนใช้เงินทำ Digital wallet หวั่นผิดกม.

22 เมษายน 2567

สหภาพแรงงานธ.ก.ส. บุกคลัง ถก 5 ข้อกังวลใช้งบ 1.72 แสนล้านทำดิจิทัล วอลเล็ต จี้ส่งกฤษฎีกาตีความให้ชัดทำได้หรือไม่ ทวงแผนชำระหนี้คืน พร้อมดอกเบี้ย ชี้ทุกอย่างมีต้นทุน ด้านคลังยัน นายกฯให้ส่งตีความ เพื่อความสบายของทุกฝ่าย

นายศุภชัย วงศ์เวคิน ประธานสหภาพแรงงาน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) กล่าวภายหลังเข้าพบนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กรณีที่รัฐบาลใช้สภาพคล่องส่วนเกินของ ธ.ก.ส.จำนวน 1.72 แสนล้านบาท ใช้ในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน ดิจิทัล วอลเล็ต ว่า วันนี้(22 เม.ย. 67 ) ได้เข้ามาหารือกับ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ต่อข้อกังวลกับการใช้สภาพคล่องของธ.ก.ส. ใน 5 เรื่อง ได้แก่

 
1.กังวลข้อกฎหมาย ว่า สามารถนำสภาพคล่องส่วนเกินของ ธ.ก.ส. จำนวน 1.72 แสนล้านบาท ตามพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พ.ศ.2509 กระทำได้หรือไม่ 


“สิ่งที่ผมให้ความสำคัญมากที่สุดเรื่องคือ การนำงบประมาณไปใช้ถูกต้องถามกม.หรือไม่ ซึ่งทางรัฐมนตรี ระบุว่า ท่านนายกฯจะส่งให้กฤษฎีกาตีความก่อน ฟังแล้วก็สบายใจมากขึ้น ส่วนทาง ธ.ก.ส.เองก็ส่งกฤษฎีกาตีความไปแล้วเช่นกัน หากตีความแล้วไม่สามารถทำได้ ทุกอย่างก็จบ แต่ถ้ากฤษฎีกาตีความว่าทำได้ ถูกต้องตามกม.ก็มั่นใจ จากนั้นก็ต้องว่ากันไปตามข้อที่กังวลที่เหลือ” นายศุภชัย กล่าว

 

2.ต้องมีมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) รองรับ เพราะเป็นเรื่องของกม.เพื่อเป็นการปกป้องคณะกรรมการ ธ.ก.ส.ว่าสามารถดำเนินการได้ไม่ผิดกม.


3.เรื่องสภาพคล่องส่วนเกินของธ.ก.ส.มีเพียงพอหรือไม่ เพราะสภาพคล่องแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ณ วันนี้ ธ.ก.ส.มีสภาพคล่องเพียงพอ ตามกม.หมาย คือ อยู่ที่ 2 แสนล้านบาท แต่ในส่วนสภาพคล่องส่วนเกินเหลือเท่าไรนั้นต้องมาดูอีกที ซึ่งในรายละเอียดเป็นหน้าที่ของธนาคารต้องชี้แจง

 

4.แผนการชำระหนี้คืน เป็นอย่างไร ซึ่งในประเด็นนี้วันนี้ รัฐบาลยังไม่ได้มีคำตอบที่ชัดเจน


“เราอยากเห็นภาพที่ชัดเจนว่า รัฐบาลมีแผนชำระคืนอย่างไร สมมุติมีแผนชำระคืน 3 ปี 5 ปี หรือ 10 ปี ซึ่งที่ผ่านมา ทุกปีรัฐบาลจะชำระหนี้คืนประมาณ 10-12% ของยอดหนี้คงค้าง หรือประมาณ 6-9 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะคืนหมดหรือหรือไม่ อันนี้ไม่แน่ใจ โดยปัจจุบันรัฐบาลมียอดคงค้างที่ต้องชำระกับธ.ก.ส. ตามม.28 ราว 619,173 ล้านบาท” นายศุภชัย กล่าว

 

5.ผลตอบแทน ที่จะกลับคืนสู่ธ.ก.ส.เนื่องจากเงินส่วนนี้มีต้นทุนที่ต้องบริหารจัดการ

ทั้งนี้ นายจุลพันธ์ยืนยันว่า การใช้งบจากธ.ก.ส.ครั้งนี้ ไม่ใช่การกู้เงิน แต่เป็นการดำเนินการตามม.28 ภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 คือ การให้ใช้งบประมาณธ.ก.ส.สำรองจ่ายไปก่อน เพื่อทำโครงการของรัฐบาล เช่น โครงการไร่ละพัน  แต่เป็นเรื่องที่ธ.ก.ส.โอนเงินจ่ายตรงเข้าบัญชีของเกษตรกรโดยตรง แต่ในครั้งนี้เราไม่ทราบว่า รัฐบาลจะใช้วิธีอะไร

 

ส่วนเรื่องกระแสลูกค้าธ.ก.ส.แห่ถอนเงินก่อนหน้านี้ จาการตรวจสอบในวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา ดูจากภาพรวมการถอนเงินในประเทศ อยู่ที่ประมาณ 500 ล้านบาทต่อวัน ก็ถือว่าอยู่ในสถานการณ์ปกติ