posttoday

ขุนคลังคนใหม่ ทำไมต้องชื่อ "พิชัย ชุณหวชิร"

19 มีนาคม 2567

เปิด 5 เหตุผล ทำไม "รมว.คลัง" คนใหม่ ต้องชื่อ "พิชัย ชุณหวชิร" ที่เพิ่งนั่งเก้าอี้ประธานบอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯ เพียง 1 เดือน 11 วันเท่านั้น

     โหมกระแสอีกครั้งหลังจากชื่อ "พิชัย ชุณหวชิร" ขายหุ้นบิ๊กล็อตก้อนใหญ่ของ "บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG" ออกมาทั้งหมด 1,169,642 หุ้น ที่ราคาหุ้นละ  7.30 บาท มูลค่ารวม 8,538,386.60 บาท 

     จนหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตุว่า... หรือข่าวที่ว่าเตรียมเคลียร์ตัวเองเพื่อไปคุมเก้าอี้ "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง" แทน "นายกรัฐมนตรี" ที่เตรียมสละเก้าอี้ให้อย่างเต็มใจ ในช่วงการ “ปรับ ครม.” ที่จะเกิดขึ้นหลังการปิดสมัยประชุมสภาฯ 9 เม.ย.นี้ อาจจะจริงก็เป็นได้!!!!!

     เพราะตามกำหนดกฎเกณฑ์ในเบื้องต้น หากนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีผู้ใดประสงค์จะได้รับประโยชน์จากกรณีดังกล่าวต่อไป ให้แจ้งประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ทราบภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง และให้โอนหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทดังกล่าวให้แก่นิติบุคคล และจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทไม่ว่าในทางใดๆมิได้

     ซึ่งในห้างหุ้นส่วนจำกัด รัฐมนตรีเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้ไม่เกิน 5% ของทุนทั้งหมดของห้างหุ้นส่วนจำกัด ส่วนบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด รัฐมนตรีเป็นผู้ถือหุ้นได้ไม่เกิน 5% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่จำหน่ายได้ในบริษัท

     ทำไม "รมว.คลัง" ต้อง "พิชัย ชุณหวชิร" 

     ผู้สื่อข่าวโพสต์ทูเดย์ รวบรวมข้อมูล 5 เหตุผล ทำไมต้องมีชื่อ "พิชัย ชุณหวชิร" ดำรงตำแหน่ง "รมว.คลัง" โดยมีรายละเอียดดังนี้คือ 

     1. "พิชัย" ไม่ใช่คนอื่นคนไกล แต่เรียกว่าค่อนข้างสนิทชิดเชื้อกับครอบครัว นายทักษิณ ชินวัตร และ พรรคเพื่อไทย มาอย่างยาวนาน

     2. ยุคการแปรรูปกิจการการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย(ปตท.)เป็นบริษัทมหาชน ในช่วงของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ขณะนั้น "พิชัย"นั่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่การเงินและบัญชีองค์กร(CFO) บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT และ “พิชัย” คือผู้อยู่เบื้องหลังทีมงาน นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี อดีต รมว.พลังงาน พ.ศ. 2546 - 2548 ช่วยเรื่องแปรรูป ปตท.

     และมีส่วนหลักที่นำ PTT เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวันที่ 6 ธันวาคม 2544 ขณะนั้น "นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์" เป็น CEO ปตท. 

     3. หลังรัฐประหารปี 2557 ทาง “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าชี้แจงข้อกล่าวหาคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยปรากฎรายชื่อ “พิชัย” เป็น 1 ใน 11 พยาน ชี้แจงข้อมูลตัวเลขหักล้างข้อมูลของ ป.ป.ช.

     4. "พิชัย" นั่งทีมที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน และ ที่ปรึกษาคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา

     5. ก.ล.ต.แต่งตั้ง "พิชัย" เข้าดำรงตำแหน่งประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่ 18 แทน นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ที่ครบวาระการดำรงตำแหน่ง มีผลตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ.2567

     ทั้ง 5 ข้อนี้ชี้ชัดถึงสายสัมพันธ์อันดีและความไว้เนื้อเชื่อใจกันเป็นอย่างดี รวมถึงความรู้ความสามารถของ "พิชัย" ที่พิสูจน์ได้ว่าเก๋าเกมตัวจริงในทุกวงการ

     แล้ว..วงการตลาดทุนมองเกมนี้ อย่างไร ?

     แหล่งข่าววงการตลาดทุน กล่าวว่า หากว่ากันตามข่าวที่ว่าคุณพิชัย ชุณหวชิร ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯอาจไปดำรงตำแหน่ง รมว.คลังนั้น ส่วนตัวมองว่าไม่ใช่เรื่องแปลก แม้ท่านจะนั่งประธานบอร์ด ตลท. เพียงเดือนกว่าเท่านั้น มองว่าเป็นวิถีทางการเมืองที่เกิดขึ้นได้ 

    เพียงแต่กระบวนการต่อไปก็ต้องแต่งตั้งประธาน ตลท.ใหม่ กระบวนการที่จะเกิดขึ้นก็คือ 1. ต้องหาประธานที่มาจากฝั่ง ก.ล.ต. จากนั้น 2. ทาง ก.ล.ต.จะมีการสรรหากรรมการที่มาจาก ก.ล.ต. มาทดแทน เอากรรมการฝั่ง ก.ล.ต.มาเป็นประธานฯ ซึ่งต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง ถามว่าใครจะมาแทนส่วนตัวไม่ทราบ ต้องรอความชัดเจนจาก ก.ล.ต.

     "สมมุติ คุณพิชัย ต้องไปนั่ง รมว.คลัง ก็เป็นสิ่งที่ไม่มีกฎเกณฑ์หรือข้อห้ามที่จะทำไม่ได้ เพียงแต่ถ้าจำเป็นต้องไปรับตำแหน่งนั้น ทาง ก.ล.ต. จำเป็นที่จะต้องสรรหาประธาน ตลท. คนใหม่มาตามขั้นตอน"

      อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2567 ทางคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) มีมติแต่งตั้งกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ 3 คน คือ 1.นายคมกฤช เกียรติดุริยกุล 2.นายพิชัย ชุณหวชิร 3.นายรวินทร์ บุญญานุสาสน์ เข้าดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 มีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี