posttoday

ทายาทรุ่น2พาธุรกิจแปรรูปอาหารทะเลรุกโมเดิร์นเทรดปักหมุดตลาดต่างแดน

05 พฤศจิกายน 2566

นฤพนธ์ ธนารักษ์สิริถาวร ทายาทรุ่น 2ของบริษัท ส.ร่วมไทย จำกัด กอบกู้กิจการแปรรูปอาหารทะเลหลังวิกฤติต้มยำกุ้ง ต่อยอดสู่ช่องทางโมเดิร์นเทรดผ่าน 4 แบรนด์หลัก เร่งปักหมุดโรงงานใหม่ที่เวียดนามเปิดเกมรุกตลาดต่างแดน

วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งสร้างแรงสะเทือนให้กับหลายกิจการไม่เว้นแม้แต่บริษัท ส.ร่วมไทย จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจแปรรูปอาหารทะเลก่อตั้งเมื่อปี 2539   หลังเติบโตมาจากร้านส.ร่วมเจริญที่ตลาดเก่าเยาวราชเมื่อปี 2515 โดยเป็นซัพพลายเออร์ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแห้งที่ให้บริการแก่ผู้ผลิตอาหารในกรุงเทพฯ ที่สร้างจากความร่วมมือระหว่างพรศักดิ์  ธนารักษ์สิริถาวร และกลุ่มเพื่อน

"ตอนนั้นคุณพ่อถามว่าจะมาทำกิจการของครอบครัวต่อหรือไม่ ระหว่างที่ผมยังเรียนปริญญาตรีที่คณะพาณิชศาสตร์และการบัญชี ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อตอบตกลงจึงเริ่มก่อสร้างโรงงานที่สมุทรสาครเมื่อต้นปี 2540 พอกลางปีก็เจอวิกฤติต้มยำกุ้ง แต่ก็ตัดสินใจเดินหน้าต่อเพราะทำมา 50% แล้ว ต้องเอาเงินเก็บของครอบครัวและเงินที่ยืมจากญาติอีกมาลงทุนต่อ" จากคำบอกเล่าของ นฤพนธ์ ธนารักษ์สิริถาวร ทายาทรุ่น 2 และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ส.ร่วมไทย จำกัด

ด้วยความไม่ยอมแพ้ในครั้งนั้นตั้งแต่สมัยผู้ก่อตั้งกิจการรุ่นหนึ่ง ได้ส่งผลให้กิจการเติบโตอย่างมั่นคงมาเรื่อย ๆ  กระทั่งสามารถชำระหนี้เงินกู้นอกระบบที่หยิบยืมมาราว 50 ล้านบาทได้สำเร็จในปี 2546  รวมถึงขยายธุรกิจเพิ่มเติมต่อเนื่องและเริ่มส่งออกไปยังต่างประเทศ จนขณะนี้มีทั้งสหรัฐอเมริกา แคนาดา เกาหลีจีน สิงคโปร์ และประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน ไปจนถึงตะวันออกกลาง ในยุคของทายาทรุ่น 2 ที่เข้ามาสืบต่อธุรกิจ จนแตกยอดเพิ่มอีก 3 บริษัทในเครือ ได้แก่บริษัท เอ็ม.อาร์.เจ.ฟู้ดส์ จำกัด และ บริษัท ธนารักษ์ อินเตอร์ฟู้ดส์ จำกัด และอีก 1 บริษัทที่เวียดนาม

ทายาทรุ่น2พาธุรกิจแปรรูปอาหารทะเลรุกโมเดิร์นเทรดปักหมุดตลาดต่างแดน

เผชิญจุดเปลี่ยนหันสู่ตลาดโมเดิร์นเทรด

แต่กว่าจะเดินหน้าถึงวันนี้ นฤพนธ์ได้เล่าถึงเส้นทางเติบโตที่ผ่านมาหลังเริ่มมาช่วยกิจการครอบครัวเมื่อปี 2541 และรับภารกิจเป็นกรรมการผู้จัดการของกลุ่ม ส.ร่วม ในปี 2557 ว่า เมื่อโรงงานใหม่นับหนึ่งอย่างเป็นทางการและมีห้องเย็นขนาดใหญ่เป็นของบริษัทเอง จึงทำให้สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ดีขึ้น และกระจายสินค้าไปยังต่างจังหวัดได้รวดเร็ว จนนำไปสู่การเพิ่มปริมาณลูกค้า และขยายธุรกิจได้ดีขึ้นจากที่สามารถนำสินค้ามาขายได้หลากหลายกว่าเดิม กระทั่งเริ่มส่งออกสินค้าไปขายต่างประเทศโดยไม่ต้องผ่านนายหน้าในปี 2548  

กระทั่งประมาณปี 2554 ที่บริษัทเผชิญกับปัญหาที่ลูกค้าธุรกิจรายใหญ่สะดุดแล้วติดค้างหนี้สินค่าสินค้า จนส่งผลให้การดำเนินธุรกิจต้องชะงักไปด้วย  นฤพนธ์จึงต้องมองหาทางออกใหม่ เพื่ออุดช่องโหว่ของปัญหาดังกล่าวด้วยการต่อยอดธุรกิจใหม่ที่น่าจะมีรายได้ที่สม่ำเสมอและยั่งยืนในระยะยาวจากการค้าปลีก ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าที่เดิมได้จำหน่ายให้แก่โรงงานต่าง ๆ ไปขายปลีกในห้างโมเดิร์นเทรดอยู่แล้ว

เมื่อเรากลับมาเช็คสุขภาพตัวเอง ก็พบว่าสินค้าของเราหลาย ๆ ตัว ก็มีศักยภาพเพียงพอที่จะนำไปสร้างแบรนด์ของตัวเอง แล้วไปวางขายในโมเดิร์นเทรดได้ เพราะก่อนหน้านี้เราก็ป้อนวัตถุดิบให้กับผู้จัดจำหน่ายหลายรายในประเทศอยู่แล้ว จึงน่าจะเป็นทางออกที่ช่วยให้บริษัทเติบโตอย่างยั่งยืนได้

อย่างไรก็ตาม หากจะพลิกตัวจากผู้จำหน่ายสินค้าแปรรูปไปเป็นผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ของบริษัทเองก็ไม่ใช่เรื่องง่าย จึงต้องใช้เวลาในการปรับโครงสร้างองค์กรและพัฒนาบุคลากร เพื่อเพิ่มทักษะใหม่ ๆ ทางด้านการตลาดมากขึ้น ทางบริษัทจึงค่อย ๆ ปรับตัว จนสามารถแจ้งเกิดผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ฟรุ๊ตมาเนีย (Fruitmania) ขึ้นเมื่อปี 2555 

กระทั่งปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ของบริษัท ประกอบด้วย 4 แบรนด์หลัก คือ ฟรุ๊ตมาเนีย (Fruitmania) เป็นผลไม้เพื่อสุขภาพ ส่วน โกหมึก (GOMUC) จะเป็นอาหารว่างรับประทานเล่น ขณะที่ ธนา (TANA) จะเน้นเรื่องอาหารทะเลแปรรูป และ สามบัว (SAMBUA) จะเป็นกลุ่มอาหารธัญพืชและสินค้าเกษตรแปรรูป 

อย่างไรก็ตามสัดส่วนรายได้ของบริษัท ส.ร่วมไทย ยังมีมาจากช่องทางการขายในประเทศแบบดั้งเดิมอยู่ที่ราว 70% ช่องทางโมเดิร์นเทรดประมาณ 10% และส่งออกอีกราว 20%  ขณะที่ช่องทางออนไลน์ก็เริ่มเติบโตดีขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

แม้สินค้าหลักของเราจะเป็นอาหารทะเลแปรรูป แต่ตอนนั้นมองว่าผลไม้อบแห้งเป็นช่องทางที่น่าจะเปิดตลาดได้ดีกว่า เพราะขณะนั้นยังมีกลุ่มผู้เล่นน้อยราย แล้วตามมาด้วยธนา โกหมึก และสามบัว

ทายาทรุ่น2พาธุรกิจแปรรูปอาหารทะเลรุกโมเดิร์นเทรดปักหมุดตลาดต่างแดน

ดันยอดขายโต 15% ภายใน 3 ปี 

สำหรับเป้าหมายธุรกิจในภาพรวมนั้น นฤพนธ์คาดหวังที่จะเพิ่มการเติบโตของยอดขายให้เพิ่มขึ้นอีก 15% ภายในระยะ 3 ปีข้างหน้าเป็นราว 3 พันล้านบาท ส่วนแผนธุรกิจต่อจากนี้ แม้จะยังไม่สร้างแบรนด์ใหม่ แต่ตั้งเป้าหมายให้ธุรกิจโมเดิร์นเทรดเติบโตขึ้นอีก 150% จากปัจจุบันภายใน 3 ปีข้างหน้า โดยเน้นเพิ่มผลิตภัณฑ์สำหรับกลุ่มคนที่ห่วงใยสุขภาพในส่วนของแบรนด์ฟรุ๊ตมาเนียมากขึ้น เช่นเดียวกับเพิ่มผลิตภัณฑ์อาหารและขนมทานเล่นสำหรับแบรนด์โกหมึกเพิ่มขึ้นด้วย 

สำหรับอีกหนึ่งภารกิจหลักในปีนี้ คือการเตรียมเปิดโรงงานแปรรูปอาหารทะเลแห่งใหม่ที่เวียดนาม แม้ว่าได้มีการเปิดบริษัทที่เวียดนามมาราว 5 ปีแล้ว แต่แผนการเปิดโรงงานต้องชะงักไปในช่วงที่โควิด19 แพร่ระบาด โดยขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงอาคาร เพื่อให้สามารถรองรับกับระบบการผลิต food safety ได้ จึงคาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการได้ประมาณต้นปีหน้าหรือภายในไตรมาสแรก โดยมองว่าการเปิดโรงงานที่เวียดนามจะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้จากที่มีแรงงานจำนวนมากและเป็นการใช้วัตถุดิบท้องถิ่น

"นอกจากที่เวียดนามเป็นแหล่งผลิตสินค้าแล้ว ยังต้องการให้เป็น hub ในการส่งออกด้วย จากข้อได้เปรียบที่เวียดนามเป็นประเทศที่ยังได้รับสิทธิ์ GSP และยังมีข้อตกลง FTA กับหลายประเทศด้วย จึงถือเป็นแต้มต่อที่สำคัญ โดยเฉพาะสามารถส่งออกสินค้าในกลุ่มอาหารทะเล เข้ายุโรปโดยภาษีอยู่ในระดับแค่ 0-5% เท่านั้น ในขณะที่สินค้าจากไทยเสียภาษีมากกว่าคือตั้งแต่ 7-15%" 

ทายาทรุ่น2พาธุรกิจแปรรูปอาหารทะเลรุกโมเดิร์นเทรดปักหมุดตลาดต่างแดน

ERP ยกระดับธุรกิจให้แกร่งกว่าเดิม 
แต่เพื่อให้บริษัทมีการเติบโตที่แข็งแกร่งขึ้น นฤพนธ์จึงเกิดแนวคิดที่จะนำเทคโนโลยีระบบ ERP มาใช้ตั้งแต่ปี 2560   เพื่อสนับสนุนระบบภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งในส่วนระบบบัญชี การเงิน คลังสินค้า จัดซื้อ และการบริหารองค์กรภาพรวม ที่สำคัญคือการที่เป็นกิจการที่ใช้ระบบบัญชีเดียว ก็ทำให้บริษัทได้รับความเชื่อถือจากธนาคารพาณิชย์ที่ให้สินเชื่อ

ทั้งนี้ประโยชน์ที่ชัดเจนหลังการนำระบบ ERP มาใช้ ในมุมมองของนฤพนธ์คือ บริษัทมีข้อมูลธุรกิจที่ช่วยให้วางแผนการขายได้แม่นยำขึ้น รวมถึงมีการพัฒนาองค์กรและระบบการดำเนินงานที่ดีเป็นมาตรฐาน ตลอดจนช่วยลดต้นทุนในแง่ที่ทำให้ต้นทุนแฝงที่เกิดขึ้นในวัสดุสิ้นเปลืองต่าง ๆ ลดน้อยลง อย่างไรก็ตามกว่าที่ระบบ ERP จะพร้อมใช้งานจริงได้ ก็ต้องติดตั้งระบบและฝึกอบรมการใช้งานอยู่ราว 6 เดือน และลองผิดลองถูกอยู่ราว 1 ปีจึงใช้งานได้อย่างสมบูรณ์

การนำระบบ ERP เข้ามาใช้ ช่วยให้บุคลากรของเรามีการพัฒนาตามไปด้วย รวมไปถึงระบบงานก็สามารถตรวจสอบได้ แล้วยังนำ data ที่เกิดขึ้น ไปประมวลผลและวิเคราะห์ เพื่อพยากรณ์กับการเก็บวัตถุดิบ การผลิตสินค้าต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น ทุกวันนี้เราสามารถเห็นจนถึงกำไรในแต่ละไอเทมแบบอัตโนมัติเลย

ถอดบทเรียน Smart SME
นฤพนธ์ถ่ายทอดบทเรียนของผู้ประกอบการ SME ว่าการได้เรียนรู้งานจากประสบการณ์ที่ได้ลงมือทำงานด้วยตัวเองหรือ learning by doing ตั้งแต่ระดับล่างก่อนจะมาเป็นรับหน้าที่ผู้บริหารนั้น เป็นวิชาธุรกิจที่สำคัญ เพราะทำให้ได้มีมุมมองในเชิงลึกและได้ลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง เช่นเดียวกับทำให้รู้ว่าควรหาเครื่องมือหรือระบบเทคโนโลยีมาช่วยให้การดำเนินธุรกิจมีประสิทธิภาพได้อย่างไร 

แต่จากประสบการณ์ที่ตัวเองต้องเดินทางและบุกไปทวงหนี้ลูกค้าในต่างประเทศทั้งที่สหรัฐและรัสเซียรวมแล้วกว่า 3 แสนเหรียญ ด้วยความยากลำบากและเสี่ยงภัย ก็ทำให้รู้ว่าก่อนจะค้าขายกับใครต้องตรวจสอบให้ดีก่อน จะได้ไม่ถูกโกงอีก