ส่องผลงาน60วันของรัฐบาลเศรษฐา 1 ดูแลปากท้องประชาชนได้ดังหวังหรือไม่?
เทียบผลงาน 60 วันของรัฐบาลเศรษฐา 1 ในการดูแลปากท้องประชาชนกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและประโยชน์ที่ได้รับ สรุปแล้วปังหรือพังกันแน่?
จากการแถลงผลงานรัฐบาลทำงานครบ 60 วันแรกในคืนวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา พบว่าบรรดานโยบายด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลปากท้องของประชาชน ซึ่งคณะรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสินเป็นผู้นำหรือรัฐบาลเศรษฐา 1 นั้น พบว่าในหลายนโยบายที่ได้ Kick-off ไปแล้ว พอเอาเข้าจริงก็ดูจะไม่เกิดประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่าที่คาดหวัง ดังนั้นจึงทำให้เกิดทั้งกระแสวิจารณ์และข้อเท็จจริงที่ว่าเหล่านโยบายที่ปล่อยออกมา ผลตอบรับดูจะแผ่วหรือสร้างผลกระทบเชิงลบด้วยในบางเรื่อง
โดยเฉพาะนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย สำหรับรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วง ซึ่งอาจถูกใจคนบางส่วนที่อยู่อาศัยหรือทำงานในพื้นที่เส้นทางเดินรถ แต่ก็มีหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญอย่าง ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ออกมากระทุ้งและตั้งข้อสังเกตมากมายในทำนองไม่เห็นด้วยตั้งแต่ยังไม่เริ่มจนเกิดขึ้นจริง เพราะเหตุที่รถไฟฟ้าทั้งสายสีม่วงและสายสีแดงเองก็มีผลขาดทุนสะสมไว้มากมายอยู่แล้ว ยิ่งไปลดราคาค่าโดยสารก็ยิ่งกดให้รายได้หดหายไปและตัวเลขขาดทุนเพิ่มขึ้นอีก แม้ต่อมาทางกรมการขนส่งทางรางจะมาเปิดตัวเลขว่าสายสีแดงมียอดผู้โดยสารทุบสถิติใหม่ก็ตาม
สำหรับผลงานที่เข็นโดยรัฐบาลเศรษฐา 1 ซึ่งมีแรงบันดาลใจจากเสียงบ่นของข้าราชการว่าขาดสภาพคล่องหรือมีรายได้ชักหน้าไม่ถึงหลัง จนนำไปสู่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 ให้ปรับเงื่อนไขการจ่ายเงินเดือนของข้าราชการ โดยสามารถแบ่งจ่ายเป็น 2 รอบ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป ตามความสมัครใจของขรก.แต่ละคน ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นข้าราชการและลูกจ้างประจำที่อยู่ในระบบจ่ายตรงเงินเดือนและค่าจ้างประจำของกรมบัญชีกลาง (e-Payroll) จำนวน 230 หน่วยงาน
ทั้งนี้นโยบายดังกล่าวก็ร้อนแรงตั้งแต่เริ่มมีข่าว จนจุดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง ดันขึ้นเทรนด์ของเอ็กซ์ (Twitter) ในชั่วข้ามคืนด้วยแฮชแท็ก #เงินเดือนข้าราชการ อย่างไรก็ตามในเรื่องนี้ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย สำหรับข้อดีก็คือแม้รายได้เท่าเดิมแต่การใช้จ่ายก็คล่องตัวขึ้นจากมีรายรับบ่อยครั้งขึ้น อาจทำให้ต้องไปหยิบยืมน้อยลง ส่วนข้อเสีย ก็คือเรื่องข้อจำกัดในเรื่องของการชำระหนี้ การคิดอัตราดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ ซึ่งหากใครแบกหนี้ก้อนโตพอตัดเงินเดือน (ที่ออกมาครึ่งเดียว) ชำระหนี้ก็คงแทบจะไม่เหลือไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแล้ว เปรียบเหมือนการแก้ปัญหาแบบเกาไม่ถูกที่คันเท่าใดนัก
อีกผลงานที่ถูกสกัดดาวรุ่งแบบไม่คาดคิด คือนโยบายฟรีวีซ่าให้แก่หลายประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งจีน คาซัคสถาน อินเดีย และไต้หวัน ด้วยหวังจุดพลังกระตุ้นการท่องเที่ยว ที่ตอนนี้แทบจะเป็นเครื่องยนต์ดันเศรษฐกิจตัวเดียวที่ยังพอมีแรงอยู่ ก็ถูกเหตุการณ์เยาวชนอายุ 14 ปี ที่กราดยิงในห้างพารากอนจนมีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 5 คนและมีผู้เสียชีวิต 3 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือนักท่องเที่ยวหญิงชาวจีน แต่อีกไม่นานก็ตามมาด้วยศึกฉนวนกาซาระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสที่ส่งแรงเหวี่ยงไปทั้งตลาดเงินและตลาดทุน จนลามไปถึงตลาดท่องเที่ยวด้วย
ทำให้ล่าสุดตัวเลขยอดนักท่องเที่ยวจีนในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้มีไม่ถึง 2.5 ล้านคน รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังปรับลดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติว่าฟื้นตัวต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้เล็กน้อย จากกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนชะลอลง เพราะระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายจากตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศจีน เช่นเดียวกับที่มีสื่อต่างชาติรายงานว่าตัวดึงยอดนักเที่ยวจีนมาจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว กระแสข่าวลือที่ทำลายภาพลักษณ์เมืองไทยบนโซเชียลมีเดีย ภาพยนตร์สร้างความหวาดกลัว และเหตุกราดยิงในห้างสรรพสินค้าใจกลางกรุงเทพมหานคร
สำหรับนโยบายสุดฮ็อตที่หวังกระตุ้นการใช้จ่ายจากทั้งนักท่องราตรีและนักเที่ยวสายดื่ม โดยให้ขยายเวลาเปิดสถานบริการหรือสถานบันเทิง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกระทรวงมหาดไทยและสถานบริการที่อยู่ในโรงแรม ภายในพื้นที่โซนนิ่ง 4 จังหวัดนำร่อง คือ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ภูเก็ต และชลบุรี ให้สามารถเปิดถึง 04.00 น. และสามารถขายสุราได้ตามใบอนุญาตที่มีอยู่ ซึ่งจะเริ่มจริงในวันที่ 15 ธันวาคม 2566
ก็มีอดีตนักเที่ยวกลางคืนอย่าง นายวัน อยู่บำรุง อดีต สส.กทม. พรรคเพื่อไทย ออกมาให้ความเห็นและเตือนรัฐบาลว่าให้คิดให้ดีก่อน เพราะอาจได้ไม่คุ้มเสีย ยิ่งตอนนี้รสนิยมของกลุ่มนักเที่ยวสายดื่มเปลี่ยนไปแล้ว คือจะเริ่มประมาณ 2 ทุ่มแล้วเลิกที่ไม่เกินตี 2 เพราะจะไม่เริ่มดึกเหมือนก่อนนี้แล้วลากยาวถึงเช้า ดังนั้นจึงมองว่าปิดสถานบริการตอนตี 2 น่าจะเหมาะสมกับคนส่วนใหญ่อยู่แล้ว เพราะหากให้กินเวลาไปถึงตี 4 ก็มีโอกาสให้เกิดอุบัติเหตุตามท้องถนนเพิ่มได้
อีกกระแสที่มีคนตั้งคำถามคือ แนวทางปฏิบัติไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ซึ่งจะทำให้นโยบายนี้ไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจจริงและอาจกลายเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ทุจริตคอร์รัปชั่น นั่นคือแม้ให้เปิดสถานบริการหรือสถานบันเทิงถึงตี 4 แต่ให้จำหน่ายแอลกอฮอล์หรือนั่งดื่มได้แค่ตี 2 เท่านั้น จึงดูเหมือนผู้กำหนดนโยบายสับสนหรือไม่เข้าในพฤติกรรมนักเที่ยวกลางคืน ที่ส่วนใหญ่จะใช้เงินหรือสั่งมากขึ้นในช่วงใกล้ร้านปิด จึงทำให้เกิดเสียงค้านหรือมองว่าไม่ปรับเวลาปิดผับหรือร้านเหล้าก็ได้
เช่นเดียวกับมาตรการลดราคาน้ำมันที่กำหนดราคาขายปลีกน้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ จะปรับลดลง 1 บาทต่อลิตร ยกเว้นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 จะปรับลง 2.50 บาทต่อลิตร ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 ที่ใช้แนวทางปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันกลุ่มเบนซินทุกชนิดลง 1 บาทต่อลิตร จากปัจจุบันเก็บอยู่ 6.50 บาทต่อลิตร ล่าสุดเริ่มมีประชาชนออกมาร้องเรียนว่าไม่สามารถเติมน้ำมันได้เพราะมีสถานีบริการน้ำมันแปะป้าย "น้ำมันหมด"
จนนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานต้องออกมากำราบสั่งการให้กรมธุรกิจพลังงานเร่งประสานผู้ค้าน้ำมันทุกราย เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบการใช้น้ำมัน โดยล่าสุดได้ลงนามคำสั่งกระทรวงพลังงานที่ 47/2565 แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน ติดตามและ ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการไม่จำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงของสถานีน้ำมันเชื้อเพลิงทั่วประเทศขึ้นทันที
ส่วนนโยบายปรับลดราคาค่าไฟฟ้างวดเดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม 2566 จาก 4.45 บาทต่อหน่วยให้เหลือ 3.99 บาทต่อหน่วยตามมติครม.เมื่อ เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 ก็ต้องเข็นกันหลายจังหวะและมีความล่าช้าในการปฎิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม กระทั่งได้ข้อสรุปว่า บมจ. ปตท. จะปรับลดค่าก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บจากกิจการผลิตไฟฟ้าซึ่งแต่เดิมกำหนดไว้ 323.37 บาทต่อล้านบีทียู เป็น ไม่เกิน 304.79 บาทต่อล้านบีทียู
ด้านการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ซึ่งแบกภาระค่าไฟฟ้าคงค้าง (Accumulated Factor: AF) ก่อนหน้านี้รวมประมาณ 1.35 แสนล้านบาทและอยู่ระหว่างการเรียกเก็บคืนเงินคงค้างซึ่งอยู่ในค่าไฟฟ้างวดเดือน กันยายน – ธันวาคม 2566 หน่วยละ 38.31 สตางค์ หรือคิดเป็นวงเงินประมาณ 23,428 ล้านบาท ดังนั้นการดำเนินการตามมติ ครม. จึงต้องยกเว้นการเรียกเก็บคืนเงินคงค้างดังกล่าวไว้ก่อน
ขณะที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ต้องนำมาตรา 64 ประกอบกับมาตรา 69 แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 และข้อ 11 ตามประกาศ กกพ. มาใช้เป็นครั้งแรก ซึ่งสาระสำคัญของมาตราดังกล่าว คือเป็นการกำหนดค่าไฟฟ้าตามมติ ครม. แม้ว่าจะเป็นอัตราที่ไม่สะท้อนต้นทุนที่เป็นจริงก็ตาม โดยต้นทุนส่วนต่างที่ปรับลดจำนวน 46 สตางค์ต่อหน่วยนั้น กกพ.ให้ กฟผ.และปตท.ช่วยแบกรับไปก่อน
แต่สิ่งที่ต้องยอมรับคือ ต้นทุนส่วนต่างที่เกิดขึ้นจริงที่กฟผ.รับภาระเอาไว้ให้ก่อนนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งสะสมอยู่ 1.38 แสนล้านบาทนั้น เป็นภาระที่ผู้ใช้ไฟฟ้าจะต้องทยอยจ่ายคืนบวกด้วยดอกเบี้ยเงินกู้จนครบตามจำนวน และยิ่งปล่อยให้ กฟผ.แบกรับภาระมากเกินไปจนมีปัญหาการขาดสภาพคล่อง หรือถูกปรับลดเครดิตเรตติ้งจะทำให้มีต้นทุนการเงินที่สูงขึ้น และภาระต่อผู้ใช้ไฟฟ้าก็ยิ่งหนักขึ้น
จากนี้หลังรัฐบาลเศรษฐา 1 เปิดผลงานในรอบ 60 วันไปแล้ว ประชาชนตาดำ ๆ อาจต้องชั่งใจด้วยว่า นโยบายต่าง ๆ ที่หนักไปทางเพื่อประชานิยมเหล่านี้ คุ้มกับผลที่ตามมาจริงหรือไม่