posttoday

"ภูมิธรรม" ดึงสมาชิกEU ลงทุนแลนด์บริดจ์-EEC

30 มีนาคม 2567

รมว.พาณิชย์ ชวนนักธุรกิจสมาคมการค้าไทย-ยุโรป ลงทุนเมกะโปรเจกต์ แลนด์บริดจ์-อีอีซี ด้าน TEBA หนุนเร่งเจรจา FTA ไทย-อียู ขยายโอกาสการค้า-ลงทุนระหว่างกัน

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  เปิดเผยว่า ช่วงเย็นวานนี้(29 มี.ค.67) ตนพร้อมด้วยคณะผู้บริหารของกระทรวงพาณิชย์ ได้หารือกับคณะนักธุรกิจจากสมาคมการค้าไทย-ยุโรป (Thai-European Business Association: TEBA)  ที่มีสมาชิกเป็นบริษัทนักลงทุนในสาขาสำคัญ เช่น ยานยนต์ (BMW, Mercedes-Benz, ABeam Consulting) การบินและอวกาศ (Airbus, Siam Seaplane) ดิจิทัล (Thales) ห่วงโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ (Maersk, CMA CGM) และอื่น ๆ (Robert Bosch, TUV Rheinland, Lim & Partner, Access Europe) โดยได้ชี้แจงนโยบายด้านเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนที่สำคัญของรัฐบาลชุดปัจจุบันของไทย แลกเปลี่ยนและรับฟังความคิดเห็นถึงแนวทางการทำงานร่วมกัน เพื่อสนับสนุนนโยบายของไทย โดยเฉพาะในประเด็นที่โลกให้ความสนใจ เช่น การพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งพลังงานสะอาด ซึ่งรัฐบาลไทยให้ความสำคัญและเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการสำหรับการเปลี่ยนแปลงของโลกดังกล่าว พร้อมเชิญชวนภาคเอกชนร่วมลงทุนในไทยที่มีข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ โดยเป็นจุดศูนย์กลางเชื่อมต่อภูมิภาคต่าง ๆ เช่น อินโดจีน เอเชียตะวันออก เอเชียกลาง เอเชียใต้ และแอฟริกา รวมถึงในโครงการสำคัญ เช่น โครงการแลนด์บริดจ์ และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
 

นายภูมิธรรม เพิ่มเติมว่า ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแผนในการเร่งจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับอียู ที่มีเป้าหมายสรุปการเจรจาให้ได้ภายในปี 2568 เพื่อเพิ่มศักยภาพการค้าการลงทุนระหว่างไทยและอียู รวมถึงแผนที่จะทบทวนและปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เพื่อสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจการลงทุน ซึ่ง TEBA ได้แสดงความยินดีที่ FTA ไทย – อียู กลับมาเจรจาอีกครั้ง โดยพร้อมสนับสนุนและผลักดันให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว ซึ่งนอกจากจะช่วยลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน ยังเป็นการส่งสัญญาณเชิงบวกต่อนักลงทุนให้พิจารณาเพิ่มการลงทุนในไทย ตลอดจนจะช่วยส่งเสริมเรื่องการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืนและการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยด้วย

ในปี 2566 อียูเป็นคู่ค้าอันดับที่ 5 ของไทย รองจากอาเซียน จีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น โดยเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 5 รองจากอาเซียน สหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น และเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 4 รองจากจีน อาเซียน และญี่ปุ่น โดยการค้าระหว่างไทย-อียู มีมูลค่ารวม 41,582.24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า 1.43% โดยไทยส่งออกไปยังสหภาพยุโรปมูลค่ารวม 21,838.37 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน  4.21% และนำเข้าจากอียู รวมทั้งสิ้น 19,743.87 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน  8.50% ทั้งนี้ ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ามูลค่า 2,094.50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น  เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ  อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ  รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ และ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงิน เป็นต้น