posttoday

คลังเตรียมเปิดยืนยันตัวตน รับเงินดิจิทัลวอลเล็ต บนแอปเป๋าตัง ไตรมาส1/67

13 พฤศจิกายน 2566

จุลพันธ์ เผย คลังเตรียมเปิดระบบให้ยืนยันตัวตนเพื่อรับสิทธิ์ตามมาตรการเติมเงิน 1 หมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต บนแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง ภายในไตรมาส 1/67 โดยกลุ่มผู้มีสิทธิ์อายุตั้งแต่ 16-18 ปี ต้องมีการพิสูจน์ตัวตนลูกค้า (KYC) ตามกฏหมายธปท.

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง เปิดเผยว่า ภายในไตรมาส 1/2567 กระทรวงการคลังจะเปิดให้มีการยืนยันตัวตนรับสิทธิ์มาตรการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต สำหรับผู้ที่มีสิทธิ์ 50 ล้านคน โดยในจำนวนนี้ เป็นผู้ที่มีฐานข้อมูลเดิมอยู่แล้ว 40 ล้านคน ก็จะต้องมีการกดปุ่มในแอปพลิเคชันเพื่อยืนยันรับสิทธิ์ และอีก 10 ล้านคน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีสิทธิ์อายุตั้งแต่ 16-18 ปี ต้องมีการพิสูจน์ตัวตนลูกค้า (KYC) เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดไว้

 

ทั้งนี้ ดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาทจะใช้ได้ภายใน 6 เดือนนับตั้งแต่เริ่มมาตรการ และคาดว่าจะหมุนเวียนอยู่ในระบบอีก 3 ปี มีการใช้จ่ายทวีคูณ กระตุ้นกลไกทางเศรษฐกิจ ซึ่งคลังมั่นใจว่า เมื่อมีการใช้จ่ายเงินดิจิทัล เปลี่ยนจากคนแรก ไปยังร้านค้า จะยังไม่มีการมาขอขึ้นเงินสดทันที เพราะหลังจากมาตรการมีผล จะมีมาตรการจูงใจอื่น ๆ ให้สิทธิประโยชน์จากการใช้เงินดิจิทัลด้วย ในช่วงระยะเวลา 2 ปีแรกที่มีการใช้จ่าย ซึ่งจะทำให้เงินดิจิทัลยังคงหมุนอยู่ในระบบต่อไป

 

“ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทนั้น ขั้นตอนการใช้จ่ายต้องไม่ยุ่งยาก วิธีการใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง สแกนกับร้านค้าเหมือนเดิม แต่จะอยู่ในรูปแบบสิทธิ์การใช้จ่ายเงินดิจิทัล โดยมีเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้าไปกำกับดูแล เพื่อให้ระบบมีความมั่นคง ปลอดภัย ตรวจสอบได้ โดยเฉพาะกรณีที่มีผู้จงใจทุจริตรับเงินดิจิทัล แปลงเป็นเงินสด ก็จะสามารถตรวจสอบได้ กดปุ่มเดียวก็จะพบความผิดปกติเกิดขึ้นที่ไหน ต่างจากโครงการในอดีต ซึ่งครั้งนี้จะเข้มงวดกว่าเดิม” นายจุลพันธ์ กล่าว

 

ส่วนข้อกังวลเรื่องการกู้เงินเพื่อมาใช้ในโครงการว่าจะขัดต่อกฎหมายวินัยการเงินการคลัง ว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่ รมช.การคลัง ระบุว่า เรื่องนี้คลังไม่ใช่ผู้วินิจฉัย แต่ในฝั่งรัฐบาลคิดว่าเศรษฐกิจไทยขณะนี้มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องได้รับการกระตุ้นครั้งใหญ่ หลังจากหลายปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยเติบโตได้ในระดับต่ำกว่าศักยภาพ ที่ระดับ 1.9-2% ประชาชนขาดกำลังในการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งหากปล่อยไว้ ภายใน 4 ปีจากนี้ สัดส่วนหนี้สาธารณะก็จะทะลุกรอบเพดานที่ 70% ต่อจีดีพี และต้องมีการกู้ชดเชยขาดดุลเฉลี่ย 6-7 แสนล้านบาทเต็มเพดานที่กฎหมายกำหนดไว้ไปอีกหลายปี 

 

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า มาตรการดิจิทัล วอลเล็ต จะเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานการเงินดิจิทัลให้กับประเทศ กระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย และเศรษฐกิจในระยะ 4 ปี จะเติบโตได้เฉลี่ย 5% ต่อปี โดยมูลค่าจีดีพีเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านล้านบาท จากปัจจุบันประมาณ 17 ล้านล้านบาท และหนี้สาธารณะมีแนวโน้มลดต่ำกว่าปัจจุบันที่ 62% ต่อจีดีพี เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วม ให้ประเทศไทยเดินหน้า พ้นจากกับดักเศรษฐกิจไปได้