posttoday

เปิด6แผนงานทอท. พัฒนาสนามบินดอนเมือง กีรติ ชี้ รองรับผู้โดยสาร 50 ล้านคน/ปี

20 เมษายน 2567

ทอท. ทุ่ม3.6หมื่นล้าน พัฒนาสนามบินดอนเมืองเฟส3 นำเทคโนโลยีเช็กอิน โหลดกระเป๋าอัตโนมัติมาใช้ เปิด 6 กลุ่มงานลงทุน สร้างอาคารผู้โดยสารอาคาร3 ปรับปรุงหลุมจอด อาคารเทียบเครื่องบิน คาดแล้วเสร็จปี2572 กีรติ มั่นใจเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารสูงถึง 50 ล้านคนต่อปี

KEY

POINTS

  • ทอท. เตรียมทุ่มงบกว่า 3.6 หมื่นล้าน พัฒนาศักยภาพสนามบินดอนเมืองเฟส3 คาดแล้วเสร็จปี 2572
  • เปิด 6 กลุ่มแผนงานในการลงทุนและพัฒนา นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ทอท. เชื่อ หากแผนงานต่างๆแล้วเสร็จจะทำให้ สนามบินดอนเมืองรองรับผู้โดยสารสูงถึง 50 ล้านคนต่อปี

เว็บไซต์ Skytrax ซึ่งเป็นเว็บไซต์จัดอันดับการให้บริการของสนามบิน ล่าสุดได้ประกาศการจัดอันดับในปี 2024 โดยพบว่า 2 สนามบินหลักของประเทศไทย ติดอันดับสนามบินที่ดีที่สุดในโลก ประกอบด้วย สนามบินสุวรรณภูมิ ติดอันดับที่ 58 สนามบินดอนเมือง ติดอันดับ 10 ของสนามบินสำหรับสายการบินต้นทุนต่ำที่ดีที่สุดในโลก (World’s Best Low-Cost Airline Terminals)

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ทอท.มีแผนพัฒนาขีดความสามารถ นอกจากการลงทุนขยายอาคารผู้โดยสาร ยังนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มความสะดวกในการให้บริการสนามบิน ไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ (Common Use Self Service: CUSS) เครื่องโหลดกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (Common Use Bag Drop: CUBD) ระบบประตูทางออกขึ้นเครื่องอัตโนมัติ (Self-Boarding Gate: SBG) และระบบตรวจสอบยืนยันตัวตนผู้โดยสาร (Passenger  Validation System: PVS) ทำให้ผู้โดยสารไม่ต้องรอคิวนาน ตามคอนเซ็ป “Fast and Hassle Free Airport”
 

แผนพัฒนาสนามบินดอนเมือง ซึ่งขณะนี้ครองตำแหน่ง 1 ใน 10 สนามบินสำหรับสายการบินต้นทุนต่ำที่ดีที่สุดในโลก ปัจจุบัน ทอท.อยู่ระหว่างผลักดันโครงการพัฒนาสนามบินดอนเมือง ระยะที่ 3 วงเงินลงทุน 36,829.499 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนออกแบบโครงการ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ พร้อมเปิดประกวดราคาจัดหาผู้รับเหมาในปี 2567 หลังจากนั้นจะเริ่มงานก่อสร้างในปี 2568 และทยอยเปิดให้บริการในปี 2572

สำหรับแผนลงทุนสนามบินดอนเมือง มีรายละเอียดดังนี้
 

กลุ่มงานที่ 1 ประกอบด้วย งานพัฒนาด้านทิศใต้ เช่น งานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารอาคาร 3 พร้อมอาคารเทียบเครื่องบินหมายเลข 6 และงานปรับปรุงอาคารจอดรถยนต์ 7 ชั้น เป็นชานชาลาจอด รับ - ส่งผู้โดยสาร

กลุ่มงานที่ 2 ประกอบด้วย งานพัฒนาพื้นที่ด้านทิศเหนือ เช่น งานปรับปรุงหลุมจอดอากาศยานด้านทิศเหนือ และงาน ก่อสร้างขยายอาคารเทียบเครื่องบินด้านทิศเหนือ รวมไปถึงอาคาร สำนักงานสายการบิน และอาคารรับรองพิเศษ VVIP

กลุ่มงานที่ 3 ประกอบด้วย งานก่อสร้างในพื้นที่เขตปฏิบัติการการบิน เช่น งานก่อสร้างลานจอดอากาศยานด้านทิศเหนือพร้อมทางขับเชื่อม

กลุ่มงานที่ 4 ประกอบด้วย งานปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร อาคาร 1 อาคารเทียบเครื่องบินด้านทิศเหนือ เช่น งานปรับปรุง อาคารผู้โดยสาร อาคาร 1 อาคารเทียบเครื่องบิน หมายเลข 2 – 4

กลุ่มงานที่ 5 ประกอบด้วย งานสนับสนุนโครงการพัฒนา ได้แก่ งานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค 

กลุ่มงานที่ 6 ประกอบด้วย งานสิ่งแวดล้อม ได้แก่ งานจ้างติดตาม ตรวจสอบและเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระยะ การปรับปรุงและฟื้นฟูสิ่งอำนวยความสะดวกโครงการ

เมื่อพัฒนาโครงการฯแล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของสนามบินดอนเมืองได้มากขึ้น จากปัจจุบันมีขีดความสามารถรองรับ 30 ล้านคนต่อปี จะเพิ่มเป็น 40 ล้านคนต่อปี และสามารถบริหารจัดการให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 50 ล้านคนต่อปี