posttoday

คลัง เตรียมออกบอนด์ สกุลต่างประเทศ ในรอบ 20 ปี

29 มกราคม 2567

คลัง สั่งสบน.เร่งศึกษาแนวทางออกพันบัตรในรูปแบบเงินตราต่างประเทศ หลังต่างชาติแสดงความสนใจ และไม่ได้ออกมา 20 ปี ปัดเพื่อระดมทุน แต่หวังสร้างมาตรฐานดอกเบี้ยอ้างอิงให้ภาคธุรกิจ แย้มเล็งเปิดขายพันธบัตรออมทรัพย์วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท ช่วง มี.ค.67

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ได้มีการมอบหมายนโยบายให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เกี่ยวกับแนวทางในการออกพันธบัตร (บอนด์) ในรูปเงินตราต่างประเทศ ซึ่งมองว่าตรงนี้เป็นโอกาสสำคัญในหลาย ๆ สกุลเงินตราต่างประเทศ และไทยเองไม่ได้มีการออกพันธบัตรในรูปเงินตราต่างประเทศมา 20 ปีแล้ว โดยวัตถุประสงค์สำคัญไม่ใช่เพื่อการระดมทุน หรือการกระจายความเสี่ยง แต่เพื่อเป็นการสร้างมาตรฐานในการอ้างอิงอัตราดอกเบี้ยให้ภาคเอกชนเป็นหลัก 

 

โดยที่น่าสนใจมีทั้งสกุลเงินหยวน ซามูไรบอนด์ ดอลล่าร์บอนด์ ซึ่งฮ่องกงได้แสดงความสนใจในเรื่องนี้ แต่รายละเอียดคงต้องมาพิจารณาความเหมาะสมว่าการดำเนินการดังกล่าวจะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทยอย่างไร จะมีความคุ้มค่าหรือไม่ และจะทำให้เกิดความง่ายกับกระบวนการมากน้อยเพียงใด คงต้องมาหารือกับในรายละเอียดอีกครั้ง

 

ทั้งนี้ ฮ่องกงเองเป็นตลาดการเงินที่มีความเข้มแข็ง ซึ่งเขายืนยันว่า มีความพร้อมและเสนอตัวในเรื่องนี้ แต่ในส่วนของไทยเองต้องกลับมาดูความเหมาะสมและประโยชน์ ความคุ้มค่ากับประเทศ ตรงนี้เป็นโจทย์ที่เราจะต้องมาพิจารณาก่อนกลับไปพูดคุยกันอีกครั้ง


“ดอกเบี้ยต่างประเทศไม่ใช่ทุกประเทศที่สูงกว่าดอกเบี้ยไทย ญี่ปุ่นถูกกว่า ดอลล่าร์สหรัฐแพงกว่า หยวนใกล้เคียง แต่การออกบอนด์พวกนี้วัตถุประสงค์ไม่ใช่เรื่องของการไดเวิร์สซิฟาย ประโยชน์มันเป็นเรื่องของการหาต้นทุนที่ถูกกว่า สร้างเบรนมาร์คให้ภาคเอกชน ส่วนโครงการที่มารองรับคือโครงการที่ต้องมีฟอร์เรนคอนเทนต์ ตามกฎหมายเป็นแบบนั้น ต้องมี ต้องหา” นายจุลพันธ์ กล่าว

 

นอกจากนี้ ในเดือน มี.ค. 2567 กระทรวงการคลังมีแผนจะจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ ประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงินราว 4 หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการทดแทนของเดิม และเพื่อรองรับการบริหารการเงินการคลังของภาครัฐ สร้างการกระจายเครื่องมือระดมทุนของรัฐบาลให้หลากหลาย ครอบคลุมกับนักลงทุนกลุ่มต่าง ๆ และต้องการที่จะกระจายไปให้ถึงประชาชนเพื่อให้เกิดการออมในภาคประชาชน โดยในปีงบประมาณ 2567 นั้น กระทรวงการคลังมีแผนระดมทุนผ่านพันธบัตรออมทรัพย์ ประมาณ 1 แสนล้านบาท

 

นอกจากนี้ จากการเข้าร่วมการประชุม Asian Financial Forum (AFF) ครั้งที่ 17 ระหว่างวันที่ 23 - 25 มกราคม ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การประชุมและนิทรรศการ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง ตนได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับรัฐมนตรี อาทิ จากฮองกง ซาอุดิอาระเบีย อียิปต์ และโคเอเชีย เป็นต้น ถึงความไม่แน่นอนของสถานการณ์โลกในขณะนี้ ซึ่งทุกคนมองตรงกันว่า ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิศาสตร์ในยูเครนและรัฐเซีย

 

ในขณะเดียวกัน ตนได้มีการพูดคุยกับกับประธาน HKTDC ซึ่งเป็นการสานต่อในประเด็นหารือที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เจรจาไว้ก่อนหน้า ซึ่งฮ่องกง ซึ่งถือว่าเป็นประเทศ Financia ได้แสดงความสนใจในการพัฒนาประเทศไทย ในหลายด้าน หนึ่งในนั้น คือ เรื่องการผลักดันให้ไทย เป็นศูนย์ดิจิทัลคอนเทน เช่น เป็นฮับในการทำภาพยนตร์ โดยจะนำภาคเอกชนของฮ่องกง เข้ามามีส่วนร่วมยกระดับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของทั้งสองประเทศ รวมทั้งเรื่องกานพัฒนา และลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของไทย เช่น โครงการแลนด์บริดจ์ และโครงการสนามบินอู่ตะเภาของไทยด้วย ซึ่งเรื่องนี้เราอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม และความคุ้มค่าหรือไม่ 

 

“ฮ่องกง แสดงความสนใจ และประสานว่าอยากจะขอดึงเอาเอสเอ็มอีของเขา เข้ามามีส่วนร่วมในพัฒนาในโครงสร้างพื้นฐานของเรา เช่นในโครงการแลนด์บริจด์ โดยเฉพาะสนามบินอู่ตะเภาโครงการที่2 ที่เข้าสนอย่างมาก ได้มีการนัดหมายกันว่าเดือนก.พ.นี้จะเดินทางไปฮ่องกงอีกครั้ง เพื่อที่จะไปเดินหน้าสิ่งที่หารือให้เกิดเป็นรูปธรรมในอนาคต” นายจุลพันธ์ กล่าว