posttoday

นายกฯเดินหน้า Go Cloud First จับมือ Google ดันเศรษฐกิจดิจิทัล

08 ธันวาคม 2566

Google ตอกย้ำพันธกิจ ‘Leave No Thai Behind’ ช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยเติบโตในเศรษฐกิจ AI ประกาศความคืบหน้านโยบายการใช้งานระบบคลาวด์เป็นหลัก ร่วมมือด้าน Generative AI กับ 3 หน่วยงานภาครัฐ และมอบทุนหลักสูตร Google Career Certificates เพิ่มเติมจำนวน 12,000 ทุน

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รัฐบาลไทยมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดกับ Google เพื่อช่วยผลักดันให้ประเทศไทยเติบโตอย่างมีเสถียรภาพในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังเทคโนโลยีสำคัญอย่างเช่น AI ในระบบคลาวด์ โดยความร่วมมือนี้จะช่วยสนับสนุนความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐบาลที่อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่มุ่งเพิ่มโอกาสสร้างงานที่มีมูลค่าสูงและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย 

พร้อมทั้งยกระดับขีดความสามารถของประเทศไทยให้เป็นหนึ่งในจุดหมายหลักสำหรับการลงทุนของนักลงทุนชั้นนำจากทั่วโลก ต้องขอบคุณกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการส่งเสริมและผลักดันความร่วมมือกับ Google ทั้งในเรื่องของ AI คลาวด์ และความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

นายกฯเดินหน้า Go Cloud First จับมือ Google ดันเศรษฐกิจดิจิทัล

หลังจากการประชุมผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC รัฐบาลก็ได้เร่งดำเนินการในด้านต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทย เรื่องแรกคือ การจัดทำนโยบาย Go Cloud First ที่เราได้ร่วมมือกับ Google ซึ่งเราตั้งเป้าที่จะนำนโยบายนี้ไปใช้โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ การนำเทคโนโลยีคลาวด์ไปใช้ในการดำเนินการของรัฐบาลจะช่วยปรับปรุงคุณภาพและความรวดเร็วในการให้บริการแก่ประชาชน 

เรื่องที่สอง เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้เปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cybersecurity) จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากในปัจจุบัน รัฐบาลกำลังวางแนวทางสำหรับกรอบการดำเนินการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (National Cyber Security Framework) โดยคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ หรือ กมช. (National Cyber Security Committee: NCSC) จะเป็นผู้ดำเนินการในส่วนนี้ 

นายกฯเดินหน้า Go Cloud First จับมือ Google ดันเศรษฐกิจดิจิทัล

และเรื่องที่สาม รัฐบาลจะเร่งส่งเสริมการใช้ Generative AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและปรับปรุงการให้บริการแก่ประชาชน โดย Google Cloud จะช่วยจัดฝึกอบรมและมอบเครื่องมือที่จำเป็นแก่บุคลากรของรัฐ ทั้งหมดนี้คือการดำเนินการเชิงรุกของรัฐบาลในการยกระดับเศรษฐกิจไทยไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจ AI ยุคใหม่

แจ็คกี้ หวัง Country Director, Google ประเทศไทย กล่าวว่า ตลอดกว่าทศวรรษที่ผ่านมา Google ยังคงมุ่งมั่นส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลไทย เราดีใจเป็นอย่างมากที่ได้ทราบว่า การที่ธุรกิจต่างๆ ในไทยนำผลิตภัณฑ์และโซลูชันที่ทํางานด้วยระบบ AI ของ Google ไปใช้ทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1.5 แสนล้านบาทในปี 2565 นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี ได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจถึง 7.4 หมื่นล้านบาท

และสนับสนุนการจ้างงานในประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อมกว่า 250,000 ตำแหน่ง นี่เป็นอีกหนึ่งข้อพิสูจน์ถึงพลังของเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและสร้างโอกาสใหม่ๆ และเราภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนช่วยส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลไทยในระยะยาว

นายกฯเดินหน้า Go Cloud First จับมือ Google ดันเศรษฐกิจดิจิทัล

สำหรับความร่วมมือในการร่างนโยบาย Cloud-First และการเร่งให้เกิดนวัตกรรม AI ในส่วนภาครัฐภายในงาน นายกรัฐมนตรีได้ประกาศเกี่ยวกับการพัฒนานโยบาย Go Cloud First โดยได้นำคำแนะนำและแนวทางปฏิบัติแนะนำระดับนานาชาติจาก Google มาเป็นแนวทางในการร่างนโยบายฯ เช่น การอนุญาตให้มีการไหลเวียนอย่างอิสระของข้อมูลพร้อมด้วยการปกป้องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยผ่านคีย์การเข้ารหัส

และการกำหนดประเภทของข้อมูลที่อาจจะต้องจ้ดเก็บไว้ในสภาพแวดล้อมของคลาวด์ที่ตัดขาดการเชื่อมต่ออย่างสมบูรณ์แบบ (Fully air-gapped) โดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติข้อเสนอแนะของนายกรัฐมนตรีที่มอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นผู้เร่งดำเนินการตามนโยบายนี้ โดยจะประกาศรายละเอียดเพิ่มเติมในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567

นอกจากนี้ Google Cloud ยังได้ประกาศความร่วมมือด้าน Generative AI กับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงคมนาคม และสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) (Big Data Institute: BDI) โดยบุคลากรจากทั้ง 3 องค์กรนี้จะได้รับการฝึกอบรมภาคปฏิบัติจากทีมวิศวกรของ Google Cloud เพื่อนำมาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างโดยใช้เทคโนโลยี Generative AI รวมไปถึงการใช้ Vertex AI เพื่อจัดทำโซลูชันของตัวเอง และด้วยแพลตฟอร์ม Vertex AI ของ Google Cloud องค์กรต่างๆ สามารถเลือกโมเดล AI พื้นฐานทั้งของ Google และแบบโอเพนซอร์สกว่า 100 โมเดล เพื่อนำไปปรับใช้ในการสร้างโมเดลแบบกำหนดเองโดยใช้เครื่องมือและข้อมูลขององค์กรที่มีอยู่ และผนวกรวมโมเดลแบบกำหนดเองเหล่านี้เข้ากับบริการดิจิทัลขององค์กรเพื่อให้บริการแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ดียิ่งขึ้น 

Karan Bajwa, Vice President, Asia Pacific, Google Cloud กล่าวว่า จากผลวิจัยของเราพบว่า หากภาคส่วนและองค์กรต่างๆ ในประเทศไทยนำนวัตกรรม AI มาใช้งาน จะสามารถปลดล็อกผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้อย่างน้อย 2.6 ล้านล้านบาทภายในปี 2573 อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์แบบดั้งเดิมนั้นยังขาดความสามารถในการปรับขนาดและความยืดหยุ่นเพื่อรองรับความต้องการด้าน AI ที่เพิ่มมากขึ้น

ทำให้ความสามารถของเทคโนโลยี Cloud AI ที่ออกแบบมาเพื่อการใช้งานระดับองค์กรโดยเฉพาะกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรม ดังนั้น เราจึงได้ร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการร่างนโยบาย Go Cloud First เพื่อสร้างแนวทางที่ชัดเจนขึ้นสำหรับองค์กรต่างๆ ในการเข้าถึงความสามารถเหล่านี้ได้อย่างรวดเร็ว

ภายใต้ความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงคมนาคม และสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ เราจะดำเนินการในขั้นตอนต่อไปในการเตรียมความพร้อมให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการแก่ประชาชนในการสร้างและปรับใช้โซลูชัน Generative AI โดยใช้ความสามารถของ Cloud AI เรากำลังดำเนินการตามเสาหลักความร่วมมือทั้ง 4 ข้อ โดยเป้าหมายของเราคือการทำให้องค์กรต่างๆ ได้รับประโยชน์ที่มีอยู่อย่างมากมายจากการใช้งาน Generative AI เพื่อช่วยพลิกโฉมเศรษฐกิจไทยและสร้างประโยชน์ในวงกว้างต่อคนไทยทุกคนได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ Google ยังทำโครงการลดช่องว่างด้านทักษะดิจิทัลด้วยการมอบทุนการศึกษาเพิ่มเติม พร้อมด้วย 4 หลักสูตรใหม่ ในขณะที่กระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลกำลังแผ่ขยายไปทั่วประเทศไทยอยู่ในขณะนี้ ความต้องการด้านทักษะดิจิทัลก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน ดังนั้น การช่วยให้คนไทยเข้าถึงทักษะดิจิทัลได้มากขึ้นถือเป็นกุญแจสำคัญในการปลดล็อกโอกาสทางดิจิทัลให้กับทุกคน ท่ามกลางการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทย 

จากรายงานผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจฉบับล่าสุด มีการคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะต้องการแรงงานที่มีทักษะดิจิทัลระดับสูงและระดับกลางเพิ่มอีก 600,000 คนภายในปี 2570 เพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า การลดช่องว่างด้านทักษะความสามารถทางดิจิทัลด้วยการฝึกอบรมทักษะดิจิทัลสามารถเพิ่มมูลค่าให้แก่เศรษฐกิจไทยได้มากถึง 1 ล้านล้านบาทในปี 2573

ในเดือนตุลาคม 2565 Google ได้ประกาศเปิดตัวโครงการ “Samart Skills” ที่จัดทำขึ้นเป็นพิเศษสำหรับประเทศไทยภายใต้ Grow with Google เพื่อช่วยแก้ปัญหาช่องว่างด้านทักษะดิจิทัลด้วยการเปิดโอกาสให้คนไทยเข้าถึงการฝึกอบรมทักษะดิจิท้ลและนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดในสายอาชีพที่เป็นที่ต้องการของตลาดได้มากขึ้น ในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา มีผู้ที่จบหลักสูตรในโครงการ Samart Skills ไปแล้วจำนวน 5,500 คน โดย 85% ของผู้จบหลักสูตรได้รับโอกาสที่ดี อาทิ ได้งานใหม่ เลื่อนตำแหน่ง และปรับเงินเดือนใหม่ภายใน 6 เดือนหลังสำเร็จหลักสูตร

เนื่องจากความต้องการด้านทักษะดิจิทัลยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง Google จึงได้ประกาศมอบทุนการศึกษาสำหรับใบรับรองทักษะอาชีพที่ใช้หลักสูตร Google Career Certificates เพิ่มเติมจำนวน 12,000 ทุน ให้กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ไปจนถึงสิ้นปี 2567 ซึ่งทำให้มียอดรวมทั้งสิ้น 34,000 ทุน และเพื่อเป็นการรองรับความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน Google ได้เพิ่มหลักสูตรสาขาอาชีพใหม่อีก 4 หลักสูตรเป็นภาษาอังกฤษ ได้แก่ ความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) การวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง (Advanced Data Analytics) ธุรกิจอัจฉริยะ (Business Intelligence) และการสร้างระบบอัตโนมัติด้านไอทีด้วย Python (IT Automation with Python) ทำให้ตอนนี้มีหลักสูตรทั้งหมด 9 หลักสูตร  

นายกฯเดินหน้า Go Cloud First จับมือ Google ดันเศรษฐกิจดิจิทัล

ศารณีย์ บุญฤทธิ์ธงไชย Country Marketing Manager, Google ประเทศไทย กล่าวว่า ด้วยความมุ่งมั่นที่ต้องการช่วยให้คนไทยมีส่วนร่วมในการผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศมากยิ่งขึ้น เราจึงมีความยินดีที่ได้ร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เพื่อมอบทุนการศึกษาสำหรับใบรับรองทักษะอาชีพเพิ่มเติมจำนวน 12,000 ทุน ภายใต้โครงการ Samart Skills เราเชื่อว่าการเพิ่มศักยภาพให้กับประชาชนและธุรกิจด้วยทักษะดิจิทัลควบคู่ไปกับการส่งเสริมสภาพแวดล้อมดิจิทัลที่ปลอดภัยจะทำให้เราสามารถสร้างอนาคตที่สดใสสำหรับทุกคนได้

ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับภาครัฐและพาร์ทเนอร์ของเราทำให้เราช่วยให้คนไทยสามารถเข้าถึงทักษะดิจิทัลได้มากขึ้น และเราหวังว่าจะได้สานต่อความร่วมมืออันดีนี้ต่อไปในอนาคตเพื่อช่วยปลดล็อกโอกาสทางเศรษฐกิจสำหรับคนไทยให้ได้มากยิ่งขึ้น