posttoday

เปิดวิสัยทัศน์ผู้ว่าฯกฟผ.คนใหม่ "เทพรัตน์ เทพพิทักษ์"

20 มีนาคม 2567

"เทพรัตน์ เทพพิทักษ์" ผู้ว่า กฟผ. คนที่16 ชู 5 แผนเร่งด่วนแก้วิกฤตพลังงาน ยึดการบริหารค่าไฟคู่ความมั่นคง แข่งขันได้ เป็นธรรม พร้อมชงปรับค่าเอฟที 1 ครั้งต่อปี จากเดิม 3 ครั้งต่อปี ชี้ส่งผลดีต่อต้นทุนภาคอุตสหากรรม

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยวิสัยทัศน์การและนโยบายขององค์กรอย่างเป็นทางการ หลังรับตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 16 ว่า ระยะเวลา 1 ปี 4 เดือน ในฐานะผู้ว่าการ กฟผ. พร้อมเร่งเดินหน้า 5 ภารกิจสำคัญ ได้แก่ 1. รักษาความมั่นคงทางด้านไฟฟ้า  2. เพิ่มความสามารถแข่งขันทางด้านราคา 3. รักษาสมดุลสิ่งแวดล้อม 4. ตอบสนองความต้องการของรัฐ 5. นำส่งรายได้ให้กับรัฐ 

 

ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาราคาค่าไฟฟ้า ยืนยันว่า จะนำเอาทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่เช่น ก๊าซ ลิกไนท์ ถ่านหิน มาใช้ให้เกิดประโยชน์แก้ปัญหาราคาพลังงานแพง พร้อมสนับสนุนการรื้อโครงสร้างราคาค่าไฟฟ้า ตามนโยบายของรัฐบาล อีกทั้งจะสนับสนุนการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน

 

 

สำหรับแนวทางการจัดการค่าไฟงวดใหม่ เดือน พ.ค. ถึง ส.ค. 2567  โดย 3 แนวทางสูงสุด 5 บาท 43 สตางค์ ต่ำสุดคงเดิมที่ 4 บาท 18 สตางค์ต่อหน่วย นั้น ขณะนี้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นแนวทางการคำนวณค่าไฟฟ้าผันแปร(เอฟที) สำหรับงวดเดือนพ.ค.-ส.ค.2567 ใน 3 กรณีผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ซึ่ง กฟผ. ได้นำเสนอแนวทางการคงค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ยอยู่ในอัตราปัจจุบันที่ 4.1805 บาทต่อหน่วย โดยแบ่งการจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างให้ กฟผ. 99,689 ล้านบาท ออกเป็น 7 งวด เป็นแนวทางที่ กฟผ. รับได้ แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับ กกพ. จะสรุปก่อนประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป

 

ขณะที่การบริหารจัดการค่าไฟฟ้าในระยะยาว กฟผ. จะสนับสนุนให้ใช้พลังงานธรรมชาติของประเทศ เช่น ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน รวมถึงพลังงานสีเขียว อาทิ การซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนได้ใช้ค่าไฟฟ้าในราคาที่ถูกที่สุด อีกทั้งจะสนับสนุนการรื้อโครงสร้างราคาค่าไฟ ตามนโยบายรัฐบาล นอกจากมองว่า น่าจะมีการปรับค่าเอฟที 1 ครั้งต่อปี จากเดิม 3 ครั้งต่อปี จะส่งผลดีต่อภาคอุตสหากรรมในการคำนวณต้นทุนภาคการผลิต รวมทั้งมีผลต่อความเชื่อมั่นลงทุนภาคเอกชน

“ค่าไฟฟ้าเป็นต้นทุนของทุกอุตสาหกรรม ไม่ควรปรับไปปรับมาบ่อยๆ เพื่อให้การคิดต้นทุนสินค้าของธุรกิจมีความแน่นอน เพราะถ้าค่าไฟแพงบ้างถูกบ้างจะคำนวณยาก ธุรกิจก็ต้องคิดค่าไฟแพงเป็นต้นทุนไว้ก่อน สุดท้ายต้นทุนนี้ก็จะถูกบวกอยู่ในราคาสินค้าส่งต่อมายังผู้บริโภค"นายเทพรัตน์ กล่าว


ดังนั้นอะไรที่ไม่แน่นอน คือ ความแพง และเมื่อราคาสินค้าปรับขึ้นแล้วก็จะลงยาก ดังนั้นข้อเสนอของ กฟผ. จึงอยากให้ค่าไฟนิ่ง ต่ำ นาน ส่งผลดีต่อทุกฝ่าย หรือเปลี่ยนแปลงไม่เกินปีละ 1 ครั้งก็ถือว่าเหมาะสม ไม่ใช่ต้องมาลุ้นกันทุกงวด แต่สุดท้ายคนที่ต้องนำไปพิจารณา คือ กกพ. เพื่อประกาศให้ฝ่ายปฏิบัติดำเนินการ

 

สำหรับสภาพคล่องของ กฟผ.ในขณะนี้ถือว่าดีขึ้น หลังจากภาครัฐล็อกค่าก๊าซธรรมชาติเมื่อช่วงปลายปี 2566 โดยให้บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) รับภาระส่วนต่างต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า ประกอบกับปัจจุบันต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติในช่วงนี้ลดลง

 

โดยแบ่งการจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้าง 99,689 ล้านบาท จะหมดภายในประมาณ 7 งวด แบ่งเป็นงวดละ 14,000 ล้านบาท คิดเป็น 20 บาท 51 สตางค์ต่อหน่วย โดยแนวทางนี้ จะทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) สำหรับเดือน พ.ค. ถึง ส.ค. 2567 คงอยู่ในอัตราปัจจุบัน 4.18 สตางค์ต่อหน่วย