posttoday

กฟผ.ลุยหานวัตกรรมใหม่ รับเทรนด์พลังงานอนาคต

20 พฤศจิกายน 2566

กฟผ.เดินหน้าหานวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ รองรับเทรนด์พลังงานอนาคต พร้อมชู 3 กลยุทธ์ ลดผลกระทบของ Climate change มุ่งสู่ Net Zero หวังรัฐบาลผลักดันพื้นที่แม่เมาะสู่เมืองอุตสาหกรรมสีเขียว รับการลงทุน ช่วยหนุนจีดีพีถึง 20%

นายวฤต รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการ วิจัยนวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยในงานสัมมนา PostToday Smart City ภายใต้หัวข้อ Smart Life : ยกระดับชีวิตคนไทยในเมืองต้นแบบ Smart City ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ ว่า บทบาทของ กฟผ.กับการรักษาความมั่นคงทางด้านพลังานของไทย ถือเป็นหน้าที่และเป็นพันธกิจขององค์กร 

ทั้งนี้ กฟผ.ถือเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจดูแลความมั่นคงด้านพลังงาน เมื่อเทรนด์พลังงานมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว กฟผ.ได้เดินหน้าการใช้นวัตกรรมเพื่อช่วยให้การใช้ไฟฟ้าสามารถเข้าถึงในทุกพื้นที่ของประเทศไทย

โดยปัจจุบันในยุคพลังงานหมุนเวียน สิ่งที่ กฟผ.ทำจะต้องปรับเปลี่ยนแหล่งผลิต และทำระบบส่งไฟฟ้าให้พร้อมที่จะรับพลังงานหมุนเวียนเหล่านี้ที่จะผันผวนเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นพลังงานลม พลังงานแดด เนื่องจากไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งที่ผ่านมา กฟผ.ได้ร่วมกับทบวงพลังงานโลก (IEA) ในการพัฒนา Renewable Forecast Center เป็นเฟสแรก ส่วนเฟส 2 จะพัฒนา Energy Storage โดย กฟผ. อยู่ระหว่างเสนอรัฐบาลในการทำ Energy Storage ขนาดใหญ่  

อย่างไรก็ตาม ในระยะถัดไปอาจจะไม่เพียงพอที่จะรองรับ เพราะฉะนั้น กฟผ.จะต้องเริ่มหานวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ อาทิ เทคโนโลยีไฮโดรเจน, เทคโนโลยีการดักจับและการจัดเก็บคาร์บอน (CCS) และพลังงานฟิวชัน เป็นต้น 

สำหรับแนวโน้มของอุตสาหกรรมพลังงานของไทยกับแนวทาง Net Zero เพื่อลดผลกระทบของ Climate change โดยในเรื่องนี้ กฟผ.ได้ดำเนินการในทุกมิติ ผ่าน 3 กลยุทธ์ ได้แก่ 1.เปลี่ยนแปลงแหล่งผลิต 2.ทำสมาร์ทกริด และ 3.ทำซัพพอร์ท ร่วมกับ Regulator และอีกหลายหน่วยงานในการสร้างกรีน ทารีฟ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ลงทุน รวมไปถึงการทำเรื่องของการโปรโมทอีวีอีโคซิสเต็มส์ และการโรมมิ่งแอพพลิเคชั่นอีวี 

ทั้งนี้ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กฟผ.ได้ดำเนินการตาม 7 สมาร์ทด้านเทคโนโลยี ได้แก่ Smart Energy, Smart Environment, Smart Mobility, Smart Living, Smart economy, Smart people และ Smart Governance ในพื้นที่ภาคเหนือ เช่น แม่ฮ่องสอน เพื่อแก้ปัญหาไฟดับบ่อย เพราะเป็นจังหวัดเดียวที่สายส่งไปไม่ถึง กฟผ. ได้นำระบบสมาร์ทกริดเข้าไปดำเนินการขยายไปยังพื้นที่แม่เมาะ 

"สมัยรัชกาลที่ 7 ต้องการเก็บพื้นที่นี้ไว้เป็นแหล่งพลังานของประเทศ ปัจจุบันแม่เมาะมีส่วนกับ GDP 20% ของจังหวัดลำปาง ซึ่งเมื่อมีการใช้พื้นที่ผลิตไฟแล้วคนจะอยู่อย่างไร ดังนั้น ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เราเริ่มจากโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ นำสมาร์ทต่างๆ เข้ามาพัฒนาทั้งในสวนสัตว์เชียงใหม่ รวมถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ที่สามารถสร้างคน สร้างงาน ให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น รวมถึงคนที่เข้าร่วมชมภายในงานได้เรียนรู้ด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นต้น” นายวฤต กล่าว 

นอกจากนี้ เพื่อสร้างสังคมให้น่าอยู่และมุ่งสู่เมืองเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ กฟผ. ได้เริ่มพัฒนาพื้นที่แม่เมาะ โดยร่วมมือกับทั้งภาครัฐและเอกชน นำเทคโนโลยีสร้างให้สังคมมีรายได้ ทำเกษตรแนวตั้ง พัฒนาให้เป็นเกษตรกรที่คุณภาพสูง พัฒนาอาหารเกษตรเพื่อใช้ในการแพทย์ ทำป่าชุมชน เศรษฐกิจหมุนเวียน พร้อมทำท่องเที่ยเชิงสร้างสรรค์ ส่งเสริมกิจกรรมที่มีโซลาร์เซลล์ มีการจัดเก็บข้อมูลด้าต้าแพลตฟอร์ม เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ยังช่วยในเรื่องของการบริหารจัดการอากาศ โดยการนำเอาเศษข้าวโพดเหลือทิ้งของชาวเกษตรกรมาบริหารจัดการในโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เพื่อลดการเผาและลดการเกิด PM2.5 อีกทั้งยังอยู่ระหว่างศึกษาการบริหารจัดการกากขยะเกษตรกรรมสู่เชื้อเพลิงชีวมวล เพื่อบริหารจัดการขยะให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้แบบยั่งยืน ซึ่งปัจจุบัน กฟผ. ได้นำร่องใช้รถบัสอีวีรับส่งพนักงานที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะแล้วเกือบ 30 คัน โดยเป็นรถบัสในรูปแบบของแบตเตอรี่ 100%

“วันนี้คุยกับรัฐบาลว่าจะพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมสีเขียว เมื่อไม่มีการขุดเหมือง หรือทำโรงไฟฟ้าแล้ว เพราะทุกบริษัทเอกชนต่างต้องการผลผลิตที่ไม่ใช่เฉพาะการใช้ไฟสีเขียวอย่างเดียวแล้ว แต่ต่างก็ต้องการสาธารณูปโภคที่เป็นกรีนทั้งหมด” นายวฤต กล่าว 

นายวฤต กล่าวว่า อีกตัวอย่างที่ทำในแม่ฮ่องสอน เพื่อแก้ปัฯญหาไฟดับ เพราะต้องเดินสายไฟไกล ส่วนใหญ่เป็นลุ่มน้ำ โดย กฟผ.ได้ใส่แหล่งผลิตไฟแบบโซลาร์ให้มีระบบบริหารจัดการพลังงานที่ชาญฉลาด โดยนำเอาแบตเตอรี่เข้ามาบริหารจัดการเป็นระบบอัจฉริยะในอาคารราชการต่างๆ รวมถึงสถานีชาร์จรถอีวี ให้เป็นซูเปอร์ชาร์จเจอร์ เพื่อให้คนได้เข้าถึงผ่านแพลตฟอร์ม EleXA ถือเป็นสิ่งที่ กฟผ.พยายามสร้างให้เกิด Smart City