posttoday

บีโอไอเปิดแผน 4 ปี หนุนลงทุน BCG ดันมูลค่า 4.4 ล้านล้านบาทในปี 2570

20 ธันวาคม 2566

บีโอไอ เดินหน้าส่งเสริมการลงทุนหนุนธุรกิจสีเขียว ดันมูลค่าเศรษฐกิจอุตสาหกรรม BCG เพิ่มขึ้นจาก 21% เป็น 24% ของ GDP ในปี 2570 หรือจาก 3.4 เป็น 4.4 ล้านล้านบาท (เป้าประเทศ) และมุ่งสู่การเป็น BCG Hub ของอาเซียน

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวในงานสัมมนา Go Thailand 2024 : Green Economy - Landbridge โอกาสทอง? หัวข้อ นโยบายลงทุนไทย ภายใต้บริบทใหม่ จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ว่า บีโอไอ มีแผนในการขับเคลื่อนการลงทุนเชิงรุกใน 4 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2567-2570) ตามแนวคิด BCG  และการเปลี่ยนผ่านสู่การลงทุนสีเขียวเพื่อสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกและสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศผ่าน 5 อุตสาหกรรม ประกอบด้วย อุตสาหกรรม BCG Bio-Circular-Green,อุตสาหกรรมยานยนต์ เช่น อีวี,อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์,อุตสาหกรรมดิจิทัลและการสร้างสรรค์ และ การส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นที่ตั้งของสำนักงานในภูมิภาค 

พร้อมผลักดัน 5 นโยบายสำคัญ เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่  ได้แก่ การขนส่งสีเขียว,การพัฒนาด้านเทคโนโลยี, การพัฒนาและการดึงดูดบุคคลที่มีความสามารถพิเศษให้เข้ามาทำงานในประเทศ, การส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบกลุ่ม และการทำให้เกิดความสะดวกในการลงทุน และกำหนดเงื่อนไขพิเศษให้บางกิจการต้องทำ เพื่อให้มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ทั้งนี้ บีโอไอมีเป้าหมายในการทำให้มูลค่าเศรษฐกิจอุตสาหกรรม BCG เพิ่มขึ้นจาก 21% เป็น 24% ของ GDP ในปี 2570 หรือจาก 3.4 เป็น 4.4 ล้านล้านบาท (เป้าประเทศ) และมุ่งสู่การเป็น BCG Hub ของอาเซียน

บีโอไอเปิดแผน 4 ปี หนุนลงทุน BCG ดันมูลค่า 4.4 ล้านล้านบาทในปี 2570 ด้วยการส่งเสริมการลงทุนตามแนวคิด BCG ครอบคลุม 50 กิจการทั้งกิจการฐานชีวภาพครบวงจร พลังงานหมุนเวียน กิจการที่สอดคล้องหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงกิจการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมสำหรับบางกิจการ ให้ใช้เทคโนโลยีหรือวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือลดก๊าซเรือนกระจก เช่น การใช้เทคโนโลยี CCUS, Natural Refrigerants และระบบ Smart Environment เป็นต้น

สำหรับสถิติคำขอรับการส่งเสริม กิจการกลุ่ม BCG ในช่วงปี 2558 - กันยายน 2566 พบว่า มีการลงทุนในกลุ่ม BCG เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีมากกว่า 3,759 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 782,367 ล้านบาท ผ่านมาตรการผลักดันการลงทุนสีเขียวตามแนวคิด BCG ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและบริการ ภาคพลังงาน และภาคการขนส่ง เช่น ส่งเสริมการลงทุน Biocomplex ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค โดยอาศัยจุดแข็งและศักยภาพวัตถุดิบการเกษตรที่ต่างกันในแต่ละพื้นที่ ผ่านการส่งเสริมรูปแบบคลัสเตอร์ และให้สิทธิประโยชน์แบบ Tailor-made Package เป็นต้น

บีโอไอเปิดแผน 4 ปี หนุนลงทุน BCG ดันมูลค่า 4.4 ล้านล้านบาทในปี 2570

อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมสำคัญที่จะนำพาไทยไปสู่การลงทุนสีเขียวได้ก็คือ ยานยนต์ ซึ่งไทยมีนโยบายชัดเจนในการส่งเสริมให้มีการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี  โดยมีมาตรการครอบคลุมทั้งการส่งเสริมผู้ผลิต และผู้บริโภคในการใช้รถอีวี

นายนฤตม์ กล่าวว่า บีโอไอมีการสนุบสนุนผู้ผลิต EV แบบครบวงจร และการผลิตรถ EV ทุกกลุ่ม รวมถึงการผลิตชิ้นส่วน และสถานีชาร์จ EV ขณะที่ทางฝั่งผู้บริโภค บีโอไอก็มีมาตรการ EV3 ตั้งแต่ 3 ปีที่ผ่านมา และล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนมุติมาตรการ EV3.5 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้รถ EV ในไทยระยะที่ 2 ซึ่งจะมีผลตั้งแต่ปี 2567-2570 หรือระยะเวลา 4 ปี

บีโอไอเปิดแผน 4 ปี หนุนลงทุน BCG ดันมูลค่า 4.4 ล้านล้านบาทในปี 2570

ในระยะต่อไปเราต้องมีการกำหนดค่าไฟของสถานีชาร์จไฟ และส่งเสริมการลงทุนแบตเตอร์รี่ระดับเซลล์ด้วย

นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อกระตุ้นให้อุตสาหกรรมยานยนต์มีการนำระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ มาปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมสำหรับการผลิตยานยนต์ทั่วไป รวมทั้ง HEV/ PHEVทั้งกรณีกิจการที่ดำเนินการอยู่เดิม และโครงการลงทุนใหม่ โดยผู้ขอรับการสนับสนุนจะต้องเสนอแผนการพัฒนารถยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีที่มุ่งสู่ความสะอาด ประหยัดพลังงาน ปลอดภัย การขับขี่อัจฉริยะ หรือเทคโนโลยีอื่นๆ ที่เหมาะสมด้วย

ทั้งนี้จะได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ได้แก่ ยกเว้นภาษีเงินได้ 3 ปี เป็นสัดส่วน 50% ของเงินลงทุนในระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ (กรณีใช้เครื่องจักรระบบอัตโนมัติในประเทศ >30% จะให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ เป็นสัดส่วน 100%) และการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีกิจการที่ทำอยู่เดิมจะได้รับยกเว้นภาษีจากรายได้ของกิจการเดิม นับจากวันที่มีรายได้ภายหลังได้รับบัตรส่งเสริม ส่วนกรณีโครงการลงทุนใหม่จะได้รับยกเว้นภาษีจากรายได้ของกิจการที่ได้รับการส่งเสริม นับจากวันที่มีรายได้ครั้งแรก

สำหรับประเทศไทยนั้น มีจุดแข็งหลายปัจจัยที่สอดคล้องกับเรื่องดังกล่าว ทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพที่จะเป็นแหล่งรองรับการลงทุนในอนาคตสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ซัพพายเชน บุคลากร ที่สำคัญยังมีการนโยบายในการสนับสนุนการลงทุนธุรกิจสีเขียวที่ชัดเจนทั้งจากบีโอไอ และหน่วยงานอื่น เพื่อให้ภาคเอกชนเปลี่ยนผ่านไปสู่การลงทุนสีเขียว ขณะที่พลังงานสะอาดซึ่งจะเป็นที่ต้องการของภาคเอกชนมากขึ้น

ปัจจุบันกระทรวงพลังงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)กำลังพัฒนากลไกลใหม่ที่เป็นแหล่งรวมพลังงานสะอาดสำหรับภาคอุตสาหกรรม และเป็นกลไกลที่จะสามารถระบุผู้ผลิตได้อย่างชัดเจน ซึ่งถือว่าเป็นความต้องการของบริษัทชั้นนำที่จะเข้ามาลงทุนในไทย