posttoday

TDRI ชี้เศรษฐกิจไทยต้องการเม็ดเงินกระตุ้นเพียง 8.5 หมื่นล้าน

19 พฤศจิกายน 2566

ทีดีอาร์ไอ ประเมินเศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าศักยภาพจริง แต่รัฐไม่จำเป็นต้องออกพ.ร.บ.กู้เงินมากถึง 5 แสนล้านบาท ชี้เศรษฐกิจต้องการแรงกระตุ้น 1% ของจีดีพี คิดเป็นเม็ดเงินเพียง 85,000 ล้านบาท โดยอาศัยการหมุนเวียนในระบบ 2 รอบ

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโว สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงกรณีที่มีประเมินว่า เงินเฟ้อของไทยในเดือนตุลาคม 2566 ติดลบอยู่ที่ -0.31% ซึ่งเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 25 เดือน และยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องนั้น อาจเป็นสัญญาณอันตรายว่าคนไทยกำลังซื้อ เศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ภาวะเงินฝืด และอาจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย(Recession) และควรได้รับแรงกระตุ้นโดยเร็วนั้น  มองว่า สถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจไทยขณะนี้ ดูอ่อนแอลงเหมือนกัน เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวมาน้อยกว่าที่คาด ขณะที่ภาคส่งออกที่เติบโตติดลบ แต่ในภาพรวมเศรษฐกิจถือว่า โตชะลอตัวลงเล็กน้อยกว่าปกติ 

 

โดยสภาวะปกติควรจะโตที่ 3.6% แต่โตจริงปีนี้น่าจะที่ประมาณ 2.5-2.6% เพราะฉะนั้น จึงเห็นด้วยว่าเศรษฐกิจปีนี้โตชะลอตัวกว่าที่คาด ซึ่งการกระตุ้น ที่ต้องการจะต้องกระตุ้นให้มีการหมุนเวียนขนาดประมาณ 1% ของ GDP เป็นอย่างมาก คือ ส่วนต่างของ 2.6% ที่เกิดขึ้นจริง กับที่ควรจะเป็นคือ 3.6% นั่นคือ ถ้ารัฐบาลเชื่อว่านโยบายกระตุ้นทำให้เกิดเงินหมุนเวียนได้ 2 เท่า ก็จะต้องการเม็ดเงินกระตุ้นประมาณ 0.5% ของ GDP เพื่อให้เกิดผลหมุนเวียน 1%  ซึ่ง 0.5% ของ GDP ก็เทียบเท่ากับประมาณ 85,000 ล้านบาท
 

“เศรษฐกิจชะลอกว่าศักยภาพจริง จึงควรจะกระตุ้น แต่คำถามต่อไปคือ กระตุ้นเท่าไหร่ ซึ่งผลการคำนวณออกมาอยู่ที่ประมาณ 85,000 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าโครงการเติมเงิน 10,000 ผ่าน ดิจิทัลวอลเล็ต ค่อนข้างเยอะทีเดียว” ดร.นณริฏ กล่าว

ส่วน เรื่องของเงินเฟ้อติดลบ มันมีผลของมาตรการภาครัฐเข้ามาแทรกแซงด้วย เพื่อลดค่าครองชีพ อาจจะไม่ได้สะท้อนว่ากำลังซื้อจะลดลง หรือ เศรษฐกิจจะถดถอย แต่สัญญาณตัวอื่น บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจน่าจะโตต่ำกว่าศักยภาพจริง แนวโน้มเงินเฟ้อคงต้องตามดูมาตรการของรัฐว่าเข้ามาแทรกแซงขนาดไหนด้วยครับ แต่ส่วนตัว แม้แต่ ธปท. ก็ยังคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะอยู่ราวๆ 1% ในปีนี้ ซึ่งก็ถือว่าโตระดับใกล้ๆ ศูนย์ หรือติดลบก็ไม่ได้ผิดแผกอะไรมากไปนัก