posttoday

"โชติ เชษฐโชติศักดิ์" พร้อมดัน GIFT ยืนหนึ่งธุรกิจ Food & Beverage

23 มีนาคม 2567

เปิดแนวคิดการทำงาน โชติ เชษฐโชติศักดิ์ บุตรชายคนเล็ก สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ หลังเข้ารับตำแหน่ง ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GIFT กับความท้าทายในธุรกิจ Food & Beverage ที่มีการแข่งขันสูง ย้ำทุกธุรกิจที่ซื้อต้องมีศักยภาพในการเติบโต ไม่ถูกดิสทรัปง่าย

โชติ เชษฐโชติศักดิ์ วัย 32 ปี บุตรชายคนเล็ก สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ เข้ามารับตำแหน่งผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กิฟท์ อินฟินิท จำกัด (มหาชน)  หรือ GIFT  เมื่อต้นเดือน ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา เพื่อผลักดัน GIFT สู่การเดินหน้าขยายธุรกิจใหม่ๆ ทั้งในด้าน Tech & Innovations, Food & Beverage และ Hospitality, Wellness & Beauty

\"โชติ เชษฐโชติศักดิ์\" พร้อมดัน GIFT ยืนหนึ่งธุรกิจ Food & Beverage

เขาเล่าว่า GIFT ได้เดินหน้าเข้าสู่ธุรกิจ Food & Beverage ตามแนวทางที่วางไว้ โดยเริ่มจากการเข้าซื้อสินทรัพย์ ได้แก่ ร้าน Mom’s Touch, BEAMCUBE, BEAM Club, Beer Belly, OKONOMI และ Yuji Ramen ทั้งหมดรวมถึง 14 แห่ง 

\"โชติ เชษฐโชติศักดิ์\" พร้อมดัน GIFT ยืนหนึ่งธุรกิจ Food & Beverage

BEAM และ Beer Belly เป็นสถานที่แฮงก์เอาต์ที่ได้รับความนิยมทั้งในหมู่คนไทยและต่างชาติ ขณะที่ OKONOMI และ Yuji Ramen เป็นร้านอาหารญี่ปุ่นโดยเชฟชื่อดังจากมหานครนิวยอร์ก ส่วน Mom’s Touch เป็นร้านแฟรนไชส์ไก่ทอดเกาหลีและเบอร์เกอร์ต้นตำรับมาจากประเทศเกาหลีใต้ ที่เราตั้งใจจะขายแฟรนไชส์ในอนาคต

การซื้อสินทรัพย์ดังกล่าว รวมมูลค่าทั้งสิ้น 235 ล้านบาท และสัญญาเช่าพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของร้านมูลค่า 185 ล้านบาท โดยการเข้าซื้อร้านอาหาร-สถานที่แฮงก์เอาต์ที่มีบริการสอดรับกับเทรนด์และความสนใจของผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ รวมถึงมีศักยภาพในการเติบโตสูง จะเพิ่มความหลากหลายของสัดส่วนรายได้ มั่นใจว่ารายได้จาก GIFT Hospitality ทั้งหมดจะอยู่ที่ 200 ล้านบาท ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567

และคาดว่ารายได้จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดในปี 2568 จากการรับรู้ผลการดำเนินการเต็มปีและการขยายธุรกิจตามแผน นอกจากนี้ GIFT ยังรายงานการรับรู้รายได้จากการขายที่ดินเดิมของบริษัทฯ มูลค่า 83 ล้านบาท อีกด้วย ส่วนแผนขยายสู่ธุรกิจ Hospitality, Wellness & Beauty ด้วย คาดว่าจะมีความเคลื่อนไหวภายในไตรมาส 3 ของปีนี้

ขณะที่กลุ่มธุรกิจ Tech & Innovations ในบริษัท A Lot Tech บริษัทจัดจำหน่ายซิมการ์ด อุปกรณ์ไอที อุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม อุปกรณ์เสริมและอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และธุรกิจ E-commerce พบว่า ภาพรวมตลาดค้าปลีกสินค้า IoT ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดย A Lot Tech มีศักยภาพและภาพรวมการเติบโตที่ดีมาก มาจากช่องทางการจำหน่ายทั้งออฟไลน์และออนไลน์บนแพลตฟอร์มหลากหลาย เช่น Live Commerce บน TikTok

นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายร้านค้าออนไลน์ที่ครอบคลุมหลายเซ็กเมนต์ ที่สำคัญ A Lot Tech ครองส่วนแบ่งตลาดซิมการ์ดสูงสุดในประเทศ มีฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งกว่า 3 ล้านคนต่อเดือน ซึ่งสามารถนำมาต่อยอดในการสร้างบริการใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคต่อไป มีการวางแผน Spin Off ในปี 2569

เลือกลงทุนในธุรกิจที่ขยายได้-ไม่ถูกดิสทรัป

จุดเด่นของร้านอาหารและสถานที่แฮงก์เอาต์ที่ GIFT ได้เข้าซื้อล้วนมีคุณภาพและมีประเภทอาหารที่หลากหลาย ทั้งยังตั้งอยู่ใน Prime Location ที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้สะดวก ทั้งนี้ หลังจากที่ร้านอาหารเหล่านี้เข้ามาอยู่ภายใต้การดำเนินงานของ GIFT เรามีเป้าหมายในการขยายสาขาของร้านอาหารอยู่ที่ประมาณ 20-30 สาขา และสถานที่แฮงก์เอาต์อยู่ที่ราว 3-5 สาขา เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ทั้งคนรุ่นใหม่ที่มีไลฟ์สไตล์ชอบความบันเทิงและชอบสังสรรค์ตามร้านอาหารและสถานที่แฮงก์เอาต์ รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง และเป็นเซ็กเมนต์ที่กำลังเติบโต

GIFT เป็นโฮลดิ้ง คอมพานี เน้นลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยพื้นฐาน เราไม่ได้มองเป็นร้านอาหาร แต่เรามองเป็นแบรนด์ ที่ต้องสามารถขยายได้ มีกำไรที่แข็งแรง และไม่ถูกดิสทรัปง่ายๆ 

โชติ กล่าว พร้อมเล่าต่อด้วยว่า ยอมรับว่าตลาด Food & Beverage มีการแข่งขันสูง แบรนด์ที่ GIFT ลงทุน ต้องไม่เป็นสินค้ากระแส มาไว ไปไว แต่เข้าถึงตลาดแมส ซึ่งสินค้าเกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐานจะถูกดิสทรัปยาก อย่างตลาดไก่ทอดแม้ว่าการแข่งขันสูง แต่ก็มีโอกาสในตลาดเพราะเป็นตลาดใหญ่ ความท้าทายอยู่ที่ตัวสินค้า ต้องทำให้ผู้บริโภคกลับมาซื้อซ้ำ โดยส่วนตัว 3 กลยุทธ์ คือ ระบบ การตลาด และสินค้า เรามั่นใจว่า ระบบ กับ การตลาด คือจุดแข็งของเรา ดังนั้นสิ่งที่ต้องโฟกัสคือการสรรหาสินค้ามาทำในตลาด

\"โชติ เชษฐโชติศักดิ์\" พร้อมดัน GIFT ยืนหนึ่งธุรกิจ Food & Beverage

ส่วนสถานที่แฮงก์เอาต์ ก็ต้องศึกษาพฤติกรรมของคนไทย ก่อนทำธุรกิจ และพบว่า คนไทยไม่ได้นิยมเที่ยวแบบคนอเมริกา ที่เลือกประเภทของร้าน หรือ ประเภทของดนตรีที่เล่น แต่คนไทยมักนิยมเที่ยวแบบกลุ่มเพื่อนฝูง แบรนด์ที่ GIFT จึงต้องสามารถต่อยอดได้ ขยายสาขาได้ 

\"โชติ เชษฐโชติศักดิ์\" พร้อมดัน GIFT ยืนหนึ่งธุรกิจ Food & Beverage

ขณะที่ OKONOMI เป็นพรีเมียม คาเฟ่ อาหารญี่ปุ่น จุดเริ่มต้นมาจากพี่ชายเรียนทีนิวยอร์กและชื่นชอบร้านนี้ จึงขอซื้อแบรนด์มาดัดแปลงและได้สิทธิ์ทำธุรกิจในเอเชีย การปรับแบรนด์ เมนู และโลโก้ เล็กน้อย เพื่อต้องการให้ OKONOMI เป็นพรีเมียม คาเฟ่ อาหารญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนใคร

\"โชติ เชษฐโชติศักดิ์\" พร้อมดัน GIFT ยืนหนึ่งธุรกิจ Food & Beverage

เมื่อพฤติกรรมของผู้บริโภคมีการเซ็กเมนท์มากขึ้น พร้อมที่จะเลือกสิ่งที่ตัวเองชอบ ดังนั้นการตลาดแบบเดิมที่จะโน้นน้าวใจผู้บริโภคอย่างเดียว ทำไม่ได้อีกต่อไป สิ่งสำคัญที่เราต้องทำคือ ต้องวางแบรนด์ และสินค้า ให้ชัดเจนตั้งแต่แรก

ชื่นชอบการทำธุรกิจสู่การบริหาร GIFT

โชติ เล่าย้อนถึงวัยเด็กว่า คุณพ่อมักเล่าให้ฟังเสมอว่า ตนเองเป็นคนที่สนใจเรื่องธุรกิจมาตั้งแต่เด็ก และมักมีคำถามเกี่ยวกับธุรกิจ เศรษฐกิจ และค่าเงิน จนคุณพ่อรู้สึกประหลาดใจ เพราะที่ผ่านมาคุณพ่อไม่เคยบังคับให้เรียน หรือ ทำงาน ตามใจคุณพ่อ แต่ตนเองต่างหากที่หลงใหล และชื่นชอบการทำธุรกิจ

โชติ สำเร็จการศึกษาบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการเงิน จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาเคยลองทำงานเกี่ยวกับการเงินแล้ว แต่ไม่ชอบ ขณะที่งานในบริษัทคุณพ่อ เขาก็คลุกคลี เข้าร่วมประชุม และร่วมกันวางแผนธุรกิจกับคุณพ่อ และ พี่ชาย และมักเสนอความเห็นเกี่ยวกับธุรกิจอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในช่วงทรานส์ฟอร์มธุรกิจ เขายังมีส่วนสำคัญในการทำงานกับ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ อาร์เอส กรุ๊ป โดดเด่นในด้านการพัฒนาระบบอีคอมเมิร์ซ รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ และสร้างเครือข่ายเพื่อต่อยอดธุรกิจให้แก่ อาร์เอส กรุ๊ป ผ่านการดำรงตำแหน่งสำคัญ ทั้ง Head of New Business Development และ Business Leader Assistant to CEO ตามลำดับ

แม้จะทำงานกับคุณพ่อ แต่ที่ผ่านมาผมก็ไม่เคยขึ้นตรงกับคุณพ่อ คุณพ่อก็ไม่ได้ให้โจทย์อะไรเป็นพิเศษ เขาก็ปล่อยให้ผมทำงานเลย

ขณะที่ธุรกิจของครอบครัว ตนเองก็ทำงานร่วมกับพี่ชายในธุรกิจ Food & Beverage มาเป็นเวลากว่า 10 ปี ทำให้สั่งสมประสบการณ์ แนวคิด และกลยุทธ์การทำงาน บวกกับการบริหารความเสี่ยงที่ได้จากการเรียนด้านการเงินมาด้วย

โชติ อธิบายต่อว่า ความตั้งใจในการเรียนสายการเงิน เพราะคิดว่าสายงานการเงินคือพื้นฐานของการทำธุรกิจ ทำให้สามารถประเมินความเสี่ยง วิเคราะห์การลงทุน และวางแผนงบประมาณได้อย่างถูกต้อง และด้วยประสบการณ์ที่เรียนมาและเคยทำงานสายการเงินมา 1 ปี ทำให้สามารถมีทางลัดในการตัดสินใจสำหรับการบริหารธุรกิจได้ ด้วยความเชี่ยวชาญที่มีมากกว่า แม้ว่าบางครั้งการคิดงานจะอยู่ในกรอบบ้าง แต่คุณพ่อก็จะให้แนวคิดในการทำงานจากประสบการณ์ของท่านด้วยการให้คำแนะนำแบบธรรมชาติ เพื่อให้ตนเองได้คิดนอกกรอบด้วย

ดังนั้นการเข้ามาทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GIFT  จึงถือเป็นการทำงานเพื่อขยายธุรกิจของครอบครัวให้เติบโต โดยเชื่อมั่นว่าจะสามารถทำงานตามโรดแมปที่วางไว้ได้ คาดว่าภายในปี 67 จะมีรายได้ 2,700 ล้านบาท เติบโตจากปี 2566 ที่มีรายได้อยู่ที่ 800 ล้านบาท