posttoday

รออะไรอยู่? คลังเผย ยังไม่ได้เริ่มร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน

16 พฤศจิกายน 2566

จุลพันธ์ เผยคลังยังอยู่ระหว่างการจัดทำร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนบาท เพื่อเดินหน้าโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท พร้อมยกเหตุผลกู้เงินผ่าน พ.ร.บ. เพราะมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ คาดส่งครม.เคาะได้ทันภายในปีนี้

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน Digital Wallet กล่าวว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) เงินกู้ 500,000 ล้านบาท สำหรับใช้ในดำเนินนโยบายขับเคลื่อนนโยบายเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน Digital Wallet เพื่อส่งให้สำนักงานกฤษฎีกาตีความตามขั้นตอน ทั้งนี้คาดว่าจะส่งให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาและเห็นชอบได้ภายในปี 2566


“ตอนนี้คลังยังไม่ได้เริ่มร่างพ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทเลย ซึ่งตามกระบวนการนั้นเมื่อร่างกฎหมายแล้วเสร็จ คลังก็ต้องรอความคิดเห็นของกฤษฎีกาให้จบก่อน จากนั้นจะนำร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของครม. และส่งเข้าสภาฯพิจารณา 3 วาระ และเข้าวุฒิสภา และเชื่อว่า ครม.จะเห็นชอบได้ทันภายในปีนี้ ” นายจุลพันธ์ กล่าว 


ทั้งนี้เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากพ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 บาทไม่ผ่านความเห็นสภาฯ รัฐบาลมีแผนสำรองหรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ส่วนตัวไม่มีแผนสำรองใดๆเตรียมไว้ เพราะมั่นใจว่า พ.ร.บ.กู้เงิน จะผ่านการพิจรณาของสภาฯแน่นอน

 

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า เรื่องของกฎหมายเป็นอุปสรรคดำเนินโครงการบ้าง ไม่ว่าจะออกพ.ร.ก. หรือ พ.ร.บ.หรือใช้งบประมาณปกติ ก็ล้วนแต่เจอปัญหา เพราะยังมีคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่สุดท้ายจากความเห็นหลายฝ่ายก็มองว่า พ.ร.บ.เป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ จากเดิมที่ก่อนหน้ามีแนวคิดที่จะใช้งบประมาณพูกพัน 4 ปี แต่ไม่สุดท้ายก็ไม่สามารถนำเงิน 5 แสนล้านบาทลงในงบประมาณแผ่นดินได้ เพราะจะมีภาระสูงตามมาในอนาคต 

“การออกพ.ร.ก. หรือ พ.ร.บ. สุดท้ายเรื่องก็ต้องไปกฏษีกาอยู่แล้ว เดินทางไหนก็เจออุปสรรค แต่รัฐบาลมองว่าพ.ร.บ.เป็นทางที่ดีที่สุด เป็นพ.ร.ก.มันคือการฝ่ายบริหารใช้อำนาจออกกฎหมายมาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ แล้วจึงไปขออนุมัติ จะโดนกล่าวหาวิธีการนี้มีความไม่โปร่งใส จึงออกเป็นพ.ร.บ.ซึ่งก็ต้องผ่านการกลั่นกรองของหลายฝ่าย ถ้ามีคนยื่นตีความ ปปช.ศาลรัฐนูญ เราก็จะไปชี้แจ้งตามขึ้นตอน ซึ่งไม่มีความกังวล”นายจุลพันธ์ กล่าว

ขณะที่มีคนบอกว่า รัฐบาลเลือกเดินโดยการออกพ.ร.บ.กู้เงิน เพื่อให้รัฐบาลไปต่อไม่ได้ บอกเลยว่า ไม่มีใครคิดแบบนั้น เพราะเมื่อรับนโยบายมาแล้ว เราก็มีหน้าที่หน้าเดินหน้าโครงการให้สำเร็จ เพื่อให้เป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด และมีความเชื่อว่า ขณะนี้สถานการณ์เศรษฐกิจประเทศไม่ดี หากไม่กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ ก็จะโตไม่ทันศักยภาพที่ควรเป็น และในอนาคต 4-5 ปีข้างหน้า จะเกิดปัญหาสวัสดิการในการดูแลประชาชน 


ส่วนเรื่องที่หลายฝ่ายมองว่า เรื่องเศรษฐกิจไม่ได้วิกฤต หรือไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน พ.ร.บ.กู้เงินดังกล่าวไม่น่าจะผ่านสภาฯนั้น ส่วนตัวก็เข้าใจว่า เป็นการมองคนละมุมได้ ซึ่งรัฐบาลมีหน้าที่ตอบในประเด็นข้อสงสัยทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ปปช. หรือกฤษฎีกา ส่วนผลออกมาเป็นอย่างไรก็ต้องรอดู แต่เราก็เชื่อมั่นว่าจะเดินหน้าได้

 

“การตีความเรื่องเร่งด่วนหรือไม่ มันก็มีความเร่งด่วนในหลายหลายระดับ มองตรงนี้เราก็อ่านคนละมุม แต่ถามว่าสภานการณ์ประเทศ วินัยการเงินคลังในปัจจุบันในการบริหารประเทศ เราจะมองแค่วันนี้ไม่ได้ เราต้องมองกันยาวๆ” นายจุลพันธ์ กล่าว

 

นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า หาก พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 บาท ผ่านความเห็นชอบแล้ว รัฐบาลจะระดมทุนด้วยการออกเป็นพันธบัตร(บอนด์) ซึ่งปัจจุบันประเมินว่ามีสภาคล่องเพียงพอ โดยวงกู้เงิน 5 แสนล้านบาท เมื่อเริ่มโครงการและภายใน 6 เดือนมีการใช้จ่ายครั้งแรก รัฐบาลจะไม่ได้กู้เงินมากองทิ้งไว้ทั้งก้อน ค่อยๆ ทยอยกู้ตามความต้องการขึ้นเงินของร้านค้าที่ต้องการมาแลกเงินสด แผนการกู้จะเกิดขึ้นตามจริงเมื่อมีการรับรู้หนี้เกิดขึ้น โดยรัฐบาลจะมีวิธีการจูงใจให้เงินหมุนเวียนอยู่ในระบบนานขึ้น หรือ 2-3 ปี ตามเป้าหมาย ผ่านกลไกลเอกชน หรือร้านค้า เช่น การทำโครงการลดแลกแจกแถม ซื้อสินค้า 10,000  บาท ได้ของแถมมูลค่ารวม 10,200 บาท หรือจูงใจผ่านกลไกลทางภาษี  

 

ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในระยะยาว อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นก่อน ทำให้ระดับหนี้สาธารณะลดลงทันที จึงไม่ก่อนภาระหนี้สินให้กับภาครัฐตามมาภายหลัง 

 

นอกจากนี้ นายจุลพันธ์ ยังกล่าวเพิ่มเติม ถึงเงื่อนไขผู้ที่ได้รับเงินดิจิทัลวอลเล็ต ที่จะให้สิทธิคนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไปมีรายได้รวมไม่เกิน 70,000 บาทต่อเดือน หรือมีเงินฝากในบัญชีไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งจะไม่นับรวมเงินฝากที่อยู่ในสลากออมทรัพย์ เงินลงทุนในหุ้น การลงทุนในกองทุนในตลาดหลักทรัพย์ และเงินฝากในสหกรณ์ต่างๆ